วันพุธ, พฤษภาคม 1, 2024
หน้าแรกHighlight“สพ.รฟ.”จี้“บิ๊กตู่”ทวงคืนที่ดิน“เขากระโดง 5 พันไร่” หลังศาลชี้ขาดแล้ว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สพ.รฟ.”จี้“บิ๊กตู่”ทวงคืนที่ดิน“เขากระโดง 5 พันไร่” หลังศาลชี้ขาดแล้ว

ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ ยกรธน.ม. 53 จี้ “ประยุทธ์” ต้องทวงคืนที่ดิน“เขากระโดง 5 พันไร่” หลังศาลฎีกาชี้ขาดแล้วว่าเป็นของการรถไฟ หากไม่ทำตามระวังกระทบเสถียรภาพรัฐบาล 

นายสุวิช  ศุมานนท์  ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึง การบุกรุกพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า ที่ดินรถไฟที่มีอยู่แต่ไม่ได้ใช้ในเส้นทางการเดินรถ  ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านก็ทรงมีวิสัยทัศน์ ที่จะนำพื้นที่เหล่านั้นไปสร้างประโยชน์หารายได้  และนำรายได้นั้นมาสนับสนุน เกี่ยวกับการบริการรถไฟ  แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ารถไฟมีปัญหา ในเรื่องของการถูกบุกรุก ใช้ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในเส้นทางการเดินรถ  ตรงนี้จึงกลายเป็นประเด็นว่า รถไฟนอกจากบริหารจัดการด้านการขนส่งขาดทุนแล้ว  ที่ดินที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนกว่าไร่ ก็ยังไม่ได้ทำให้เขาเกิดประโยชน์สูงสุด  เพื่อที่จะนำรายได้มาสนับสนุนด้านบริการรถไฟ

หนึ่งในนั้นคือเขากระโดง พื้นที่ประมาณ 5,083 ไร่ สังคมโดยเฉพาะพนักงานรถไฟ  สงสัยว่าในเมื่อที่ดินของการรถไฟ ทั้งที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อปี 2560 และปี 2561 มีทั้งคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าที่ดิน 5,083 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟ มีคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาว่าที่ดิน ก็เป็นของการรถไฟ แต่ท้ายที่สุดการดำเนินการ เพื่อนำที่ดินกลับคืนมาเป็นของการรถไฟ  ไม่มีความคืบหน้า  จึงกลายเป็นข้อกังขาของสังคม และพนักงานการรถไฟ ว่าทำไมไม่บริหารจัดการที่ดิน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วกลับมาเป็นของการรถไฟ

 “เขากระโดงเป็นพื้นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า รถไฟไม่ปฏิบัติหรือละเว้นจริงหรือไม่ หลายคนตั้งคำถามในข้อเท็จจริงนั้น ล่าสุดเท่าที่ฟังมาการรถไฟ ไปฟ้องศาลปกครอง ฟ้องกรมที่ดินเรื่องเกี่ยวกับ การไม่เลิกถอนเอกสารสิทธิ์ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อประมาณปลายเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่าน มาแต่ปรากฏว่า กรมที่ดินก็มีข้อชี้แจงมาว่า การที่จะออกโฉนดหรือการกำหนดแผนที่เขตที่ดิน รถไฟต้องไปทำชี้แนวรังวัดเขตของตัวเอง ร่วมกับกรมที่ดินซึ่งเป็นผู้ออกเอกสารสิทธิ์ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีชาวบ้านอยู่ในเขตที่เดียวกันหรือใกล้เคียง ก็จะต้องไปกำหนดเขตรังวัดเช่นกัน” นายสุวิช กล่าว

ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ กล่าวต่อว่า  แต่ที่ผ่านมารถไฟไม่ได้ไปชี้แนวเขต ตรงนี้ จึงทำให้กรมที่ดินจะดำเนินการต่อ  ก็มีความเห็นที่ว่าการจะออกเอกสารสิทธิ์ ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อที่จะสอบสวนข้อเท็จจริง เรื่องสิทธิ์หรือเอกสารที่จะออก แล้วนำเสนอต่ออธิบดีกรมที่ดิน เพื่อที่จะออกโฉนด  จึงกลายเป็นข้อพิพาท ซึ่งเดิมทีการรถไฟ มีข้อพิพาทกับภาคประชาชน 35 ราย  ปรากฏว่ารถไฟชนะคดี   หมายความว่าสิ่งที่รถไฟจะต้องทำ คือ  จะต้องเพิกถอนขับไล่ผู้บุกรุก เท่าที่ตนทราบมา 35 รายที่แพ้คดี  ทางกรมที่ดินก็ระงับการขอออกโฉนดไปแล้ว  ซึ่งก่อนหน้านั้น 35  รายไปฟ้องการรถไฟ ว่าที่รถไฟไปคัดค้านการขอออกโฉนด  ท้ายที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาว่า ที่ดินทั้งหมดเป็นของการรถไฟ ไม่สามารถออกโฉนดได้  ดังนั้นคนที่ไปบุกรุก 35 รายก็จะต้องย้ายออกจากพื้นที่  และรถไฟต้องเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ 

“ตรงนี้ทั้งผมและสังคมจับตาดูว่าท้ายที่สุดแล้ว การดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ของการรถไฟจะไปในรูปแบบไหน  เพราะตอนนี้เหมือนกับหน่วยงานของรัฐ ปัดความรับผิดชอบ ยังหาข้อสรุปไม่ได้  เพราะฉะนั้นเรื่องนี้อยากเรียนถึง นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 53 รัฐพึงใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด  หากผู้นำรัฐบาลไม่ทำเรื่องนี้ให้ปรากฏ  ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่เสถียรภาพของรัฐบาล  อยากฝากถึงท่านนายกรัฐมนตรี ช่วยตรวจสอบและดำเนินการเรื่องนี้ ให้เป็นที่ประจักษ์ เพราะสังคมตั้งข้อสังเกตมาก  ท้ายที่สุดสื่อก็ติดตามเรื่องนี้ อย่างใจจดใจจ่อ และในเรื่องของการทวงคืนพื้นที่เขากระโดง  จนกลายเป็นวลีมหากาพย์เขากระโดง  หรือว่าเขากระโดงเป็นรัฐอิสระ  ไม่สามารถที่จะทวงคืนกลับมาเป็นพื้นที่ของการรถไฟได้” นายสุวิช กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img