วันศุกร์, พฤษภาคม 10, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSข้าวแพงสุดประวัติการณ์ “ปีทอง”ชาวนาไทยจริงหรือ?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ข้าวแพงสุดประวัติการณ์ “ปีทอง”ชาวนาไทยจริงหรือ?

มีการพูดกันว่า!! เวลานี้กำลังเป็น “ปีทอง” ของชาวนาไทย เพราะ…ราคาข้าวปรับขึ้นสูงมากจากปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ ทำให้ผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดนั้นน้อยลง

นั่นหมายความว่า…เมื่อข้าวมีปริมาณน้อยลง น้อยกว่าความต้องการบริโภค ย่อมทำให้ราคาข้าวปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามหลักการ “ดีมานด์-ซัพพลาย” !!

โดยเวลานี้ ข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสดอยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ซึ่งราคาที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ หากไม่นับในช่วงโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นการแทรกแซงตลาดซึ่งมีการรับซื้อตันละ 15,000 บาท

ขณะที่ข้าวขาวในตลาดโลก ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็นตันละ 100 เหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 20-30% นับตั้งแต่อินเดียห้ามส่งออก เมื่อช่วงกลางเดือนก.ค.66

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันที่ 7-11 ส.ค.ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้า นาปรัง ซื้อขายสูงสุดกันที่ตันละ 12,800-13,000 บาท เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่สูงสุดตัน 11,000-11,500 บาท

ขณะที่ข้าวเปลือกหอมมะลิ ได้ปรับขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ตันละ 15,900-16,500 บาท เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนที่อยู่ที่ตันละ 14,000-15,500 บาท  ส่วนข้าวเปลือกปทุมธานี 12,100-13,300 บาท เพิ่มจาก 11,000-13,000 บาท

ด้วยเหตุนี้… จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่สังคมจะเชื่อได้ว่า เมื่อราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้นเช่นนี้ “ชาวนาไทย” ก็น่าจะลืมตาอ้าปากได้ หลังจากที่ต้องเผชิญความทุกข์ยากจากปัญหาปากท้อง ข้าวของราคาแพงกันมาอย่างต่อเนื่อง

แต่หันมาดูเรื่องจริง แม้ราคาข้าวจะทะยานสูงขึ้นก็ตาม แต่กลายเป็นว่า เวลานี้…ชาวนาส่วนใหญ่ ยังอยู่ในช่วง “ดำนา” หรือ “หว่านเมล็ดข้าว” เท่านั้น!!

ยังไม่ได้เข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อนำไปขายจริง ซึ่งกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ก็ในช่วงปลายเดือนต.ค.-ธ.ค.นี้ต่างหาก ซึ่งเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวเข้าจริง ราคาข้าวจะยังอยู่ในระดับนี้หรือไม่ จะทะยานเพิ่มขึ้น หรือลดลง

ที่สำคัญ!! ทิศทางราคาข้าวโลกจะเป็นเช่นไรต่อไป เพราะหากอินเดียสามารถแก้ราคาข้าวแพงในประเทศของตัวเองได้ แล้วหันมาอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวได้ นั่นก็เท่ากับว่าราคาข้าวย่อมตกลงไปแน่นอน

อย่าลืมว่า ปัจจุบันนี้ อินเดีย ถือเป็น “ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก” คิดเป็น 40% ของปริมาณข้าวทั้งหมดในตลาดโลก หรือส่งออกข้าวมากถึง 140 ประเทศ

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่ต้องตามติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตข้าว ที่ “ชาวนา” อาจถูกเอาเปรียบ จากบรรดา “นายทุน” ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้เช่าที่นา ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น…ก็ต้องรอดูฝีมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเข้าไปดูแล ควบคุมต้นทุนการผลิต ต้นทุนการปลูกข้าวให้ชาวนา ได้มากน้อยเพียงใด

หากหักลบต้นทุนค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิต กับราคาข้าวที่ขายได้ เผลอๆ อาจไม่เหลืออะไรเลยด้วยซ้ำไป!! โดยกระบวนการขายข้าว ยังคงมีตัวกลางเข้ามาเอี่ยวอยู่เสมอ และมักเป็นผู้ฉกฉวยโอกาสทอง ไปทุกครั้ง

นอกจากนี้ชาวนาเอง ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการประกันภัยนาข้าว เพราะอย่าลืมว่า เวลานี้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ โครงการประกันภัยนาข้าวจึงไม่มีเหมือนที่ผ่านมา

ถ้ามีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น จะแล้ง จะน้ำท่วม จะถูกพายุ ถูกศัตรูพืชกัดกิน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นภัยธรรมชาติ ความเสี่ยงของชาวนาก็เพิ่มมากขึ้นไปอีก แม้มีเงินช่วยเหลือจากภาครัฐตามกฎหมายอยู่แล้วก็ตามทีเถอะ

แม้เวลานี้กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดตั้งวอร์รูมขึ้นมา เพื่อดูแลสถานการณ์ข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อหาจุดสมดุลให้กับทุกฝ่ายแบบวิน-วิน

แต่อย่าลืมว่า เมื่อราคาข้าวเปลือกแพงขึ้น ชาวนาได้ประโยชน์ก็จริง แต่เมื่อสีมาเป็นข้าวสารเพื่อขายให้ผู้บริโภค ก็ต้องซื้อข้าวสารในราคาที่แพงขึ้น คนทั้งประเทศก็ต้องเดือดร้อนจากราคาข้าวสารแพงเข้าไปอีก โดยมีการการันตีว่าคนในประเทศไม่มีอดข้าวแน่นอน!!

จึงไม่ต้องแปลกใจกันว่า ในห้วงเวลานี้ แม้จะยังไม่ได้ยินเสียงของชาวนา มีแต่เสียงของบรรดาผู้บริโภคก็กำลังระงม กับราคาข้าวสารที่กำลังแพงขึ้น ก็ตาม

แต่ทั้งหมด ทั้งหลายทั้งปวง ก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว ปีทองที่ว่านี้ ชาวนาจะได้ประโยชน์จริงๆ แค่ไหน?

…………………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img