วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSปลดแอกทาสยุคใหม่...ท้าทาย“เศรษฐา”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปลดแอกทาสยุคใหม่…ท้าทาย“เศรษฐา”

“คุณตา” ตัดสินใจจบชีวิตแลกเงินฌาปนกิจให้ “ยาย” จ่ายหนี้นอกระบบ หลังจากโดนเจ้าหนี้ตามทวงไม่หยุด  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาล เพิ่งประกาศแก้หนี้นอกระบบที่ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” เรียกกว่า “ทาสยุคใหม่” ไปไม่กี่วัน

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลประกาศ “สงครามกับความยากจน” ด้วยนโยบาย แก้หนี้นอกระบบ เป็น วาระแห่งชาติ เริ่มครั้งแรกในปี 2547 รัฐบาลไทยรักไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” มีนโยบาย ลงทะเบียนคนจน รัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ” ก็มี นโยบายการ ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ล่าสุดรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็มีนโยบาย แก้หนี้นอกระบบโดยประกาศนโยบาย 5 ด้าน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา “รัฐบาลเศรษฐา” ก็ได้ฤกษ์ประกาศศึกกับ “หนี้นอกระบบ” อย่างเป็นทางการด้วยการยึดอิมแพค เมืองทองเป็นที่ระดมพลบุคคลากรที่เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงาน เพื่อทำความเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแก้หนี้นอกระบบให้บรรลุผล โดยจับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติเน้นการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างผ่านธนาคารรัฐอีกครั้งแนวทางคล้ายๆ กับแนวทางรัฐบาลที่แล้ว

กล่าวสำหรับ “หนี้นอกระบบ” คือ หนี้ประเภทหนึ่งจากหนี้ทั้งหมด 4 ประเภทหลักๆ อาทิ หนี้สาธารณะ คือหนี้ของภาครัฐ หนี้ธุรกิจ เป็นหนี้ของบริษัทห้างร้านต่างๆ ส่วน หนี้ชาวบ้าน ถ้าเป็นหนี้ในระบบ เรียกว่า หนี้ครัวเรือน” ส่วนที่ไม่ได้กู้ยืมเงินผ่านระบบสถาบันการเงิน เรียกว่า “หนี้นอกระบบ” จึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานภาครัฐใดๆ การดูแลแก้ปัญหาจึงยากและซับซ้อนกว่าหนี้ประเภทอื่นๆ

รัฐบาลได้ประเมินหนี้นอกระบบไว้เพียง 50,000 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าต่ำมากๆ ขณะที่ สถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่ลงพื้นสำรวจใน 12 จังหวัด ระบุว่า มากกว่า 40% ของครัวเรือนที่ไปสำรวจ มีหนี้นอกระบบ โดยส่วนใหญ่กู้จากนายทุนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดที่สำรวจ

ขณะที่ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินตัวเลขหนี้นอกระบบว่า น่าจะมีสัดส่วน 30% ของจีดีพี เพราะอาชีพอิสระหลายอย่าง สภาพัฒน์ฯไม่ได้นำไปรวมอยู่ในตัวเลขจีดีพี เช่น พ่อค้าหาบเร่ คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ผู้ประกอบการอิสระ ลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนใหญ่มีหนี้นอกระบบ หากประเมินมูลหนี้เท่ากับ 30% ของจีดีพี หนี้นอกระบบก็จะมีมูลค่ากว่า 5.22 ล้านล้านบาท

ตัวเลขจาก สถาบันเศรษฐกิจป๋วย กับ รศ.ดร.อัทธ์ ต่างจากตัวเลขที่รัฐบาลประเมินค่อนข้างมากทีเดียว ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะหากกลัดกระดมเม็ดแรกผิดการแก้ปัญหาก็จะผิดทั้งหมด

วิธีการของเจ้าหนี้นอกระบบ จะใช้กลยุทธ์หลอกล่อกลุ่มลูกค้าที่ต้องการให้เข้ามาติดกับดัก เช่น การให้บริการแบบ “เงินด่วน” “ได้เงินไว” กู้เช้า-ได้บ่าย ไม่มีการตรวจประวัติและไม่ต้องยื่นเอกสารให้เสียเวลา  

