วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของเด็กและเยาวชนบนโลกออนไลน์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

การคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของเด็กและเยาวชนบนโลกออนไลน์

ในปัจจุบัน โลกเครือข่ายในยุคไร้พรมแดนนั้น มีบทบาทสำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรม การติดต่อสื่อสาร ค้นคว้าหาข้อมูล รวมถึงใช้เป็นฐานเก็บข้อมูลสำคัญต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็น “เครือข่ายนานาชาติ” ที่เกิดจากเครือข่ายเล็ก ๆ มากมาย รวมเป็นเครือข่ายเดียวกันทั้งโลก มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) ทวิตเตอร์ (Twitter) ยูทูป (Youtube) ติ๊กต่อก (TIK-TOK) ฯลฯ จึงเข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยม เป็นเสมือนอีกสังคมหนึ่ง

ทำให้ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นคนมีชื่อเสียงในโลกโซเชียลมีเดีย เป็น เนตไอดอล (Net Idol) ทำให้คนธรรมดาได้ใกล้ชิดกับคนมีชื่อเสียงหรือบุคคลสาธารณะ และเป็นช่องทางการทำธุรกิจ หรือการตลาดของผู้ประกอบการออนไลน์ด้วย

โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ปกครองสร้างเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมของลูก หรือนำภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหวของเด็กมาลงในโซเชียลมีเดีย สิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญซึ่งมีในรัฐธรรมนูญทุกฉบับนั้น มีหลักการที่สำคัญว่า มนุษย์ทุกคนจะมีสิทธิในชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน ฯลฯ และกฎหมายให้ความสำคัญกับ “การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล” รวมถึงการให้ข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

สิทธิส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญต่อเด็ก เพราะช่วยในการควบคุมการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวเด็ก ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาตามธรรมชาติของเด็ก เนื่องจากความเป็นส่วนตัวถูกนำมาเชื่อมโยงกับการสร้างอัตลักษณ์และความสามารถที่จะเข้าไปในความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เด็กๆ เหล่านี้ ยังไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียได้ด้วยตัวเอง

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี สามารถเล่นเฟซบุ๊ก ลงภาพในอินสตาแกรมเองได้ ดังนั้น ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของเด็กที่เราเห็นบนโลกออนไลน์ จึงเป็นการโพสต์โดยพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งการแชร์รูปหรือวีดีโอของเด็กๆ เหล่านี้นั้น อาจมีบุคคลเข้ามาชื่นชมและแชร์รูปหรือคลิปดังกล่าวในความน่ารักและความไร้เดียงสาของเด็ก แต่ในขณะเดียวกัน อีกแง่มุมหนึ่งนั้น อาจเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กในแง่ของข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นชื่อ อายุ เพศ ที่อยู่ ฯลฯ หรือถูกนำไปใช้ในการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ รวมถึงการนำภัยมาสู่เด็กโดยไม่รู้ตัว

เครือข่ายสังคมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาออนไลน์ กระดานข่าว หรือเว็บไซต์ต่างๆ มีผู้ใช้เป็นจำนวนมากที่เป็นเด็ก ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเด็กมากขึ้น หากนำไปใช้ในทางที่ผิด จะทำให้เกิดภยันตรายต่อเด็กตามมา เช่น กระทำการแสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากเด็กออนไลน์ การล่อลวงเด็ก เป็นต้น

สาเหตุที่สำคัญสาเหตุหนึ่งของปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็กโดยมีการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโดยมีลักษณะที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้ สำหรับกฎหมายไทยนั้น มีพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 27 “ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทำให้ เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณ หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ” ซึ่งในการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กนั้น ครอบคลุมถึงข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเทอร์เน็ตหรือไม่นั้น ยังไม่ตัวบทกฎหมายระบุไปอย่างชัดเจน

ทำให้เจ้าของเว็บไซต์หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ทำการจัดเก็บประมวลผลนำไปใช้หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กที่เข้าบริการอินเทอร์เน็ต โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยกระทำในลักษณะที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเด็กหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายได้

