วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกNEWS12 ก.พ.นายกฯตั้งโต๊ะแถลงแก้หนี้ทั้งระบบ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

12 ก.พ.นายกฯตั้งโต๊ะแถลงแก้หนี้ทั้งระบบ

นายกรัฐมนตรีตั้งโต๊ะแถลงใหญ่ แก่หนี้ทั้งระบบอีกรอบ พรุ่งนี้ (12 ก.พ.) ด้าน “สุรพล” เปิดข้อมูลเครดิตบูโร บ้าน-รถอาการน่าเป็นห่วง ขณะที่มหาดไทยโชว์ไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบสำเร็จแล้ว 13,012 ราย มูลหนี้ลดลง 672 ล้าน เหลืออีก 19 วัน ปิดลงทะเบียน

รายงานจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะแถลงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบในวันพรุ่งนี้ (12 ก.พ.67) โดยร่วมแถลง ประกอบด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนายกฤษณะ จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เปิดเผยว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่บนฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ณ สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ 13.6-13.7 ล้านล้านบาท ซึ่งพบว่าเติบโต 3.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) จากสมาชิก 140 สถาบัน โดยพบเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการเติบโต 7.7% และเป็นส่วนของหนี้กำลังจะเสีย (SM-ค้างชำระตั้งแต่ 31-90 วัน) รวม 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8%

สำหรับหนี้เอ็นพีแอล 1 ล้านล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ประมาณ 3 ล้านคน โดยหนี้ที่เครดิตบูโรเป็นกังวล 3 ตัว คือ หนี้เสียรถยนต์ ที่มีอยู่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% YOY แสดงให้เห็นถึงอาการหนี้เสียของรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากอาการผ่านรถยึดที่เข้าลานประมูล รถมือสองราคาตก และงบการเงินปี 2566 ของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์มีการเร่งตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เพราะขาดทุนรถยึด ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน

รองลงมาคือสินเชื่อบ้าน ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% YOY ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) เป็นหนี้เสีย 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 12% YOY ซึ่งเป็นหนี้เสียตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เนื่องจากเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน ดอกเบี้ยแพง โดยมีลักษณะกู้เป็นก้อนผ่อนเป็นงวด

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การผ่อนบ้านสะดุดอาจมาจากปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น โดยประมาณ 60-70% ของหนี้กำลังจะเสียของสินเชื่อบ้านหรือราว 1.2 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อบ้านที่มีสัญญาวงเงินต่ำกว่า 3 ล้านบาท คือคนที่ผ่อนบ้านราคา 3 ล้านบาท ไม่ใช่คนที่มีรายได้สูง เป็นรายได้ปานกลางและรายได้น้อย และเป็นลูกหนี้ธนาคารรัฐ ซึ่งก็ต้องเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ก่อนจะไปเป็นหนี้เสีย

“SM หรือหนี้ที่เริ่มมีปัญหาการผ่อนและมีโอกาสเป็นหนี้เสียกว่า 6 แสนล้านบาท หลัก ๆ มาจากสินเชื่อบ้าน 1.8 แสนล้าน ซึ่งเพิ่มขึ้น 31% สินเชื่อรถยนต์ 2.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% และสินเชื่อส่วนบุคคล 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% กลุ่มนี้ยังไม่ถูกฟ้อง แต่จะถูกติดตามหนี้เข้มข้น”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านมากว่า 2 เดือนพบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 140,787 ราย มูลหนี้รวม 9,824.425 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 118,267 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 22,520 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 110,321 ราย

ขณะที่ข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 21,669 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 13,012 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 1,973.331 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,300.641 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 672.689 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุด คือจังหวัดนครสวรรค์ อย่างไรก็ตาม เหลือเวลาอีก 19 วันที่ประชาชนยังคงสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะรับลงทะเบียนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img