วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกNEWSแนะรัฐส่งเสริม''เอสเอ็มอี''เพิ่มรายได้ส่งออกแตะ 5.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แนะรัฐส่งเสริม”เอสเอ็มอี”เพิ่มรายได้ส่งออกแตะ 5.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

“พูนพงษ์” เผยเอสเอ็มอีไทยศักยภาพสูง แต่ส่งออกน้อยมีสัดส่วนเพียง 10% แนะรัฐหนุนเอสเอ็มอีลุยตลาดต่างประเทศ ด้วยการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต -สิทธิ์ประโยชน์บีโอไอ ดันรายได้ส่งออกแตะ 5.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันอยู่ที่ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลการส่งออกของรายการสินค้า 50 อันดับแรกของไทยที่มีสัดส่วน 89.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด (มูลค่า 257,198 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดย สนค. ได้วิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกไปยังรายสัญชาติและขนาดของธุรกิจ (S M L) ประกอบด้วยธุรกิจ 3 ประเภทสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจส่งออกที่มีคนไทยถือหุ้น 100% ธุรกิจส่งออกที่เป็นธุรกิจร่วมทุน
ไทย-ต่างชาติ และธุรกิจส่งออกที่มีชาวต่างชาติถือหุ้น 100%

โดยจากข้อมูลในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า 41.7% ของมูลค่าการส่งออกของรายการสินค้า 50 อันดับแรก เป็นการส่งออกของธุรกิจที่มีชาวต่างชาติถือหุ้น 100% และเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุด หรือมีมูลค่า 107,369 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็นการส่งออกของธุรกิจร่วมทุนที่มีสัดส่วน 33.2% หรือมีมูลค่า 85,307 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของธุรกิจที่มีคนไทยถือหุ้น 100% ที่มีสัดส่วน 24.8% หรือมีมูลค่า 63,839 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้เจาะลึกการส่งออกของธุรกิจคนไทย หากมาเจาะลึกที่การส่งออกของธุรกิจคนไทย ซึ่งในทีนี้หมายรวมทั้งธุรกิจที่มีคนไทยถือหุ้น 100% และธุรกิจร่วมทุนที่มีคนไทยถือหุ้นข้างมาก (ตั้งแต่ 51% ขึ้นไป) พบว่า การส่งออกในรายการสินค้า 50 อันดับแรกที่เป็นธุรกิจของคนไทย ส่วนใหญ่ยังขับเคลื่อนโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

โดยธุรกิจ SMEs ของไทยยังมีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ให้แก่ภาคการส่งออกเพียง 24% ของมูลค่าการส่งออกโดยธุรกิจของคนไทย และคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น ของมูลค่าการส่งออก โดยธุรกิจทุกสัญชาติ ถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องการผลักดันให้ธุรกิจ SMEs มีส่วนร่วมในการส่งออกไม่น้อยกว่า 20% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ ดังนั้น จึงต้องผลักดันมูลค่าการส่งออกของธุรกิจ SMEs ให้ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ สนค.มีข้อเสนอแนะว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าการส่งออก เนื่องจากเป็นภาคที่มีจำนวนผู้ส่งออกที่เป็นธุรกิจ SMEs มาก แต่กลับสร้างรายได้ให้แก่ภาคการส่งออกค่อนข้างน้อย โดยภาครัฐควรสนับสนุนนโยบายและงบประมาณที่เป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต การค้าระหว่างประเทศให้แก่ธุรกิจ SMEs ไทยในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินไปลงทุนไปพัฒนาธุรกิจและสามารถได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประเทศประกาศเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาค ขณะเดียวกันให้เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการส่งออกให้มากขึ้นในภาคกลางและภาคตะวันออก เนื่องจากยังมีจำนวนธุรกิจส่งออกน้อย

