วันพุธ, พฤษภาคม 1, 2024
หน้าแรกHighlight'หมอธีระ'แนะ4วิธีรับมือโควิด ขออย่าตีตราทางสังคมผู้ติดเชื้อ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘หมอธีระ’แนะ4วิธีรับมือโควิด ขออย่าตีตราทางสังคมผู้ติดเชื้อ

“หมอธีระ” เตือนโควิดระลอกสอง หนักกว่ารอบแรก เหตุผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อย ไปแพร่ต่อให้คนอื่น เกิดจากความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน ตะลอนไปทั่ว สังสรรค์ปาร์ตี้ แนะ 4 วิธีรับมือ ต้องวางแผนการใช้ชีวิต จัดการการเงินให้ดี ป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากเสมอ ไม่ตะลอนไปไหนโดยไม่จำเป็น และติงสื่อ ไม่ควรแพร่ข่าวที่ทำให้เกิดการตีตราทางสังคม สำหรับคนที่ติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 25 มกราคม 2564… เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 435,016 คน รวมแล้วตอนนี้ 99,691,309 คน ตายเพิ่มอีก 9,092 คน ยอดตายรวม 2,136,949 คน

อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 136,706 คน รวม 25,676,925 คน ตายเพิ่มอีก 2,050 คน ยอดตายรวม 429,143 คน, อินเดีย ติดเพิ่ม 12,921 คน รวม 10,668,356 คน, บราซิล ติดเพิ่มถึง 28,323 คน รวม 8,844,577 คน, รัสเซีย ติดเพิ่ม 21,127 คน รวม 3,719,400 คน, สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 30,004 คน รวม 3,647,463 คน, อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกัมพูชา ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ …สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 476 คน ตายเพิ่มอีก 17 คน ตอนนี้ยอดรวม 137,574 คน ตายไป 3,062 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%…

วิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่เราอาจต้องเผชิญ…หลักการและเหตุผล:

1.ปัญหาการระบาดซ้ำระลอกสองของไทยนี้หนักกว่าระลอกแรก ดังจะเห็นได้จากจำนวนการติดเชื้อที่สูงมากกว่าเดิมหลายเท่า ดังจะเห็นได้จาก 15 มีนาคม 2563 ถึง 15 เมษายน 2563 มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2,529 คน ในขณะที่ 19 ธันวาคม 2563 ถึง 19 มกราคม 2564 มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 8,594 คน

2.การระบาดครั้งนี้ กระจายไปทั่วประเทศ และมีทั้งการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงมากมายหลายกลุ่มในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ตั้งแต่คนไทยและแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง ปาร์ตี้บิ๊กไบค์ สถานบันเทิง บ่อนการพนัน โรงงาน และที่น่ากลัวคือการติดเชื้อจากการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั่วไปในสังคม ดังจะเห็นได้จากการติดเชื้อในหมู่สมาชิกในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย ที่ทำงานหรือระหว่างการทำงานที่ไปพบปะลูกค้ามากหน้าหลายตา ตลอดจนการเดินทางของผู้ติดเชื้อที่กระจายตัวไปทุกที่่ ทั้งห้าง ตลาด โรงหนัง วัด งานสังคมหลากหลายชนิด รวมถึงธนาคาร ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ

3.มาตรการที่ดำเนินการไปนั้น ยังไม่อาจหยุดการเคลื่อนที่ของประชากรทั้งกลุ่มเสี่ยงและคนทั่วไปได้ แม้จะมีการรณรงค์ขอความร่วมมือมากมาย ก็ได้เพียงบรรเทา แต่ไม่สามารถหยุดวงจรการแพร่ระบาดได้อย่างแท้จริง

4.เคสติดเชื้อจำนวนมาก ไม่ได้ถูกตรวจในระบบที่รัฐดำเนินการ สังเกตได้จากประวัติการตรวจพบว่าติดเชื้อ เพราะเดินทางไปขอตรวจเอง เนื่องจากกังวล สงสัย หรือมีอาการมาสักช่วงเวลาหนึ่งแล้วไม่หาย สะท้อนถึงข้อจำกัดของระบบการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่อย่างเพียงพอ ประกอบกับตัวเลขจำนวนการตรวจโรคต่อประชากร 1,000 คนของไทยนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการส่งตรวจพอๆ กับไทย ก็มีจำนวนการตรวจมากกว่าไทยหลายเท่า เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