ส่วนกลุ่มที่เป็นลูกหนี้เงินกู้นอกระบบ เช่น คนไม่มีงานประจำ จึงทำให้ไม่มีข้อมูลประวัติทางการเงินอย่างกลุ่มฟรีแลนซ์และพ่อค้า-แม่ค้า หรือเคยเป็นหนี้เสียมาก่อน รวมถึงกลุ่มที่กู้ในระบบจนเต็มวงเงินแล้ว กลุ่มที่ต้องการเงินด่วนจริงๆเช่น ต้องเข้าโรงพยาบาล ค่าเทอมลูก หรือบางทีต้องการวงเงินไม่มาก นำไปหมุนช่วงสั้นๆ ไม่อยากเสียเวลาไปกู้เงินในระบบ เป็นต้น

หนี้นอกระบบ จะมีดอกเบี้ยแอบแฝง เวลาโฆษณาชักชวนอาจบอกว่าดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ “รายวัน” ซึ่งคิดแล้วจะเท่ากับ 365% ต่อปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบที่เพดานอยู่ไม่เกิน 28% ต่อปี แถมบางแห่งยังคิดดอกเบี้ยแบบ “ดอกลอย” ยิ่งซ้ำเติมลูกหนี้หนักขึ้นไปอีก เมื่อดอกเบี้ยสูงและสัญญาไม่เป็นธรรม ลูกหนี้หลายรายที่จ่ายไม่ไหว จนเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ต้องใช้วิธีกู้หนี้ใหม่ไปจ่ายหนี้เดิม วนลูปไปเรื่อยๆ ติดอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบไร้ทางออก

จากงานวิจัยของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ปัญหาหนี้นอกระบบมักนำไปสู่อันตรายในชีวิตและทรัพย์สินของลูกหนี้ จากการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง เช่น การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ใน 12 จังหวัด พบว่าหนี้เฉลี่ยของลูกหนี้นอกระบบอยู่ที่ 54,300 บาทต่อคน เจ้าหนี้ส่วนมากเป็นนายทุนนอกพื้นที่ 32% แก๊งหมวกกันน็อก 30% นายทุนในพื้นที่ 27% ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-11% ต่อเดือน แต่ “แก๊งหมวกกันน็อก” คิดดอกเบี้ยโหดกว่าเฉลี่ย 20% ต่อเดือน

ที่น่าตกก็คือ เยาวชนอายุ 20–24 ปี 25–29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 5,000-10,000 บาท มีหนี้นอกระบบถึง 34% เฉลี่ยหนี้ 6,500-7,500 บาท อาชีพที่มีการกู้หนี้นอกระบบตํ่าที่สุดคือ ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีเพียง 30% เท่านั้น แต่อาชีพที่กู้เงินนอกระบบมากที่สุด คือ อาชีพค้าขาย 52% และ อาชีพอิสระ 50%

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงตลอดเวลาที่ผ่านมา เศรษฐกิจไม่ดี คนต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ แม้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า 20% ต่อเดือนก็ตาม นั่นหมายความว่า รายได้ทั้งหมดของประเทศ จะเหลือสำหรับใช้จ่ายน้อยลง เพราะต้องรับภาระหนี้สูงขึ้น

ความเสียหายที่เกิดจากปัญหาหนี้นอกระบบ ไม่ใช่แค่ชีวิตและทรัพย์สินชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังทำให้เศรษฐกิจโดยรวม เสียหายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง แต่น่าเสียดายที่ตลอดเวลา 22 ปีที่ “หนี้นอกระบบ” ก็ยังไม่ล้มหายตายจากไปจากสังคมไทย กลับเจริญเติบโตมีพัฒนาการที่ซัลซ้อนและรุนแรงขึ้นจึงเป็นโจทก์ที่ท้าทาย “รัฐบาลเศรษฐา” อย่างมาก

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img