วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“บิ๊กตู่”เล่นบท..“ก้าวข้ามความขัดแย้ง” กินรวบแต่งตั้ง“ผู้บัญชาการเหล่าทัพ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บิ๊กตู่”เล่นบท..“ก้าวข้ามความขัดแย้ง” กินรวบแต่งตั้ง“ผู้บัญชาการเหล่าทัพ”

ถือว่าอยู่เหนือคามคาดหมายจริงๆ หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งจะโบกมือลาอีกไม่กี่วันข้างหน้า เชิญ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯคนที่ 30 ซึ่งเป็นตัวแทนของ พรรคเพื่อไทย (พท.) มาพบพูดคุยที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงสายๆ ของวันที่ 24 ส.ค. โดยบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างชื่นมื่น

จริงๆ ก่อนหน้านั้น ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้แสดงความยินดีกับนายเศรษฐา และขอให้ประสบความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดินในโอกาสต่อไป 

มีรายงานว่า นายเศรษฐาได้เดินทางเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์เพื่อหารือเป็นการส่วนตัว เป็นการมากราบสวัสดีผู้ใหญ่และขอรับคำแนะนำเพื่อการทำงานต่อไป ภายหลังนายเศรษฐาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯคนที่ 30 โดยหลังจากหารือกันเรียบร้อยแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ได้พานายเศรษฐา เยี่ยมชมห้องทำงานภายในตึกไทยคู่ฟ้า โดยขึ้นชั้นสอง ดูห้องทำงาน

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายเศรษฐาเข้าพบเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ได้ฝากดูแลทุกอย่าง ซึ่งท่านก็รับไป ตนก็ไม่ได้ไปก้าวล่วงอำนาจ พร้อมส่งมอบงานและข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการบริหารราชการต่อไป

เมื่อถามว่า มีงานที่คั่งค้างและฝากนายกฯคนใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี ท่านก็คงนำไปพิจารณาและทำต่อ อะไรที่ต้องปรับก็ปรับ ส่วนเรื่องสถาบันฝากแล้ว

เมื่อถามว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่นายกฯทั้งสองคนมาเจอกัน เพื่อสลายขั้ว สร้างความสามัคคีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่าไปมองว่าสีไหนเป็นสีไหน เลิกแบ่งสีได้แล้ว วันนี้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้ามีรัฐบาลใหม่มา

อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่อมวลชนตั้งคำถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่นายเศรษฐาได้เป็นนายกฯ เพราะ ได้รับการสนับสนุน จากพล.อ.ประยุทธ์ โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็อย่าไปมองอย่างนั้นซิ รัฐบาลมาตามขั้นตอน และกระบวนการ เรื่องต่างๆ ในสภาก็เป็นเรื่องของรัฐสภา ตอนนี้อย่าไปสร้างประเด็น หรือคิดเอาเองกัน เขียนออกมาก็ต้องระมัดระวังด้วย วันนี้ขัดแย้งกันไม่ได้แล้ว แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการ

ด้านนายเศรษฐา กล่าวภายหลังเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ว่า เป็นการไปเยี่ยมเยือนและเป็นการเคารพตามมารยาท และ พล.อ.ประยุทธ์ฝากความเป็นห่วงบ้านเมือง ตนในฐานะเป็นผู้น้อยและเพิ่งได้รับการแต่งตั้ง จึงเข้าไปพบเพื่อปรึกษาหารือว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีอะไรฝากฝังหรือไม่ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ก็น่ารักที่พาชมทำเนียบฯด้วย 

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ฝากฝังประเด็นอะไรเป็นพิเศษในการบริหารบ้านเมือง นายเศรษฐา กล่าวว่า “ท่านบอกว่าผมมาจากภาคเศรษฐกิจ วิธีการบริหารก็อาจจะแตกต่างกับการบริหารบ้านเมือง ก็มีหลายภาคส่วนที่ต้องคำนึงถึง ให้ระวังด้วย มีความใจเย็น มีความอดทน ดูแลเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และนโยบายอะไรดีๆ ที่ท่านทำไว้ก็ฝากดูแลต่อด้วย ซึ่งผมก็จะไปพบปะกับคนที่ทำงานให้ท่านมาด้วย โดยจะมีการนัดกันอย่างต่อเนื่อง อะไรที่คิดว่ามีความเหมาะสม เราก็จะทำต่อ”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการปรึกษาหารือกันถึงตำแหน่ง รมว.กลาโหมหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มี เป็นการพูดคุยกันธรรมดา เป็นเรื่องที่ทำให้บ้านเมืองเดินต่อไป แล้ว วันนี้ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง และมาดูแลบ้านเมืองให้ดี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้

เมื่อถามว่า เจอกันครั้งแรกกับพล.อ.ประยุทธ์ เป็นอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า “เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพครับ ไม่มีอะไร ก็คุยกันดีแบบผู้ใหญ่”

ถามว่า เป็นความตั้งใจนายเศรษฐาหรือไม่ ที่จะเข้าไปพบพล.อ.ประยุทธ์อย่างเป็นทางการ หลังรับตำแหน่งนายกฯอย่างเป็นทางการ นายเศรษฐา กล่าวว่า ใช่ และพล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าเป็นครั้งแรก เป็นประวัติศาสตร์ที่นายกรัฐมนตรีสองคนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ฝากฝังบ้านเมืองกัน ซึ่งตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าภาพที่เกิดขึ้นวันนี้จะสามารถ ลบภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีตได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า คิดว่าคงลำบาก เรื่องความขัดแย้งที่มีอยู่ ซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่พบปะกันหนเดียว แล้วจะจบกันไป ต้องให้เวลาและการกระทำเป็นตัวพิสูจน์ แต่อย่างน้อยตนก็ทราบเจตนารมณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าท่านอยากจะก้าวข้ามความขัดแย้ง และมีความเป็นห่วงบ้านเมืองด้วยความจริงใจ เราต้องทำงานร่วมกันต่อไป

