วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“พายุหมุนเศรษฐกิจ”เพื่อไทย ... จะฟื้นหรือจะแป้ก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พายุหมุนเศรษฐกิจ”เพื่อไทย … จะฟื้นหรือจะแป้ก

หลังจาก แป้ก ในระหว่างการหาเสียง จนทำให้ความหวังของ พรรคเพื่อไทย จะ แลนด์สไลด์ กลายเป็น แลนด์ไถล ออกนอกถนน เพราะนโยบายที่เป็นทีเด็ด นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทยังไม่สะเด็ดน้ำ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีตอนนั้น เล่นผิดคิว รีบชิงออกมาหาเสียงเสียก่อน ทำให้เสียงตอบรับแผ่วเบา

สำหรับ นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (Digital Wallet) แจก “เงินดิจิทัล” คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นไปตามสโลแกน “หยิบเงินในโลกยุคใหม่ใส่มือประชาชน” ดูเหมือน “เศรษฐา” ยังติดใจ ทันทีที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ปักธงเรื่องนี้เป็นนโยบายหลัก ประกาศดีเดย์ว่าจะใช้ไตรมาสแรกปี 67

แต่ก็มีคำถามตามมามากพอสมควรว่า เช่น กฎหมายให้ทำได้หรือไม่ เพราะเป็นการออกโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่มีกฎหมายให้พรรคการเมืองหรือเอกชนปั๊มเงินเอง งบประมาณจำนวนมหาศาลมาจากไหน ทำไมต้องใช้บล็อกเชนไม่ใช้แอพเป๋าตังค์ เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนแทนที่จะแจกแบบเอาเงินใส่มือโดยตรง

ที่สำคัญ มั่นใจได้อย่างไรว่า การทุ่มเม็ดเงินก้อนมหึมาลงไปครั้งเดียว จะได้ผล ถ้าไม่ได้ผล มีผลกระทบอะไรบ้าง คำถามเหล่านี้ยังเป็นโจทก์ที่พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ตอบกับสังคม

กล่าวสำหรับโครงการนี้ ประเมินว่ามูลค่าจะสูงถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทเลยทีเดียว เม็ดเงินจำนวนนี้ถือว่ามหาศาล นับเป็นการแจกเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียวจบ…ที่มากที่สุด โดยกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินดังกล่าว ให้ใช้กับสินค้าในชุมชนในรัศมี 4 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนผู้มีสิทธิ์ใช้บริการในกลุ่มนี้ประมาณกว่า 50 ล้านคนหรือ 85% ของประชากรไทยทั้งหมด

น่าสนใจว่า การแจกตูมเดียว 10,000 บาท ระยะเวลาใช้จ่ายภายในเวลา 6 เดือน เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมเศรษฐกิจครั้งใหญ่เป็น “พายุหมุนเศรษฐกิจ” ที่พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างก้าวกระโดดหลังจากซบเซามานาน

แต่ต้องเข้าใจว่า เงิน 560,000 ล้านบาทที่ใช้ในโครงการนี้ ไม่ใช่เงินสดที่ใส่ลงไป แต่เป็นเครดิต เป็นตัวเลขที่โอนกันตอนซื้อของจากร้านค้าในชุมชน เมื่อผู้ซื้อกับผู้ขายมีการทำธุรกรรมกันแล้ว ร้านค้าจึงมาขึ้นเป็นเงิน และเมื่อเกิดการซื้อขายแล้ว ก็ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นรายได้เข้ารัฐ ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นรายได้ส่วนหนึ่ง ที่จะมาชดเชยเงิน 560,000 ล้านบาทที่ตั้งไว้

แรกๆ นั้น พรรคเพื่อไทยโฆษณาว่า เม็ดเงินจำนวนเงิน 560,000 ล้านบาท จะหมุนเข้าสู่ระบบเกิดการหมุนเวียนแบบทวีคูณ 6 รอบหรือ 6 เท่า จะได้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการนี้ 3 ล้านล้านบาท หรือราวๆ 2.5% ของจีดีพี รวมกับของเดิมที่คาดว่าจีดีพีจะโต 2.5-3% ก็จะทำให้จีดีพีปีนี้โตขึ้นมาทันที ไม่ต่ำกว่า 5% แน่นอน

