วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกHighlightเร่งทำตลาด“วัสดุก่อสร้าง-เฟอร์นิเจอร์” ขานรับนโยบายรีโนเวทบ้านร้างที่ญี่ปุ่น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เร่งทำตลาด“วัสดุก่อสร้าง-เฟอร์นิเจอร์” ขานรับนโยบายรีโนเวทบ้านร้างที่ญี่ปุ่น

“พาณิชย์” เผยรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมทุ่มงบรีโนเวทบ้านร้าง อาจเป็นโอกาสดีสินค้า “วัสดุก่อสร้าง-เฟอร์นิเจอร์-สินค้าไลฟ์สไตล์ไทย” ทำตลาด

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.66 นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดได้รับรายงานจากนายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งทูตพาณิชย์ รายงานว่า จากการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ของญี่ปุ่น พบว่า จำนวนบ้านร้างทั่วประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2561 มีจำนวนถึง 8.49 ล้านหลัง คิดเป็นร้อยละ 13.6 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส โดยมีบ้านร้างที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการอยู่อาศัยเป็นจำนวนถึง 3.49 ล้านหลัง หากไม่มีการดูแลที่ดี คาดการณ์ว่าบ้านร้างจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หรือ 4.70 ล้านหลัง ในปี พ.ศ.2573 จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่บ้านจะพังทลายและยังส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพ ความสะอาด และปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัยอีกด้วย  

บุณย์ธีร์ พานิชประไพ

โดยกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism) มีแผนที่จะเพิ่มการสนับสนุนการพัฒนาและปรับปรุงบ้านร้างในญี่ปุ่นแทนการทำลายบ้านทิ้ง เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยจะสนับสนุนบริษัทเอกชนหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NPO) ที่ดำเนินการรีโนเวทบ้านร้างจะให้เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่าย 1 ใน 3 และหากเป็นการทุบบ้านร้างทิ้งจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย 2 ใน 5 นอกจากนี้ หากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าของบ้านร้างต้องการสำรวจ เพื่อหาวิธีนำบ้านร้างกลับมาใช้ประโยชน์จะได้รับเงินช่วยเหลือจากในการสำรวจสูงสุดกึ่งหนึ่งอีกด้วย

“ปัญหาจำนวนบ้านร้างที่เพิ่มขึ้นเป็นผลกระทบที่เกิดจากสังคมญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดของเด็กที่ต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ แต่หากมองอีกด้านปัญหาบ้านร้างที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามแก้ปัญหาด้วยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรีโนเวทนั้น ก็อาจเป็นโอกาสทางการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย เช่น อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมตกแต่งภายในและภายนอก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์”นายบุณย์ธีร์กล่าว

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้นำผู้ประกอบการสินค้าไลฟ์สไตล์ไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Tokyo International Gift Show ทุกปี ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าประเภทสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังส่งเสริมและพัฒนาสินค้าไทย ซึ่งสามารถเจาะกลุ่มอุตสาหกรรมได้หลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมตกแต่งภายในและภายนอก อุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น จึงนับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเจาะตลาดอุตสาหกรรมออกแบบตกแต่งภายในของญี่ปุ่นซึ่งคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการรีโนเวทบ้านร้างครั้งใหญ่นี้ได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img