วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกHighlight1 เม.ย.นี้ธปท.เริ่มมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ช่วย“ลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง”จบหนี้ใน 5 ปี
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

1 เม.ย.นี้ธปท.เริ่มมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ช่วย“ลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง”จบหนี้ใน 5 ปี

แบงก์ชาติเร่งช่วยเหลือลูกหนี้เริ่มโครงการมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง 1 เม.ย.นี้ คิดดอกเบี้ย 15 % ปิดจบหนี้ใน 5 ปี โดยลูกหนี้สามารถเข้าโครงการได้ทุกบัญชี แต่จะใช้สิทธิได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น

นางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 เม.ย.67 ธปท.จะเริ่ม มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง สำหรับลูกหนี้ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ยซึ่งภายใต้เกณฑ์ดังกล่าว ลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt : PD) ที่เป็นกลุ่มเปราะบางจะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วภายใน 5 ปี และลดภาระดอกเบี้ยเหลือ 15% ต่อปี

โดยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเรื้อรัง จะเป็นลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นที่ชำระมาทั้งหมดเป็นระยะเวลานาน โดยลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (General PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน เพื่อกระตุกพฤติกรรมให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มเติมและพิจารณาขอความช่วยเหลือให้สามารถปิดจบหนี้เร็วขึ้นได้

2.ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe PD) ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 5 ปี โดยลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท และบริษัทที่ประกอบธุรกิจการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบกง์น้อยกว่า 10,000 บาท โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan)ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันลูกหนี้ 1 ราย จะมีจำนวนบัญชีเฉลี่ย 4 บัญชี โดยลูกหนี้สามารถเข้าโครงการได้ทุกบัญชี แต่จะใช้สิทธิได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น นอกจากนี้ ลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินเดิม แต่หากกรณีฉุกเฉินสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้ รวมถึงมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ลูกหนี้ทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับการแจ้งเตือนเป็นรายบัญชี (อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง) ผ่านช่องทางที่ตกลงไว้กับเจ้าหนี้อย่างน้อย 1 ช่องทาง เช่น จดหมาย อีเมล SMS mobile application ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 67 เพื่อกระตุ้นให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้น ตลอดจนสมัครเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรังหากลูกหนี้ต้องการทราบสถานะของตนเอง สามารถติดต่อสาขาหรือ call center ของผู้ให้บริการเพื่อตรวจสอบสถานะและสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังได้

อย่างไรก็ดี มาตรการปิดจบหนี้เรื้อรังจะเน้นช่วยลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียนที่จ่ายขั้นต่ำมานาน ซึ่งมีความตั้งใจจะปิดจบหนี้ และสมัครใจในการเข้าร่วมมาตรการ สำหรับลูกหนี้กลุ่มอื่น ๆ ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ สามารถติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอรับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เกณฑ์ Responsible Lending หรือแนวทางอื่น ๆ ภายใต้การแก้หนี้อย่างยั่งยืนของ ธปท.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img