วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVE“รถไฟจีน-ลาว” หนุนส่งออกสินค้าข้ามแดน เดือนแรก 3 แสนตัน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“รถไฟจีน-ลาว” หนุนส่งออกสินค้าข้ามแดน เดือนแรก 3 แสนตัน

โครงการรถไฟจีน-ลาว เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นรถไฟความเร็วสูง เพราะมีความเร็ววิ่งได้สูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งรถไฟความเร็วสูงต้องวิ่งได้ในระดับ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับรถไฟความเร็วสูงระหว่างเซี่ยงไฮ้-ปักกิ่ง วิ่งได้สูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และชินคันเซ็งของญี่ปุ่น วิ่งได้สูงสุด 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างคุนหมิงเมืองหลวงของมณฑลยูนนานกับเวียงจันทน์ แบ่งเป็นระยะทางในจีนประมาณ 600 กิโลเมตร และในลาว 414 กิโลเมตร

รถไฟจีน–ลาว รัฐบาลไทยมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันตกประเทศจีนมายัง สปป.ลาว และประเทศไทย เส้นทางรถไฟดังกล่าวมีความสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อมีการเชื่อมต่อโครงข่ายโดยสมบูรณ์จากจีน ลาวมายังไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เปิดเผยว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนมายัง สปป.ลาว และเมื่อเชื่อมกับประเทศไทยจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าตลอดเส้นทางได้ถึงร้อยละ 30-50

โดยใน 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานในส่วนนี้ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมมีการบริหารจัดการรองรับการขนส่ง เพื่อใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟสายนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่จะร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจในภูมิภาคให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน

อนุทิน ชาญวีรกูล

“ปี 64 มูลค่าการค้าไทย-ลาวส่งออกสูง 7 หมื่นล้าน”

ทั้งนี้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว รวมการนำเข้า-ส่งออกของประเทศ ในปีงบประมาณ 2564 มีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจากการส่งออกที่มากกว่าการนำเข้าถึง 6 เท่า แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศรวมถึงการเดินทางของประชาชน แต่การค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรหนองคาย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งของไทย-ลาว-จีน พบว่า ในปี 2564 การส่งออกสินค้ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 กว่าร้อยละ 23 โดยเพิ่มขึ้นกว่า 12,000 ล้านบาท ในขณะที่การนำเข้าปี 2564 ลดลงเพียงเล็กน้อยประมาณ 2,000 ล้านบาท คิดเป็นลดลงร้อยละ 8 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563

รถไฟจีน-ลาวหนุนส่งออกสินค้าผ่านชายแดนโต”

ส่วนสถานะการค้าและการขนส่งในปัจจุบันนับตั้งแต่โครงการรถไฟจีน–ลาว ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 จากสถิติการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนหนองคายในช่วงเดือนธันวาคมปี 2563 กับช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 (ช่วงที่มีการเปิดการให้บริการรถไฟลาว-จีน) พบว่า มีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 116,552 ตัน เป็น 304,119 ตัน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.64 พันล้านบาท เป็น 6.91 พันล้านบาท มูลค่านำเข้าส่งออกที่ด่านหนองคายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจากมีรถไฟลาว–จีนเกิดขึ้น ซึ่งเร็วกว่าช่องทางอื่น 1 วัน และมีค่าขนส่งถูกกว่าประมาณร้อยละ 25 และเมื่อสภาวะการณ์ของประเทศผ่านช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว คาดการณ์ว่ามูลค่าทางการค้าที่บริเวณด่านหนองคาย ผ่านโครงข่ายรถไฟไทย-ลาว-จีน จะสร้างมูลค่าทางการค้าเพิ่มขึ้น

สำหรับการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟจีน-ลาว มายังไทยนั้นมีสินค้าหลายชนิด ได้แก่ ผักผลไม้สดแช่เย็น สิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์เครื่องจักร เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนรถยนต์ ยางพาราและไม้แปรรูป

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟจีน-ลาว มายังไทย นายอนุทิน ยังได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมหารือเพื่อพิจารณาแผนการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน

“ตั้งคณะอนุกรรมการ-เสริมขบวนรถรองรับขนสินค้า”

นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามความก้าวหน้าสถานะการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดทำ Framework Agreement การขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน โดยการเชื่อมต่อการเดินทางข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย–เวียงจันทน์ ซึ่งในการเจรจาระหว่างประเทศนั้นให้ดำเนินการเจรจาบนพื้นฐานที่ไทย ลาว และจีนมีความเกี่ยวข้องและผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอาจจะยกระดับให้เป็นบันทึกข้อตกลงที่มีความผูกพันเพิ่มเติม

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กรณีที่ประเทศจีนมีการเปิดเดินรถไฟจีน–ลาว ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงไทย–จีนยังก่อสร้างไม่เสร็จนั้น เพื่อรองรับการขนส่งทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้จัดขบวนรถไฟเพิ่มเป็น 14 ขบวน จากเดิม 4 ขบวน ซึ่งสามารถรองรับการขนส่งออกผลไม้ได้เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียน ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า ผัก ผลไม้จากจีนจะเข้ามาตีตลาดไทยนั้นก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ต้องกำกับดูแล ทางกระทรวงพาณิชย์มีขั้นตอนขบวนการกำกับดูแลของเขาอยู่แล้วไม่ต้องกังวล ส่วนกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแลเรื่องการขนส่ง ซึ่งก็ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img