วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกHighlightเงินบาทกลับทิศแข็งค่า หลังดอลลาร์อ่อน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทกลับทิศแข็งค่า หลังดอลลาร์อ่อน

เงินบาทเปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” หลังดอลลาร์อ่อน จับตาประชุมบีโอเจคาดใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย แนะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากดอลลาร์อ่อนค่าและราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยการแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง โดยเฉพาะ หากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ย้ำจุดยืนใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง (หลังจากที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นเดียวกับเงินบาท)

โดยต้องจับตาโซนแนวรับสำคัญของเงินบาทแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ว่าเงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดระดับดังกล่าวได้หรือไม่ ทั้งนี้ บรรดาผู้นำเข้าอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้การแข็งค่าต่อของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจแข็งค่าใกล้โซนแนวรับได้ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) อีกทั้งในฝั่งตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง ก็เริ่มมีทิศทางที่สดใส หลังธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามคาด ทำให้เงินบาทก็อาจได้รับอานิสงส์แข็งค่าขึ้น ตามทิศทางสกุลเงินหยวนของจีน รวมถึงหากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้

นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เพราะหากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต่อ เราคาดว่าผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรเพิ่มเติม และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท โดยแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย

รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม BOJ และอาจอยู่ในกรอบ 34.45-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ

มุมมองของผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ต่างเชื่อว่า เฟดจะไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีก 2 ครั้ง ตาม Dot Plot ใหม่ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ออกมาแย่กว่าคาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง โดยเน้นซื้อ หุ้นเทคฯ ใหญ่เป็นหลัก อาทิ Microsoft +3.2%, Meta +3.1% ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.22%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.13% กดดันโดยการขึ้นดอกเบี้ย +25bps ล่าสุด และการส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการขายทำกำไรหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในสัปดาห์นี้ (Kering -1.3%, Anglo American -0.10%)

ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่แน่ใจต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งของเฟดในปีนี้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาดบ้าง โดยเฉพาะในส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการเข้าซื้อ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 3.72% หลังปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านแถวระดับ 3.85%

ด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงชัดเจนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) หลัง ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะย่อตัวลงหลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด แต่ทว่า การพลิกกลับมาอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงหลังตลาดรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวด์ขึ้นทดสอบโซน 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรทองคำ หลังจากได้เข้าซื้อทองคำในช่วงที่มีการย่อตัวลงมาและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจมีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเรามองว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยจะ“คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% และยังคงตรึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไว้ที่ระดับ 0.00%+/-0.50% จนกว่า BOJ จะมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มอยู่ใกล้ระดับ 2% ได้ในระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่า 3.5% ก็ตาม แต่ BOJ ยังคงกังวลว่า อัตราการเติบโตของค่าจ้างยังไม่สูงพอที่จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับ 2% ได้ในระยะยาว

ส่วนยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ก็จะช่วยหนุนให้ ECB มีโอกาสเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) จนถึงระดับ 3.75% ได้เป็นอย่างน้อย

ขณะที่สหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ซึ่งในรายงานเดียวกันนี้ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตาสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อผ่าน คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img