วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกNEWS“บิ๊กป๊อก”โยน“ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่”ตัดสินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บิ๊กป๊อก”โยน“ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่”ตัดสินรถไฟฟ้าสายสีเขียว

“บิ๊กป๊อก” แจงกลางสภาฯลั่นครม. ยังไม่เคาะรถไฟฟ้าสีเขียว โยน “ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่” ตัดสิน รอป.ป.ช.ฟันผู้ว่าฯกทม. คนไหนผิด พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

วันที่ 26 พ.ค.65 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้ง 1 พ.ศ.2565 มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ได้พิจารณากระทู้ถามสด ของ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ถึงการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตัดสินใจต่อสัญญาไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้เกิดเงินสะพัดกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นการกินเลือดกินเนื้อคนกทม. หรือไม่ โดยพล.อ.อนุพงษ์ ได้เสนอเรื่องให้ครม. ต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี จากปีพ.ศ.2572 ไปถึง พ.ศ.2602 โดยการกำหนดเงื่อนไขของกทม. เช่น ค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย พล.อ.อนุพงษ์ รู้เห็นเรื่องนี้หรือไม่ ขณะที่คนกทม. อยู่ในสภาวะค่าครองชีพสูง เป็นการผลักภาระให้ประชาชนทั้งสิ้น แต่เสนาบดีที่ชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ พยายามนำเรื่องการต่อสัญญาเข้าครม. จึงอยากทราบว่า พล.อ.อนุพงษ์ยังจะยืนยันที่จะต่อสัญญากับผู้ประกอบการรายเดิม หรือจะมีวิธีการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน

นายประเดิมชัย กล่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ มีความพยายามที่ปฏิเสธความรับผิดชอบ ทั้งที่ มท. เป็นเจ้าของสัญญาสัมปทาน ที่ได้มอบหมายให้กทม. ดูแล ดังนั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ การนำ 3 สัญญามาพัวพัน มาเป็นเงื่อนปม เหมือนการเขียนบทละคร ให้มีการแก้ไขปัญหา และจนถึงวันนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทั้งยังจะต่อสัญญาออกไปอีก 13 ปี จึงจะทำให้หมดในปีพ.ศ.2585 ตนถามว่า กทม. มีสิทธิอะไรไปต่อสัญญา ถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ ทางมท. จะเดินการอย่างไร กรณีที่กทม.ทำเกินอำนาจหน้าที่ เมื่อข้อมูลเป็นเช่นนี้ท้ายที่สุด มท. มีข้อสรุปอย่างไร ได้ตั้งคณะกรรมาการมาตรวจสอบหรือไม่ หรือมอบหมายให้กทม. รับผิดชอบการบริหารโครงการ และเสนอเรื่องมาให้ พล.อ.อนุพงษ์ เพื่อนำเข้าสู่ครม. แต่เพียงอย่างเดียว

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลักมีบีทีเอส ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ต้น ต่อมา ทาง มท. มอบให้ กทม. เป็นหน่วยงานดูแล และได้สร้างส่วนต่อขยายหนึ่ง (หมอชิต-อ่อนนุช) ที่ไม่มีโรงรถ และสัญญาณ จึงจ้างบีทีเอสเดินรถ ต่อมารัฐบาล ได้ให้โอนการก่อสร้างส่วนต่อขยายสอง (คูคต-สำโรง) ไปให้ รฟม. ซึ่งใช้เงินของรัฐบาลลงทุน จึงอาจเกิดความยุ่งยาก รัฐบาลจึงโอนโครงการนี้กลับมาที่กทม. ซึ่งมีหนี้มาด้วย กทม.จึงขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และจะต้องมีการวางระบบสัญญาณในการเดินรถ โดยจะต้องหาผู้ร่วมทุน และนำเรื่องหนี้เข้าหารือกับคสช. คสช. จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเจรจากับผู้ประกอบการเดิม หากทำตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จะต้องใช้เวลา 2 ปี ทำให้กทม. ต้องแบกหนี้ต่างๆ ได้ เมื่อกทม. มีปัญหา คสช. จึงหาทางแก้ไข และดำเนินการตามขั้นตอน และรัฐธรรมนูญ ตน และมหาดไทยไม่สามารถไปเจรจาได้ เพราะไม่ใช่กรรมการ ดังนั้นตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หาก ครม. ให้มาปรับตัวเลข เพราะบอกว่าแพง หรือไม่โปร่งใส ครม. ก็ไม่ต้องเห็นชอบ ทั้งนี้ ครม. ฟังข้อเสนอแนะจาก กทม. 11 ครั้งแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาทั้งสิ้น และเรื่องนี้เรื่องอยู่ที่เลขาคณะรัฐมนตรี

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ช่วงนั้น คสช.จึงขอให้มีเพียงผู้ประกอบการเจ้าเดียว ดังนั้นปมต่างๆ ต้องเกี่ยวกันแน่นอน ทั้งนี้ ในพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องนำโครงการเก่ามาพิจารณาด้วย ส่วนการกำกับก็แจ่มชัดที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล และทำได้ตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งตนไม่สามารถไปออกความเห็น หรือบงการว่าต้องทำอย่างไร ไม่มีอำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหาร กทม. ตนไม่ทราบว่า ครม.จะมีความเห็นอย่างไร และต้องรอการพิจารณาจากผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เมื่อหมดสัญญาแล้ว กทม. จะเป็นเจ้าของ และมท. จะไม่เข้าไปยุ่งในส่วนนั้น ส่วนการจ้างบีทีเอสเดินรถไปก่อนนั้น และยังไม่มีข้อยุติว่าจะเก็บค่าโดยสารเท่าไหร่ ดังนั้น ประชาชนยังสามารถใช้บริการได้ ซึ่งจะต้องมีการคำนวณจำนวนขบวนรถ จึงเป็นที่มาของการจ้างเดินรถต่ออีก 13 ปี ส่วนจะถูกกฎหมายหรือไม่ ต้องรอการพิจารณาจากป.ป.ช. ว่าเป็นอย่างไร ถ้าผิดก็ต้องดำเนินการ หากผู้ว่าฯ กทม. คนใดทำผิด ตนจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตอบได้เลยว่าเจตนาคือต้องทำเพื่อบริการประชาชน ตนไม่ได้หนีความรับผิดชอบ

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตนย้ำว่าไม่มีการต่อสัญญาอีก 13 ปี แต่เป็นเรื่องที่กทม. จ้างเดินรถต่อ ผิดถูกอย่างไรต้องให้ป.ป.ช. พิจารณา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้ว่า การดำเนินการนั้นมีผลถูกต้อง แต่คนทำจะมีความผิดอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคนละเรื่องกัน

“อันดับแรก คือ ยังไม่มีการต่อสัมปทานใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่ ครม. กำลังพิจารณาว่าหากยังคาราคาซังอยู่ จะมีมติออกไปได้หรือไม่ตามข้อเจรจา และที่ทำมาทั้งหมดยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน และมีความโปร่งใสตามกฎหมาย จากนั้นจะถามไปที่กทม. ที่มีผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งจะมีข้อมูลทุกอย่างกำหนดแนวทางมา ผมไม่สามารถเข้าไปร่วมคิดได้ ถ้าแจ้งว่าทำได้ เราจะนำเรื่องเข้าครม. ทุกอย่างก็จะจบ จะราคา 65 บาทตลอดสาย หรือจะต่อสัญญาหรือไม่ไม่ต้องสนใจ คือให้อยู่ที่กทม. จะตัดสินใจอย่างไร” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img