วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSธนาคารไร้สาขา..ทางออก“ดอกเบี้ยแพง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ธนาคารไร้สาขา..ทางออก“ดอกเบี้ยแพง”

เวลานี้เป็นห้วงเวลาที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานผลประกอบการ ธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มแรกๆ ได้ทยอยประกาศงบการเงิน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ปรากฏว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 10 แห่ง มีกำไรรวมกันสุทธิ 59,473.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี 66 ธนาคารพาณิชย์ มีกำไรรวมกันสุทธิ 181,391 ล้านบาท

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยประเมินว่า กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 66 จะทำได้ในกรอบประมาณ 1.86-1.91 แสนล้านบาท คาดว่ารายได้จากดอกเบี้ยสุทธิจะเติบโตต่อเนื่อง และเป็นแรงหนุนสำคัญของผลประกอบการ ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เพราะ “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” (NIM) ของแบงก์ไทยยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ กำไรส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ มาจากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ย ที่เป็นผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 2.50% ต่อปี

https://www.kasikornresearch.com/

น่าสนใจว่า สาเหตุที่ กนง.และแบงค์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็เนื่องมาจากเศรษฐกิจไทยได้ผูกติดอยู่กับเศรษฐกิจโลก ประกอบกับตอนนี้ ในสถานการณ์ทั่วโลกเกิดวิกฤติเงินเฟ้อรุนแรง ซึ่งเกิดจากราคาพลังงาน ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เศรษฐกิจต้องชะงักงัน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นหนทางเดียวสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้โดยไปกดเงินเฟ้อให้ต่ำลง

แต่มาตรการดังกล่าว ก็จะมีผลข้างเคียงตามมาไม่น้อย สมมติว่าถ้าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย 6% ถ้าประเทศอื่นๆ หรือประเทศไทยหากยังคงดอกเบี้ย 1% เหมือนเดิม เงินก็จะไหลออกไปแสวงหาประโยชน์ที่สหรัฐฯ ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า คนก็จะพากันถอนเงินจากไทย ไปกินดอกเบี้ยสหรัฐฯแทน เมื่อเงินไหลออกมากๆ ก็ย่อมกระทบกับ “ค่าเงิน” จะทำให้ “เงินบาทอ่อนค่า” แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า นั่นคือ ทุกครั้งที่แบงก์ชาติขึ้นนโยบาย ทำไมแบงก์พาณิชย์มีกำไรเพิ่มขึ้นทุกที ทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเป็นผลมาจาก “ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝาก” หรือที่เรียกว่า “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ” ในบ้านเราต่างกันค่อนข้างมาก

ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารจ่ายให้กับผู้ฝากเงินมากที่สุดอยู่ที่ 1.9% เท่านั้น แต่ดอกเบี้ยที่คิดจากผู้ที่มากู้ MRR สูงสุดอยู่ที่ 9% จะเห็นว่า “ห่างกันหลายเท่าตัว” แต่ธนาคารก็มักจะอ้างว่า มีต้นทุนที่เป็นค่าบริหารจัดการ ค่าความเสี่ยต่างๆ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิจริงๆ จะเหลือราวๆ 2.8% เท่านั้น แต่ถ้าเราเอาไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งของเรา อย่างมาเลเซีย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 2.1% สิงคโปร์ยิ่งน้อยกว่าแค่ 1.7% เกาหลีใต้ 1.6% จะเห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิน้อยกว่าเราทั้งนั้น ประเด็น “ส่วนต่างดอกเบี้ย” กลายเป็น “หนามยอกอกคนไทย” มานาน แบงค์ชาติเองก็ไม่เคยเข้าไปแตะเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ส่วนทางออกสำหรับเรื่องนี้ ต้องเพิ่มทางเลือกให้มากขึ้น ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงนโยบายเปิดให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นเปิดให้มีผู้เล่นเข้ามามากขึ้น โดยแบงก์ชาติได้เตรียมออกใบอนุญาตตั้งธนาคารที่เรียกว่า “เวอร์ชวลแบงก์” หรือ “ธนาคารไร้สาขา” ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายมหาศาล เนื่องจากใช้เทคโนโลยีเข้ามาให้บริการ ทำให้ใช้คนน้อยลง คาดว่าต้นทุนตกอยู่ราวๆแค่ 10% ของธนาคารรูปแบบเดิม นั่นหมายความว่า ถ้าจำนวนธนาคารมากขึ้น ต้นทุนก็จะลดลง และทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องการออกใบอนุญาตเวอร์ชวลแบงก์ หรือธนาคารไร้สาขานั้น เบื้องต้น แบงก์ชาติตั้งเป้าจะออกใบอนุญาต 3 ใบ แต่เป็นที่รู้กันว่า ธนาคารรายใหญ่แห่งหนึ่งตีตั๋วจองไว้แล้ว 1 ใบ นั่นเท่ากับว่า การแข่งขันก็น้อยลงไป เพราะคงไม่มีใครจะมาทำธนาคารไร้สาขา มาแข่งกับธนาคารเดิม ที่เป็นธนาคารแม่ ซี่งเป็นธุรกิจหลัก อันที่จริงใบอนุญาตที่ออกใหม่ ไม่ควรให้แบงก์เดิมได้ไป ควรให้เจ้าใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทเทคฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ แต่ถ้ายังให้รายเดิม แล้วจะเกิดการแข่งขันกันอย่างไร ทุกอย่างก็คงเหมือนเดิม

แม้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน แต่ก็มีความสำคัญต่อคนไทยอย่างมาก หากเรามี “ธนาคารไร้สาขา” เพิ่มขึ้น มีผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ใช่รายเดิมเข้ามา โดยมีเทคโนโลยีทันสมัยมาให้บริการเพื่อลดต้นทุน สิ่งที่จะได้คือ ทำให้การแข่งขันเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องทุ่มเพิ่มทรัพยากรลงไปในการขยายระบบธนาคารมากเกินไป ที่สำคัญจะทำให้ประชาชนกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ไม่ถูกขูดรีดเหมือนที่ผ่านมา

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img