วันอังคาร, พฤษภาคม 7, 2024
หน้าแรกNEWS'วิษณุ'ย้ำชัดร่างพ.ร.บ.ตร.ใหม่ ไม่แยก'การสอบสวน'ออกไป
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘วิษณุ’ย้ำชัดร่างพ.ร.บ.ตร.ใหม่ ไม่แยก’การสอบสวน’ออกไป

“วิษณุ” ร่ายยาว อธิบายร่างพ.ร.บ.ตำรวจใหม่ ย้ำเปิดช่องโยกย้ายไม่เป็นธรรม ร้องเรียนได้ พร้อมเดินหน้าโอนย้าย “ตร.รถไฟ-ตร.ป่าไม้-ตร.สิ่งแวดล้อม-ตร.จราจร” กลับหน่วยงานตัวเอง ทั้งยืนยันไม่แยกการสอบสวนออกไป

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะมีการยุบบางกองบัญชาการ ว่า กองบัญชาการทุกอย่างมีครบ ไม่ได้ยุบอะไร เพียงแต่ไปเพิ่มความสำคัญในส่วนของ “สถานีตำรวจ” จากที่พ.ร.บ.เดิม ไม่เคยมีการระบุถึงสถานีตำรวจ แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดให้มีบทบาทหน้าที่และงบประมาณ รวมถึงบุคลากรอย่างเพียงพอ เพราะใกล้ชิดประชาชน อีกทั้งยังมีโอกาสให้เจริญเติบโต ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้แยกการสอบสวนออกจากตำรวจนั้น จากการศึกษาของกรรมการชุดต่างๆ เห็นว่า วิธีเช่นนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะต่อให้แยกไป สุดท้ายตำรวจก็ต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาสอบสวนอยู่ดี ดังนั้นเราจึงใช้วิธีคล้ายๆ กับข้อเสนอดังกล่าว คือให้การสอบสวน อยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ให้เป็น “หนึ่งแท่ง” ในจำนวน “ห้าแท่ง” อันประกอบด้วย แท่งสอบสวน, แท่งป้องกันและปราบปราม, แท่งอำนวยการ, แท่งบริหาร และแท่งวิชาชีพเฉพาะ โดยไม่ห้ามข้ามกันไปมาระหว่างแท่ง แต่มีเงื่อนไข เช่น ไปแล้วต้องต่อแถวอาวุโส

นายวิษณุ กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้ยังให้มีกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตำรวจ (กพค.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเสร็จสิ้น ใครรู้สึกไม่เป็นธรรม ให้ส่งเรื่องมาที่ กพค. ตรวจสอบ ถ้าพบว่าไม่เป็นธรรม ก็สามารถส่งเรื่องต่อไปยังศาลปกครองได้ แทนวิธีการเดิมที่ให้ส่งเรื่องไปยังศาลปกครองทางเดียว รวมถึงอยากให้มีคณะกรรมการระดับชาติ คือ คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับตำรวจ (กร.ตร.) ที่จะรับเรื่องจากประชาชนที่รู้สึกว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เป็นธรรม โดยมีจเรตำรวจเป็นฝ่ายเลขาฯ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกรณีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) กับคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่มีหน้าที่ใกล้เคียงกัน แล้วมีการเมืองเข้ามาแทรก จึงปรับปรุงให้เหลือเพียง กตร. เอาการเมืองออกให้หมด เหลือเพียงนายกรัฐมนตรีคนเดียว รวมถึงปฏิรูปการแต่งตั้งโยกย้าย จากเดิมที่หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายอยู่นอกกฎหมาย ทำให้เปลี่ยนได้ทุกปี ครั้งนี้เรานำมาไว้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เช่น ระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นไป ให้ยึดอาวุโส 100 เปอร์เซ็นต์ ระดับผู้บัญชาการลงมาถึงผู้บังคับการ ยึดอาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่านั้นลงมายึดอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตำรวจไม่ควรต้องเสียกำลังไปดำเนินการ โดยจะให้โอนกลับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจสิ่งแวดล้อม และตำรวจจราจร โดยจะให้ “ตำรวจจราจร” โอนกลับไปอยู่ในท้องถิ่นที่เป็นเทศบาลนครภายใน 5 ปี “ตำรวจป่าไม้” ให้โอนไปภายใน 1 ปี และ “ตำรวจสิ่งแวดล้อม” ให้โอนภายใน 2 ปี รวมถึงสนับสนุนให้มีตำรวจไม่มียศมากขึ้นและต้องเสร็จภายใน 1 ปี เช่น ตำรวจที่เป็นหมอ โดยจะให้ค่าตอบแทนแทนการให้ยศ เพราะเมื่อมียศจะผูกกับตำแหน่ง เช่น หมอที่เป็นพ.ต.ท. จะเป็นพ.ต.อ.ไม่ได้ ถ้าตำแหน่งไม่ว่าง ถ้าไม่มียศจะเติบโตได้โดยไม่ติดอะไร ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อเข้าสภาก็สามารถปรับปรุงได้

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ร่างพ.ร.บ.ตำรวจเป็นเรื่องขององค์กร แต่ยังมีเรื่องใหญ่ คือ การสอบสวน ซึ่งจะมีร่างพ.ร.บ.ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง แต่ยังรอไว้ก่อน ให้ตกผลึก ยิ่งมีคดีบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ขึ้นมา ก็ให้ชุดของนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มาทบทวนอีกครั้ง และเหตุผลหนึ่งที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไปไม่ได้ เพราะยังมีความเห็นแย้งจากตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งมีเหตุผล เช่น เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาในประเทศไทย มีทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำไมพ.ร.บ.สอบสวนจึงกำหนดไว้เพียงตำรวจ แต่หน่วยงานอื่นไม่ต้องทำตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย รวมถึงยังมีวิธีการสอบสวนต่างๆ ที่ปัจจุบันถือว่าดี แต่ตำรวจขอให้ช่วยพูดถึงเรื่องงบประมาณด้วย และอีกเหตุผลหนึ่งเมื่อโครงสร้างยังไม่ยุติพ.ร.บ.ตำรวจที่เป็นถือเป็นฝาแฝด ก็ต้องรอให้เรื่องโครงสร้างยุติก่อน.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img