เมื่อถามว่า เราเป็นฝ่ายนัดไป หรือเขาเป็นฝ่ายนัดมา นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นการพูดคุยกันของฝ่ายทำงาน

น่าสังเกตว่าการนัดพบปะกันครั้งนี้ เกิดขึ้นขึ้นหลังการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯ ปรากฏว่า นายเศรษฐาได้คะแนนเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง จึงถือว่านายเศรษฐา ได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา เท่ากับว่ามติที่ประชุมเห็นชอบนายเศรษฐาเป็นนายกฯ

มีรายงานข่าว ในส่วนของ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ลงมติเห็นชอบนายเศรษฐาเป็นนายกฯ 152 เสียง พบว่าส่วนใหญ่เป็น ส.ว.สายทหารในฝั่งของพล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่ ส.ว.ในสายของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่วนใหญ่ลงมติงดออกเสียง เช่น พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, พล.อ.อู้ด เบื้องบน, พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้

ขณะที่ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร ไม่มาร่วมประชุม นอกจากนี้ ยังมี ส.ว.สายวิชาการ สายอดีตข้าราชการ นักธุรกิจบางส่วน ลงมติงดออกเสียง อาทิ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล นายบุญทรง ไข่เกษ น.ส.ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ส่วน ส.ว.ที่ลงมติไม่สนับสนุนนายเศรษฐา 13 คน ส่วนใหญ่เป็นสายตัวตึงที่แสดงเจตนารมณ์ตั้งแต่แรกไม่สนับสนุนนายเศรษฐา อาทิ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายสมชาย แสวงการ นายเสรี สุวรรณภานนท์

จากผลพวงดังกล่าว ทำให้การจัดโควต้ารัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รสทช.) เป็นไปอย่างราบรื่น มีข่าวว่าได้ รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง ซึ่งเป็นทั้งเอบวกและเอลบ ทั้งกระทรวงพลังงานและอุตสาหกรรม ส่วนรัฐมนตรีช่วยอยู่ในระหว่างการต่อรอง

ขณะที่ขณะที่ พรรค พปชร. จากเดิมที่จะได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งวางตัวให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เป็นรัฐมนตรีนั้น แต่จากกรณีที่ ส.ว.สายพล.อ.ประวิตร ไม่ยอมโหวตให้นายเศรษฐา เหมือนที่ตกลงกันไว้ จึงทำให้พรรค พท.ต้องพิจารณา ว่าจะให้ตำแหน่งดังกล่าวกับพรรค พปชร.เหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งอยู่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพราะอาจยกตำแหน่งดังกล่าวให้ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เพื่อดึงกระทรวงมหาดไทยกลับมา ส่วนอีกตำแหน่งที่พรรค พปชร.จะได้รับคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 ส.ค.66 พล.อ.ประยุทธ์ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานการประชุมสภากลาโหม โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมประชุม แม้ว่าจะเป็นช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่มีนายเศรษฐาเป็นนายกฯ ท่ามกลางการจับตาตำแหน่งรมว.กลาโหม ที่ยังรอความชัดเจน ขณะที่เมื่อวันที่ 23 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม หรือ “บอร์ด 7 เสือกลาโหม” เพื่อพิจารณาบัญชีการปรับย้ายนายทหารประจำปี 2566

โดยคาดว่า พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองผบ.สส. จะขึ้นเป็น ผบ.สูงสุด ส่วนกองทัพบก (ทบ.) คาดว่า พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รองผบ.ทบ. จะได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ส่วนกองทัพเรือ ได้รายชื่อผบ.ทร.คนใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่า พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.กองเรือยุทธการ จะเป็น ผบ.ทร. ขณะที่ กองทัพอากาศ (ทอ.) คาดว่า พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้ช่วยผบ.ทอ. อดีตนักบินขับไล่ F16 จะได้ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.

ส่วนการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 ที่คาดว่า “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” จะได้เป็นแม่ทัพสีกากีคนใหม่ ถูกเลื่อนออกไป คาดหมายว่าคงรอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา

นั่นหมายความว่า แม้จะเป็น รัฐบาลรักษาการ แต่ยังมีอำนาจเต็มในการ จัดทัพทั้งทหาร โดยที่ไม่มีเสียงคัดค้าน จากพรรค พท. คงต้องบอกว่า การเล่นบทก้าวข้ามความจัดแย้ง และ สร้างความปรองดอง ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้าย ก่อนอำลาตำแหน่งนายกฯ เป็นการแย่งซีน “บิ๊กป้อม” ไปเต็มๆ

นอกจากนี้หลายคนยังเชื่อว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนายเศรษฐา นายกฯคนที่ 30 ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรค พท. คงหวังให้เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อต่อกรกับ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งมีแนวทางในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถ้าหาก “พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์” ได้เป็นนายกฯ คงไม่มีทางที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เปิดทำเนียบรัฐบาล ให้ได้เข้าพบแน่ๆ

แม้นายกฯที่กำลังจะหมดอำนาจลงไปอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสียงสว. ที่เทให้กับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค พท. แต่ใครก็คงยากจะเชื่อ เพราะว่าถ้าไม่ได้ไฟเขียวจาก “ผู้มากบารมี” ไหนเลยจะมีเสียงจากสมาชิกสภาสูงเกิน 150 คน เทคะแนนให้ “เศรษฐา” จนได้เห็นภาพสองนายกฯได้มีโอกาสพบพูดคุยกัน กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์

…………………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img