วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกNEWS“ผบ.เหล่าทัพ”ตบเท้าแจงกมธ.งบ 66 “ไอติม”บี้ตอบงบลับ 500 ล้าน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ผบ.เหล่าทัพ”ตบเท้าแจงกมธ.งบ 66 “ไอติม”บี้ตอบงบลับ 500 ล้าน

“ผบ.เหล่าทัพ” ตบเท้าแจง กมธ.งบ 66 วงเงิน 1.97 แสนล้านบาท ด้าน ‘ไอติม’ ถามแผนปรับลด “งบกำลังพล” บี้ตอบงบลับ 500 ล้านบาท ด้าน “สมชัย” ถาม เช่ารถเบนซ์หรูให้ 36 นายทหารใหญ่

วันที่ 18 ก.ค. 65 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อพิจารณางบของกระทรวงกลาโหม วงเงิน 197,292,732,000 ล้านบาท โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้แก่ พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ) พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และพล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เข้าร่วมชี้แจงภาพรวมงบประมาณของหน่วยงานภายใต้กำกับดูแล และงบของเหล่าทัพต่างๆ อย่างพร้อมเพรียง ซึ่งมีนายวราเทพ รัตนากร อดีตรมช.คลัง ในฐานะรองประธานกมธ.วิสามัญฯ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม

โดยในช่วงเช้าเป็นการพิจารณางบของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย ก่อนที่จะมีการพิจารณางบฯที่ขอในปีนี้ ได้ให้กรมบัญชีกลางรายงานตัวเลขการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2565 พบว่าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เบิกจ่ายไป 67.52% จากที่ขอ ใกล้เคียงกับกองบัญชาการกองทัพไทย ที่เบิกจ่ายไป 68.22%

ทั้งนี้พล.อ.วรเกียรติ​ กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณมีสัดส่วนลดลงทุกปี นับตั้งแต่ปี 2564 จำนวน 6.55% ปี 2565 6.51% ปี 2566 6.19% หากเทียบกับสัดส่วนจีดีพีของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563-2565 เฉลี่ย 1.22% และปี 2566 1.10% จากสถานการณ์โลกและปัจจุบันมีความผันผวน และเสี่ยงนำไปสู่ความขัดแย้งโดยการใช้กำลังทหาร การใช้อาวุธที่เกิดจากนโยบายด้านยุทธศาสตร์ การแข่งขันขยายอำนาจของจีน สหรัฐฯ รัสเซียและประเทศพันธมิตร ที่นำไปสู่การขยายพื้นที่การสะสมอาวุธนโยบายต่างประเทศแบบเลือกข้างและใช้นโยบายเศรษฐกิจ และจากการสำรวจพบว่างบประมาณด้านกำลังทหารโลกเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“กระทรวงกลาโหมตระหนักข้อจำกัดงบประมาณของประเทศ จัดลำดับความสำคัญ อาวุธยุทโธปกรณ์ ควบคู่พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กำลังพลสำรองและนโยบายมิตรประเทศ เสริมสร้างอำนาจทางทหาร จะเห็นว่างบประมาณกระทรวงกลาโหมปี 2566 ไม่สูงเมื่อเทียบภารกิจ แม้ไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่สร้างความมั่นคงด้านการลงทุน กองทัพมีแสนยานุภาพมีความเข้มแข็ง เพื่อใช้ต่อรองนโยบายการเมืองได้เช่นเดียวกัน” พล.อ.วรเกียรติ กล่าว

ด้านพล.อ.เฉลิมพล กล่าวว่า ข้อมูลความมั่นคงมีชั้นความลับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจึงขอให้ระมัดระวังในการนำไปเผยแพร่ภายนอกกับบุคลคลอื่น ทั้งนี้ทุกประเทศต้องจัดกำลังทหารป้องกันประเทศ ปกป้องอธิปไตย รับมือภัยคุกคาม แม้ความมั่นคงที่ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ก็คือความอยู่รอดของประเทศ ส่งผลถึงเศรษฐกิจความเป็นอยู่ประชาชน การเสริมสร้างกำลังทหารเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 52 และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551

ทั้งนี้กองทัพไทยประกอบไปด้วยเหล่าทัพ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน สำหรับนโยบายจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์นั้นเน้นการปรับปรุงยืดอายุการใช้งานการซ่อมบำรุง และยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมใช้งบประมาณประหยัดคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งการจัดหาเป็นไปตามขั้นตอนมีการจัดตั้งคณะกรรมการก่อนเสนอกระทรวงกลาโหมทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และกระบวนการพิจารณากลั่นกรองเป็นไปอย่างรอบคอบเหมาะสม

“ปัจจุบันกองทัพไทยมียุทโธปกรณ์คิดเป็นเงินรวมทั้งหมดประมาณ 500,000 ล้านบาท การจัดหาทดแทนในส่วนที่จำเป็น และซ่อมบำรุงคิดเป็น 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 2% เพื่อดูแลรักษาให้คงสภาพ รวมถึงงบประมาณด้านการฝึกกำลังพล รวมถึงการสับเปลี่ยนกำลังทดแทน เมื่อมีการปรับย้ายการฝึกร่วมกับมิตรประเทศ ทั้งนี้หากกองทัพไทยเข้มแข็ง ก็สามารถรองรับภารกิจต่างๆ เช่น โควิด สถานการณ์วิกฤต ภัยพิบัติต่างๆ กองทัพมีความสมบูรณ์ในการแก้ปัญหาเบื้องต้น เพราะมีหน่วยทหารอยู่ทั่วประเทศเข้าถึงพื้นที่รวดเร็ว” พล.อ.เฉลิมพล กล่าว