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ออกมายอมรับว่า โครงการนี้จะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหรือตัวคูณเพียง 2.7 เท่า เท่านั้น แต่มีงานวิจัยทั่วโลกระบุว่า ตัวคูณจริงๆ อยู่ระหว่างที่ 0 ถึง 0.7 เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น โอกาสที่จะเห็นจีดีพีโต 5% ตามที่พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าไว้ ก็คงเป็นไปได้ยากเช่นกัน

ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทย เชื่อว่านโยบายนี้ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว จะส่งผลให้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีอยู่แค่ 60% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ก็จะขยายการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อธุรกิจมีรายได้มากขึ้น ก็จะเสียภาษีนิติบุคคลมากขึ้น รัฐก็จะมีรายได้มากขึ้นตามมา เมื่อหักกลบลบกัน ก็อาจจะใกล้เคียงกับเงินที่ใช้จ่ายในโครงการนี้ ท้ายที่สุดรัฐอาจจะไม่ต้องใช้เงินใหม่เลยก็เป็นได้

แต่ในโลกความเป็นจริง อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด อย่าลืมว่า คราวนี้การแจกไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่จำเป็นจริงๆ แต่แจกแบบหว่านแห แจกทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะยากดี-มีจนอย่างไร ลำพังแค่คนที่ได้รับแจก มีทั้งจนสุดจนถึงรวยสุด ถ้าเงินที่แจกตกไปอยู่ในมือของ คนรวย ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน เงินหนึ่งหมื่นบาทแทบไม่มีความหมายอะไร คนเหล่านั้นอาจจะไม่ใช้เงินที่ได้รับ หรือใช้แต่ไปทดแทนแผนการใช้จ่ายเงินปกติของเขา ทำให้เกิดการลดการใช้จ่ายในอนาคตได้แทนที่จะเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน คนจน แม้เงินหนึ่งหมื่นบาทจะมีความหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่า เอาเงินที่ได้ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ บางคนอาจจะเอาเงินไปใช้หนี้ คนรุ่นใหม่อาจจะไปซื้อของออนไลน์ ที่ไม่ได้อยู่ในชุมชน ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีน ทำให้เม็ดเงินไม่ตกอยู่กับชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะคนสูงอายุ ที่มีฐานะยากจนในชนบท คนกลุ่มนี้ก็มีไม่น้อยในต่างจังหวัด ในถิ่นทุรกันดารอาจจะไม่มีร้านค้าในรัศมี 4 กิโลเมตร จะขยายรัศมีกว้างขึ้นหรือไม่ ทั้งหมดนี้คือโจทก์ที่พรรคเพื่อไทยต้องขบให้แตก

เหนือสิ่งใด หากภาษีที่คาดว่าจะเก็บได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เป็นไปตามเป้า หนีไม่พ้นต้องกู้เพิ่ม แต่จะกู้จากที่ไหนอย่างไร ก็คงต้องรอดูต่อไป แต่ก็มีแพลมออกมาว่า จะกู้จากรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านบาทก่อน แล้วจะใช้คืนทีหลัง แต่ถ้าต้องกู้เพิ่ม นั่นเท่ากับว่าตัวเลขหนี้สาธารณะที่จากเดิมอยู่ราวๆ 10 ล้านล้านบาท ต้องเพิ่มสูงขึ้น หรือราว 61% กว่าๆ ต่อจีดีพี จะเพิ่มเป็น 64% กว่าๆ ต่อจีดีพี

นโยบายนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเป็นการลงทุนเงินก้อนใหญ่มีความเสี่ยงสูง โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวถึงประเทศไทยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจถูกจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผสมชุดใหม่ อาจส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงขึ้น

ขณะที่การจะเพิ่มศักยภาพทางการคลัง หรือการรัดเข็มขัดทางการคลัง ก็มีข้อจำกัดจากคำมั่นสัญญาที่หาเสียงไว้ว่า จะเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่อาจจะสร้างแรงกดดันให้สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีสูงขึ้น

สิ่งที่ต้องคิด ในสถานการณ์เศรษฐกิจหลังโควิด ที่เริ่มจะกระเตื้องขึ้น มีความจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องเสี่ยงเอาเงินก้อนใหญ่ทุ่มลงไป แทนที่จะนำมาลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว หรือเก็บเป็นกระสุนสำรอง รับมือวิกฤติรอบใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ น่าจะดีกว่า

มาตรการนี้ถ้าได้ผล ก็คงเป็นแค่ระยะสั้นๆ แต่ภาระหนี้ที่ประชาชนต้องแบกรับนั้นระยะยาวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

………………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img