วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกHighlight“หมอประสิทธิ์”ชงศบค.บังคับใส่หน้ากากในพื้นที่ปิด หลังป่วยโควิดสูงขึ้น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“หมอประสิทธิ์”ชงศบค.บังคับใส่หน้ากากในพื้นที่ปิด หลังป่วยโควิดสูงขึ้น

“หมอประสิทธิ์”เสนอศบค.ออกระเบียบใส่หน้ากากในพื้นที่ปิด เผย BA.4 และ BA.5 ทำผู้ป่วยเพิ่มแต่อาการไม่รุนแรง เตือนประชาชนป้องกันตัวเอง

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 ที่ รพ.ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า การระบาดของไทยขณะนี้ไม่ได้แตกต่างจากหลายประเทศ ทั่วโลกที่พบการระบาดของ BA.4 BA.5 ไปแล้วกว่า 110 ประเทศ ตัวเลขที่รายงานต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะหลายประเทศเลิกตรวจหาเชื้อแล้ว  บางประเทศที่ตรวจก็ไม่ได้ตรวจสายพันธ์ เช่นเดียวกับไทย เพราะมีการเปิดประเทศ จึงพบ BA.4 และ BA.5 จากผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าไทย 

เมื่อมาถึงก็ตรวจน้อยลง โอกาสแพร่เชื้อจึงมากขึ้น คาดว่าไม่นานเชื้อ BA.4 และ BA.5 จะเป็นสายพันธ์หลัก แต่ข้อมูลทั่วโลกพบว่าเชื้อไม่ก่อความรุนแรง แต่ต้องย้ำให้กลับมากระชับมาตรการต่างๆ ขึ้น และฉีดวัคซีนให้ครบ โดยเฉพาะเข็มกระตุ้นที่ยังฉีดได้แค่ร้อยละ 42-43 จากที่ตั้งเป้าร้อยละ 50 เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ยังเสียชีวิต แต่ขณะนี้มีรายงานแม้ฉีด 4 เข็มก็เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ไม่ต้องรอวัคซีนรุ่น 2 เพราะกว่าจะออกมาฉีดได้คาดว่าในช่วงปลายปี ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนทดลองมนุษย์

“วันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน อยากให้ผู้ใหญ่ในประเทศส่งสัญญาณ เพราะขณะนี้มีการติดเชื้อเพิ่ม จึงเสนอให้รัฐบาลต้องกลับมากระชับมาตรการป้องกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการออกข้อบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขคงจะต้องเสนอ ศบค.พิจารณา สอดรับกับหนังสือที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขตเตรียมพร้อมให้หน่วยบริการสุขภาพรับมือผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น เป็นมาตรการที่ต้องรีบทำ อย่ารอจนเตียงไม่พอจะไม่ทันต่อสถานการณ์” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวด้วยว่า ประเมินสถานการณ์เวลานี้อาจจะไม่รุนแรงเหมือนช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ปัจจัยมาจากคนฉีดวัคซีนไปค่อนข้างมาก และตัวเชื้อไม่ได้รุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่เชื้อตัวนี้แพร่ระบาดเร็วมาก หากแพร่เร็วจนเพิ่มจำนวนมากก็เสี่ยงที่เกิดการกลายพันธุ์ได้ ที่น่าห่วงคือกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับเชื้อจากคนที่ไม่แสดงอาการ จึงต้องย้ำถึงการฉีดวัคซีนให้ครบ แม้ไม่ได้ป้องกันติดเชื้อ แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรค

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดในรพ.ศิริราชว่า ยอมรับผู้ป่วยโควิดเข้ามารักษาเพิ่มขึ้นจริง โดยเฉพาะผู้ป่วยไอซียูที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มาด้วยโรคประจำตัว เมื่อมาตรวจกลับพบเป็นโควิดร่วมด้วย ขณะนี้เตียงรองรับผู้ป่วยโควิดยังเพียงพอ แต่ก็ไม่ได้วางใจ และเตรียมรับมือกับสถานการณ์อยู่ต่อเนื่อง ทั้งยังเข้มมาตรการส่วนบุคคลในบุคลากรทุกระดับที่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ เพราะไม่รู้ว่า คนที่เดินไปมาติดเชื้อหรือไม่ ขณะที่ผู้ป่วยระดับสีเขียวเข้ามารักษาเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่จากการติดตามอาการหลังกินยา 4-5 วันก็หาย ไม่ได้รุนแรง ทั้งนี้ รพ.ศิริราชและกระทรวงสาธารณสุขได้มอนิเตอร์เฝ้าระวังสถานการณ์อยู่ต่อเนื่อง.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img