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้กมธ.วิสามัญฯ สอบถามในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหม และกองทัพ อาทิ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ขอบคุณเหล่าทัพที่ลดงบประมาณลงทุกปี เพราะเห็นแก่ประเทศชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้จากการที่มีการนำเสนอรัฐธรรมนูญมาตรา 52 หน้าที่ปกป้องอาณาเขตประเทศ ตนขอสอบถามกรณีที่เครื่องบินมิก-29 ของกองทัพเมียนมารุกล้ำน่านฟ้าไทย ทางเมียนมานิ่งเฉยไม่ได้ขอโทษและอธิบายใดๆ มีเพียงแต่กองทัพไทยที่ชี้แจงแทน ตนถามว่างบประมาณที่ได้นั้นไปไหน การปฎิบัติการล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์หากเครื่องบินมิก 29 บินเข้ามาในกทม. ซึ่งใช้เวลาไม่กี่นาทีจะทำอย่างไร ท่านละเลยหรือจงใจละเลยปฏิบัติหน้าที่ เราใช้งบประมาณเกือบ 200,000 ล้านบาททุกปีในการจัดซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ แต่ไม่สามารถป้องกันประเทศได้ ทำไมถึงช้าและเทคโนโลยีเรานั้นใช้ยากลำบากจนเขาสามารถใช้ดินแดนของไทยปฏิบัติการได้สำเร็จ เราต้องรักษากฎบัตรประชาชาติ การปฎิบัติการครั้งนี้ถือว่าประเทศไทยได้รับความเสียหาย หากเกิดขึ้นอีกโดยมีการโจมตีประเทศไทยนั้นจะทำอย่างไร กองทัพอากาศจะซื้อเครื่องบินขับไล่เอฟ 35 ทำไมไม่ใช้ระบบเรดาร์ป้องกันประเทศมันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.วิสามัญฯกล่าวว่า เมื่อเทียบกองทัพไทยกับจำนวนประชากรที่มีในประเทศถือว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ในอาเซียน และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณพบว่ามากกว่าครึ่ง เป็นงบประมาณที่ใช้จ่ายประจำเรื่องเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และค่าใช้จ่ายบุคลากร จึงอยากทราบแผนงานกองทัพในการที่จะปรับลดจำนวนกำลังพลอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันหากพิจารณาไปถึงการเกณฑ์ทหารของกองทัพบก ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายบุคลากรจำนวนมากเช่นกัน เพราะในปีหนึ่งจะมีจำนวนทหารกองประจำการ หรือทหารเกณฑ์ประมาณ 1 แสนคน แม้จะมีนโยบายเปิดรับสมัคร แต่เมื่อพิจารณาจำนวนก็จะพบว่ามีไม่ถึงครึ่งที่เข้ามาสมัครเอง ดังนั้นมากกว่าครึ่งจึงยังเป็นการบังคับเกณฑ์ ซึ่งการบังคับเกณฑ์นี้ทำให้เกิดความเสียโอกาสของบุคคล เช่น ขาดโอกาสในการทำงานในขณะที่ประเทศกำลังต้องการแรงงาน เพราะกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย จึงอยากทราบแนวทางของกองทัพอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับนโยบายการเกณฑ์ทหารว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอนาคต นอกจากนี้ยังอยากทราบถึงงบลับ จำนวน 469,955,000 บาท ที่อยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการกองทัพไทย ว่าจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดได้หรือไม่

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. ในฐานะกมธ.วิสามัญฯสัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายพุ่งเป้าไปที่ค่าใช้จ่ายของนายทหารระดับสูงโดยขอทราบรายละเอียดเงินตอบแทนพิเศษทหารระดับพันเอก (พิเศษ) ขึ้นไปจนถึงระดับนายพลว่ามีอัตราการจ่ายอย่างไร และจ่ายอยู่จำนวนกี่นาย รวมงบประมาณเท่าใด ขณะเดียวกันยังอ้างว่าได้รับจดหมายจากกำลังพลรายหนึ่งส่งมาให้และขออ่านสอบถามเพื่อให้เหล่าทัพต่างๆ ชี้แจง ระบุว่าได้รับการแจ้งจากคนในกองทัพว่า ปัจจุบันทุกเหล่าทัพมีการเช่ารถยนต์ให้ผู้บริหารระดับสูง รวม 36 คน เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดฯ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และที่ปรึกษากองทัพ โดยรถที่เช่า เป็นรถเบนซ์ S500 และ S400 ซึ่งในจดหมายดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่าการเช่ารถให้ผู้บริหารกองทัพมีหลักเกณฑ์เหมือนหน่วยราชการอื่นทั่วไปหรือไม่ที่จะมีการกำหนดวงเงิน ค่าเช่า และจำนวนซีซีของรถยนต์ เทียบกับตำแหน่งต่างๆ ซึ่งตนอยากได้รับคำชี้แจงจากกองทัพ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img