วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกNEWS“ณัฐวุฒิ” แนะกมธ.นิรโทษต้องทำให้ทุกกลุ่ม รวมคดี 112 ด้วย วอนขอเปิดใจยอมรับความเห็นต่าง ยุติขัดแย้ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ณัฐวุฒิ” แนะกมธ.นิรโทษต้องทำให้ทุกกลุ่ม รวมคดี 112 ด้วย วอนขอเปิดใจยอมรับความเห็นต่าง ยุติขัดแย้ง

“ณัฐวุฒิ” แนะกมธ.นิรโทษถ้าจะทำต้องให้กับทุกกลุ่ม-ทุกฝ่าย รวมคดี 112 ด้วย วอนทุกฝ่ายตั้งหลัก-ยุติเริ่มต้นกันใหม่ สอนอายุต่างกัน เชื่อไม่เหมือนกันแต่ไม่ใช่ศัตรูกัน มุ่งร้ายทำลายบ้านเมือง ขอเปิดใจยอมรับความเห็นต่าง

วันที่ 14 มี.ค. 2567 เวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีความคาดหวังอย่างไรบ้างว่า เรื่องนี้ตนได้แสดงความเห็นไปหลายครั้งแล้ว ที่มาร่วมเวทีในวันนี้เพราะนายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมมาธิการพิจารณาข้อมูลและสถิติคดีความผิด อันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ได้ประสานไปว่า มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับข้อมูล และความคิดเห็นจากกลุ่มมวลชนที่เคยเคลื่อนไหวในสถานการณ์ต่อสู้ที่ผ่านมา ซึ่งคนเสื้อแดงก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ตนก็ตอบรับ และได้รับทราบอีกครั้งว่า กมธ.ชุดใหญ่ ประสงค์ที่จะให้เรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมวงใหญ่ในคราวเดียวกัน จึงตอบรับเข้าร่วม และเป็นครั้งแรกที่ตนได้มาอาคารรัฐสภา ในการประชุมอย่างเป็นทางการ

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า หลักคิดและจุดยืนต่อประเด็นนิรโทษกรรมที่ยังเหมือนเดิมว่าความเคลื่อนไหวอันเกิดขึ้นจากกลุ่มมวลชนต่างๆ ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 49 จนถึงปัจจุบัน ตนเชื่อ และยอมรับว่าทางคนเสื้อแดง และกลุ่มมวลชน แม้จะเห็นต่าง แต่ล้วนมีแรงจูงใจทางการเมือง ตามหลักการ เหตุผล หรือข้อเท็จจริงจากที่ตัวเองสัมผัส และยอมรับ ดังนั้นหากคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ หรือสภาฯ ชุดนี้ ประสงค์ที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาคลี่คลายลง และหาข้อยุติร่วมกันที่จะตั้งต้นกันใหม่ เดินหน้านำพาบ้านเมืองไปในทิศทางที่ทุกฝ่ายที่แม้จะเห็นต่าง แต่อยู่ร่วมกันได้

“ผมคิดว่าการนิรโทษกรรมควรหมายรวมถึงทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกคดีความ ทุกข้อกล่าวหา ผมก็เสนอให้มีการยกเว้นข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น และคดีความที่ถึงแก่ชีวิต ซึ่งผมได้แสดงจุดยืนนี้มาตลอด ก็พูดกันให้ชัดไปเลยว่าประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างอยู่ในคณะกรรมาธิการฯ คือข้อกล่าวหาอันเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่วนตัวผมเห็นว่า เงื่อนไขทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศเป็นเงื่อนไขที่ไม่เคยเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วง 20 ปีที่สู้กันมา ดังนั้นหากอยากคลี่คลายความขัดแย้ง ก็ควรจะขยายพื้นที่ของการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงความผิด หรือข้อกล่าวหาในมาตราดังกล่าวด้วย”นายณัฐวุฒิ กล่าว

แกนนำนปช. กล่าวต่อว่า ไม่ได้หมายความว่าตนจะสนับสนุนให้ใครทำอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย แต่ประเด็นของตนคือ กลุ่มบุคคลจำนวนมากที่ต้องคดีความดังกล่าวอยู่นั้น เป็นเยาวชน คนหนุ่มสาว ซึ่งแน่นอนว่า พวกเขาและเธอเหล่านั้น ต่างต้องเติบโตเป็นอนาคตของประเทศ ดังนั้นหากต้องมีการนิรโทษกรรมคดีความที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอื่นๆ และยังคงงดเว้นข้อกล่าวหาในมาตราดังกล่าวไว้เพียงลำพัง ก็จะกลายเป็นว่า สังคมนี้กำลังมีคู่ขัดแย้งคนเดียวคือ คนหนุ่มสาว และผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตนเห็นว่าจะไม่ส่งผลดี ต่อบุคคล องค์กร หรือสถาบันใดเลย ที่ตนตั้งใจมาวันนี้ เพื่อที่จะนำข้อเสนอนี้ ส่งต่อไปยังคณะกรรมมาธิการฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง เพื่อที่จะได้นำไปพิจารณาและหาข้อสรุปร่วมกันต่อไป

