วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 9, 2024
หน้าแรกHighlightหนุน'ดีอีเอส'ยื่นอุทธรณ์โดยด่วน หยุดแพร่คลิปวัคซีนพระราชทาน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

หนุน’ดีอีเอส’ยื่นอุทธรณ์โดยด่วน หยุดแพร่คลิปวัคซีนพระราชทาน

“อดีตรองอธิการบดี มธ.” หนุน “ดีอีเอส” ยื่นอุทธรณ์หยุดแพร่คลิป “ไลฟ์สดธนาธร-วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย” โดยด่วน ย้ำชัดๆ ผู้พูดมีเจตนา ขณะที่ “ดร.อานนท์” ยอมรับตกใจมากกับคำพิพากษา ที่หักคำตัดสินกันเองก่อนหน้านี้ที่ให้ถอดคลิปออก

เมื่อวันที่ 9 ก.พ.64 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่า ศาลอาญา ให้เพิกถอนคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่คลิป “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย” ตามคำร้องของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะ

1.ในการพิจารณาครั้งแรกถือเป็นการข้ามขั้นตอน เนื่องจากผู้ร้อง (นายธนาธร) ไม่ได้มีโอกาสเข้าชี้แจงในศาลแต่อย่างใด
2.เนื้อความที่พูดในคลิป ยังฟังไม่ได้ชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
3.นายธนาธรวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของรัฐบาลในเรื่องการจัดการวัคซีนโควิด 19 แม้ได้กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ แต่ยังไม่ชัดว่าเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตของพระองค์ไม่ว่าในทางใดๆ
4.เรื่องการใช้คำว่า วัคซีนพระราชทาน ผู้ร้อง (นายธนาธร) อ้างว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ใช้คำนี้ก่อน ซึ่งผู้แทนกระทรวงดีอีเอส มิได้โต้แย้งแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญคือ ศาลเห็นว่า นายธนาธรเพียงมุ่งโจมตีรัฐบาล แต่ไม่ได้มุ่งโจมตีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น อย่าได้ใช้คำสั่งศาล เพื่อหาประโยชน์เข้าตัว โดยตีความนอกเหนือไปจากนี้เป็นอันขาด เมื่อศาลพิจารณาเช่นนี้ ก็ต้องถือว่าศาลได้ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ร้อง (นายธนาธร) อย่างเต็มที่แล้ว และเราก็ต้องยอมรับการวินิจฉัยของศาล ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะศาลท่านพิจารณาตามคำร้องของกระทรวงดีอีเอส และตามคำพูดในคลิป โดยไม่พิจารณาถึงเจตนาและนัยยะแอบแฝงของผู้พูดในคลิปนี้

ในคลิป ที่ผู้พูดกล่าว สรุปได้ว่า รัฐบาลเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน และกล่าวต่อไปว่า เจ้าของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งยังกล่าวว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ไม่เคยประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจเลย เหมือนจะบอกว่า รัฐบาลเลือกบริษัทนี้ได้อย่างไร

ในที่นี้จึงใคร่ขอตั้งข้อสังเกตุดังนี้
1.นายธนาธรทราบแน่ๆ ว่า นี่ไม่ใช่เป็นการกระทำเพียงในระดับรัฐบาล โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพลเอกประยุทธ์พูดชัดว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ….” จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะกระทำไปโดยลำพัง โดยไม่มีการกราบบังคมทูล อย่างน้อยเพื่อให้พระราชทานความเห็นชอบ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีเจตนาให้กระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2.การที่บอกว่ารัฐบาลเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ โดยไม่มีการแข่งขัน เป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียว เพราะรัฐบาลไม่ใช่ฝ่ายเดียวที่เลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ หากรัฐบาลเลือกฝ่ายเดียว โดยบริษัท Astra Zeneca ไม่ได้มาสำรวจและตรวจสอบอย่างดีแล้วว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะผลิตวัคซีนได้ตามข้อกำหนดของ Astra Zeneca ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด

3.การที่พูดว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ไม่เคยประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เพราะขาดทุนทุกปี แม้เป็นข้อเท็จจริง แต่เป็นการนำข้อเท็จจริงมาบิดเบือน เพื่อชี้นำให้คนดูคลิปเข้าใจว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ไม่มีขีดความสามารถที่จะผลิตวัคซีนได้ ทั้งที่บริษัทนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงก่อตั้ง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว ทั้งยังมีบุคลากรที่มีขีดความสามารถสูงทั้งสิ้น แต่ที่ต้องยอมขาดทุนเพราะการสร้างกำไรไม่ใช่พันธกิจของบริษัท พันธกิจคือ การให้คนไทยได้เข้าถึงยาที่ราคาสูง เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีสูงได้ในราคาที่ต่ำลง เรื่องเหล่านี้ นายธนาธรตั้งใจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เพื่อให้คนเข้าใจผิดหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ แม้คำพูดเหล่านี้ไม่ชัดเจนว่าเป็นการกล่าวหา หรือทำให้เป็นข้อสงสัยในความสุจริตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่าในทางใดๆ แต่หากดูที่เจตนาแล้ว ชัดเจนว่า ผู้พูดในคลิป มีเจตนาอย่างไร ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อดูกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ตามมา หลังจากการ “ไลฟ์สด” ของพวกม็อบ 3 นิ้ว กระทรวงดีอีเอส ตัดสินใจถูกแล้วที่จะอุทธรณ์ผลการตัดสินของศาล และต้องอุทธรณ์โดยด่วนด้วย เพื่อหยุดการเผยแพร่คลิปนี้ให้เร็วที่สุด

ทางด้าน ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเรื่องเดียวกันนี้ว่า…คำพิพากษาของศาลอาญายกเลิกการปิดกั้น​ Facebook.​Live.​ วัคซีนของธนาธร เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมาก​ ราวกับเสรีนิยมเน้นสิทธิเสรีภาพอย่างสุดโต่ง​ และพิจารณาให้น้ำหนักประเด็นความมั่นคง​ โดยเฉพาะความมั่นคงแห่งรัฐและความมั่นคงแห่งองค์พระประมุขในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์ค่อนข้างน้อยกว่ามาก​จริงๆ​ นอกจากนี้ยังวินิจฉัยว่าคำสั่งปิดกั้นของศาลก่อนหน้านี้มิชอบทำให้ผมอ่านแล้วตกใจมากอาจจะกลายเป็นว่าองค์คณะตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่​ น่าตกใจมากว่าตุลาการใยจึงหักคำพิพากษากันเองรุนแรงมากจนตุลาการอีกองค์คณะดูเหมือนจะวินิจฉัยผิด

ย้อนกลับมาที่คำวินิจฉัยอันเน้นหนักไปที่สิทธิเสรีภาพไว้สูงมากกว่าความมั่นคงแห่งรัฐมากนั้น​ ทำให้ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่าตุลาการแต่ละคนก็อาจจะมีหลักคิดความเชื่อที่แตกต่างกันมากและสะท้อนให้เห็นประจักษ์ชัดได้ในคำวินิจฉัยที่แตกต่างกันไป ข้าพเจ้าอ่านคำวินิจฉัยในฐานะกษัตริย์นิยมและอนุรักษ์นิยมด้วยความห่วงใยยิ่งว่า​ สิทธิและเสรีภาพที่ข้ามเส้น​ แท้จริงแล้วอาจจะขัดต่อหลักกฎหมายได้และขัดแย้งกับศีลธรรม​ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม​ และอาจจะเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐ​ ชาติ​ และแม้แต่องค์รัฎฐาธิปัตย์ได้ในอนาคตอันใกล้

ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาแล้วถือว่าดีทั้งนั้น​ แก้ไขไม่ได้แล้ว​ คำพิพากษาเป็นการวางรากฐานกฎเกณฑ์และควบคุมพฤติกรรมสังคม​ ดังนั้นตุลาการก็ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมดุจเดียวกัน ข้าพเจ้าขอใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการโดยหลักสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะและของประเทศด้วยความเคารพยิ่ง​เยี่ยงวิญญูชน และมิได้มีประสงค์จะก้าวล่วงอำนาจศาลแต่ประการใด

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img