สำหรับเหตุผลที่ต้องคุ้มครองสิทธิเด็กนั้น เนื่องจากเด็กไม่รู้และไม่สามารถใช้สิทธิได้ด้วยตัวเอง ประเทศในสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน กฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวของเด็กจะเข้มงวดมาก โดยเฉพาะการลงรูปภาพหรือวีดีโอของเด็กบนสื่อออนไลน์ พ่อ-แม่หรือผู้ปกครองของเด็กอาจถูกเด็กฟ้องในภายภาคหน้า เนื่องจากการโพสต์ภาพของพวกเขาเมื่อครั้นยังเยาว์วัย พ่อ-แม่หรือผู้ปกครองของเด็กดังกล่าว อาจถูกตัดสินให้จำคุกได้ จากการละเมิดความเป็นส่วนตัวดังกล่าว และการโพสต์รูปหรือวีดีโอของเด็กบนสื่อออนไลน์ อาจทำให้กลุ่มคนที่มีรสนิยมชอบร่วมเพศกับเด็ก (Paedophiles) ใช้ประโยชน์จากภาพหรือวีดีโอของเด็กบนสื่อออนไลน์ ซึ่งจะนำอันตรายมาสู่เด็กในชีวิตจริงได้

ในประเทศเยอรมันนั้น กำหนดอายุของเด็กคือบุคคลที่อายุต่ำกว่า 14 ปี ห้ามพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็ก เช็คอิน (check-in) ว่าเด็กอยู่ที่ใดบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก หรือ อินสตาแกรม แม้เด็กจะอยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ตาม

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กบนโลกออนไลน์ (CHILDREN’S ONLINE PRIVACY PROTECTION ACT1998 หรือ COPPA) โดยกำหนดอายุของเด็ก คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีนั้น ไม่ควรอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก ซึ่งทางเฟซบุ๊กเองก็มีนโยบายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีมีบัญชี (account) เฟซบุ๊กเป็นของตนเอง สำหรับกรณีพ่อ-แม่หรือผู้ปกครองโพสต์รูปภาพหรือวีดีโอของเด็กนั้น ทางเฟซบุ๊กได้พิจารณาเรื่องการสร้างระบบ เพื่อแจ้งเตือนผู้ปกครองที่เอารูปลูกหลานขึ้นออนไลน์ โดยไม่ได้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้ ซึ่งทางเฟซบุ๊กได้เตือนเรื่องนี้ในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาเช่นกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนระหว่างความเป็นสาธารณะ (public) และความเป็นส่วนบุคคล (private) 

ส่วนอินสตาแกรม ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก ได้ออกนโยบายให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กบนโลกออนไลน์เช่นกัน โดยกำหนดว่าบุคคลที่มีบัญชีกับอินสตาแกรมได้จะต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไปหรือในบางกรณีที่มีคำสั่งศาลหรือกฎหมายควบคุม อาจบังคับให้เจ้าของบัญชีต้องมีอายุมากกว่านั้น หากสงสัยว่ามีคนแปลกหน้าหรือได้มีทำบัญชีของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี สามารถรีพอร์ตข้อมูลมาได้ ดังนั้นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี จึงไม่สามารถมีบัญชีส่วนตัวของตัวเองได้ หากมีทางอินสตาแกรมจะทำการลบบัญชีส่วนตัวดังกล่าว เหมือนกับกรณีที่เคยเกิดกับลูกหรือน้องของดารา บุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ควรมีบทบัญญัติของกฎหมายหรือกำหนดเรื่องนโยบายความเป็นส่วนตัวออนไลน์ที่ชัดเจนในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ของเด็ก อีกทั้งมาตรฐานในการสร้างและรักษาฐานข้อมูลที่เหมาะสมเพื่อปกป้องความลับการรักษาความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและที่สำคัญคือ ควรกำหนดมิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กทางโซเชียล มีเดีย โดยไม่คำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของเด็กทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

………………….

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัชชภร มหาแถลง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img