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ในสังคมไทยที่เราสู้กันมาถึงเวลาที่จะให้ทุกฝ่ายตั้งหลัก และยุติ เพื่อเริ่มต้นกันใหม่ได้แล้ว แน่นอนว่า การนิรโทษกรรมคงไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งหายไปทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทุกฝ่ายต้องเปิดใจให้กันจริงๆ มันถึงจะบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง การที่สังคมเราจะจากความขัดแย้ง ไม่ได้อยู่ที่คุณยอมรับผม หรือผมยอมรับคุณ แต่ต้องอยู่ที่เราต่างยอมรับกันและกัน

“เราต้องยอมรับว่า ในสังคมที่เรามีอายุต่างกัน เราเชื่อไม่เหมือนกัน เราสนับสนุนแนวทางทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน แต่เราไม่ใช่ศัตรู ไม่ใช่คนมุ่งร้าย ทำลายบ้านเมือง ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นอาชญากร หรือเป็นผู้ร้ายชนิดที่อยู่ร่วมกันในสังคมไม่ได้ ผมปรารถนาที่จะเห็นสิ่งนั้น และไม่อยากให้ใคร หรือใช้วิธีคิดแบบไหนไปบอกว่า คนหนุ่มคนสาวอีกเป็นจำนวนมากกว่าพันคนเป็นอาชญากร หรือเป็นคนที่สังคมไม่สามารถให้โอกาสได้” นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า

นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า อดีตที่ผ่านมา สังคมไทยเราเห็นมาหลายเหตุการณ์แล้วว่า บุคคลที่เคยมีความคิดเห็นไม่ว่าจะเหมือนหรือต่างกับรัฐในทางการเมือง เขาเหล่านั้น ก็เติบโตมาเป็นบุคลากรคุณภาพของประเทศและสังคม และมีการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ของสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน ตนคิดว่าถ้าจะจับมือกันทุกฝ่าย เราต้องไม่ยอมปล่อยมือใครเลย จับมือเด็กไปด้วย จับมือคนหนุ่มคนสาวในยุคปัจจุบันไปด้วย แม้ว่าบางเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตนก็พูดคำว่าเห็นด้วยไม่ได้เหมือนกัน แต่สังคมนี้จะมีที่อยู่กับทุกคน ก็ต่อเมื่อสังคมเปิดหัวใจให้กว้างพอ

เมื่อถามว่า หากจะผลักดันการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 อาจกระทบต่อฝ่ายที่ไม่สบายใจในเรื่องดังกล่าว จนทำให้การมีกรรมไม่สำเร็จเหมือนในอดีตหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขอความกรุณาอย่าให้เกิดความคิดเช่นนั้นเลย นี่เป็นขั้นตอนของการปรึกษาหารือกัน เชื่อว่าการหารือเรื่องความขัดแย้ง คนคิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เอาว่าตั้งเสาเข็มความคิดให้ตรงกันซะก่อนว่า จะต้องช่วยกันทำให้เรื่องนี้เดินหน้าไปให้ได้ เพราะความคิดแบบตนก็เป็นความคิดเห็นหนึ่ง อาจจะมีความคิดเห็นอื่นๆ และจบที่ข้อสรุปร่วมกันว่า ต้องมีเงื่อนไข มีหลักเกณฑ์ มีกระบวนการ ในการพิจารณาในแต่ละเรื่อง เพื่อให้บรรลุตามสิ่งที่เราเสนอกันไป ก็อาจเป็นไปได้ สิ่งที่ตนเสนอไม่ได้คาดคั้นว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามนี้ ตนยืนยันว่า เป็นเพียงความคิดเห็นหนึ่ง และจะนำข้อเสนอนี้ไปจนสุดทางเช่นเดียวกัน

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า คดีความของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ อาจเข้าข่ายคดีทางการเมือง เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมที่บกพร่อง ภายหลังการรัฐประหารนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากเป็นเรื่องข้อกฎหมาย และมีข้อกล่าวหาจากการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าตนจะบอกว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับการเมืองแน่ๆ ก็กลายเป็นว่า ตนพยามที่จะตีไพ่ให้กัน ถ้าตนจะบอกว่า อย่างไรก็ไม่ใช่การเมือง ก็กลายเป็นว่า ตนจะมาสกัดขัดขวางใดๆ กันอีก ดังนั้น ตนคิดว่าให้เป็นเรื่องของฝ่ายที่เกี่ยวข้องเขาพิจารณากัน ส่วนตนเสนอในเรื่องกลุ่มก้อนเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่ปี 48 จนถึงปัจจุบัน ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็คิดว่าต้องให้ฝ่ายที่เขาทำงานกันอยู่ เป็นคนพิจารณา

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img