โดยข้อมูลคิดค้า.com ของ สนค. พบว่า มีธุรกิจส่งออกของคนไทยในภาคเหนือจำนวน 1,359 ราย และเป็นธุรกิจ SMEs จำนวน 1,261 ราย มากเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น โดยจังหวัดที่มี
ผู้ส่งออกธุรกิจ SMEs มากเป็น 5 อันดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ลำพูน และลำปาง ตามลำดับ และมีกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ข้าว และเครื่องดื่ม

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนธุรกิจส่งออกของคนไทยจำนวน 787 ราย และมีธุรกิจ SMEs จำนวน 710 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้ส่งออกธุรกิจ SMEs มากเป็น 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น หนองคาย และสุรินทร์ ตามลำดับ และมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และผ้าผืน

นอกจากนี้ สนค. ยังเสนอให้ผลักดันผู้ประกอบการสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาวขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ
ที่ผลิตสินค้ามีคุณภาพและมาตรฐานที่สามารถนำไปขายต่อยอดในตลาดต่างประเทศได้ มาบ่มเพาะความรู้ด้านการส่งออก เพื่อให้สามารถเพิ่มรายได้จากการขยายตลาดสินค้าไปยังต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการสินค้า OTOP ระดับ4 ดาวขึ้นไปอยู่จำนวน 9,925 ราย ขณะเดียวกัน ผลักดันการใช้ตรา Thailand Trust Mark (T-Mark) ของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในตลาดและเป็นที่ไว้วางใจของผู้บริโภคในต่างประเทศมากขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการส่งออก

สำหรับธุรกิจของชาวต่างชาติยังมีความสำคัญค่อนข้างมากต่อการเพิ่มรายได้การส่งออก โดยญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เป็นประเทศผู้ลงทุนหลักและเป็นผู้ส่งออกสำคัญของสินค้า 50 อันดับแรก ขณะที่มีจีนที่เริ่มเข้ามาลงทุนและผลิตสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งภายใต้รายการสินค้าดังกล่าว มีจำนวน 4 สินค้าที่ส่งออกโดยธุรกิจของชาวต่างชาติในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ กล่าวคือ เกินกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออกของแต่ละสินค้าเป็นการส่งออกของประเภทธุรกิจที่มีชาวต่างชาติถือหุ้น 100% หรือธุรกิจร่วมทุนที่ชาวต่างชาติถือหุ้นข้างมาก

โดยทั้ง 4 ประเทศข้างต้นได้สร้างการจ้างงานในประเทศประมาณ 630,000 คนขึ้นไป ปัจจุบันไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างประเทศสำหรับยกระดับอุตสาหกรรมส่งออกที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายและต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง แต่จากรายงาน World Investment Report 2023 ของ UNCTAD พบว่า ที่ผ่านมาไทยยังสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้น้อยกว่าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย (มูลค่า 141.2, 22.0, 17.9 และ 16.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ไทยมีมูลค่า 10.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ คือ ทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจากรายงานการจัดอันดับทรัพยากรมนุษย์ฉบับล่าสุดของ International Institute for Management Development (IMD) ระบุว่า การลงทุนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความพร้อมของบุคลากรที่มีอยู่ในประเทศ ยังอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ ไทยจึงควรเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยระยะเร่งด่วนควรมีการ Up-skill/Re-skill แรงงานในภาคการผลิตที่มีอยู่ เพื่อสนองต่อความต้องการในภาคการผลิตปัจจุบัน และเพิ่มเติมการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคเอกชน เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มธุรกิจคนไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นคนตัวเล็ก ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน สนค. ยังเห็นความสำคัญของบทบาทธุรกิจชาวต่างชาติที่ช่วยหนุนการส่งออกและยกระดับประเทศให้ผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เร่งเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ซึ่งเราเองคงต้องเร่งพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากปัจจัย
ด้านทรัพยากรมนุษย์จะมีบทบาทสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะเป็นการดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมจากที่เน้นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นสำคัญ เพื่อให้ไทยยังคงรักษาการเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกไว้ได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img