5.ที่น่าห่วงมากคือ ผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อย ที่แพร่ไปให้ผู้อื่นในสังคม จากการประพฤติปฏิบัติที่เกิดความเสี่ยง ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงาน ตะลอนไปหลายต่อหลายที่ สังสรรค์ปาร์ตี้ และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ รู้ทั้งรู้ว่าไปพื้นที่เสี่ยงมาแต่ไม่กักตัวอย่างเคร่งครัด หรือบางคนขนาดมีอาการคล้ายไข้หวัด ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์กันมากมายว่าเป็นอาการโควิดได้ ก็ยังดำเนินชีวิตไปแบบปกติ จนเวลาผ่านไปหลายวันจึงค่อยไปตรวจ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่วงกว้าง ยากที่ระบบการติดตามค้นหาผู้สัมผัสความเสี่ยงจะตามได้อย่างครบถ้วน และทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ไปหลายระลอก

6.การค้นหาเชิงรุกในลักษณะทำการสุ่มตรวจนั้น เหมาะสำหรับสถานการณ์ที่บ้านเมืองปกติ โรคระบาดควบคุมได้ดีแล้ว เพื่อการเฝ้าระวัง ดูจุดที่อาจมีความเสี่ยง แต่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีโรคระบาดกระจายไปทั่ว ดังที่เห็นอยู่ในหลายจังหวัดตอนนี้ และหากทำการสุ่มตรวจ เพื่อจะนำมาใช้กำหนดมาตรการผ่อนคลาย อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแปลผลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นอกจากนี้หากสื่อสารสาธารณะก็อาจทำให้ risk perception ลดลง และก่อให้เกิดความประมาทในการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยต้องไม่ลืมว่าประชาชนจากต่างพื้นที่ยังสามารถเดินทางไปมาหากันระหว่างจังหวัดได้ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง ตัดสินใจให้รอบคอบ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ฉากที่เราอาจเผชิญได้ในอนาคตและควรพิจารณาวางแผนจัดการล่วงหน้า:

1.พลุใหญ่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตเมือง และเขตอุตสาหกรรม หากไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้

2.ภูมิศาสตร์การระบาดของโรค หรือ epidemic geography ของประเทศจะเปลี่ยนไปในระยะยาว เนื่องจากจะมีการติดเชื้อรายวันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ จากการที่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ หากพื้นที่ใดติดเชื้อบ่อยหรือมาก อาจได้รับการตีตราเป็นแดนดงโรคหรือพื้นที่เสี่ยง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย และระบบธุรกิจอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในระยะยาวได้

3.การระบาดซ้ำซากอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะที่ระลอกสองถูกกดลงในระดับหลักหน่วยหรือหลักสิบหรือหลักร้อย โดยระยะเวลาและความรุนแรงจะแปรผันตามระดับที่กดได้

แนวทางการเตรียมรับมือ:

1.ขยายระบบบริการตรวจโควิดให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะตรวจประชากรได้อย่างน้อย 2 ครั้งต่อคนต่อปี

2.ปฏิรูปรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ ท่องเที่ยว อาหาร และสถานบันเทิง ให้เน้นความปลอดภัยอย่างถาวร เพราะศึกนี้มีแนวโน้มจะต้องสู้ระยะยาว

3.รูปแบบการทำงานในสถานที่ทำงานทุกประเภท จำเป็นต้องขันน็อตเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สถานพยาบาล” ทุกแห่ง การตรวจคัดกรองโรคจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลและก่อนผ่าตัด

4.ประชาชนควรตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหา และวางแผนการใช้ชีวิต การทำงาน และการจัดการการเงินให้ดี จำเป็นต้องประหยัดเท่าที่สามารถจะทำได้ ที่สำคัญที่สุดคือ ป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ใส่หน้ากากเสมอ ไม่ตะลอนโดยไม่จำเป็น อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ล้างมือทุกครั้งที่จับสิ่งของสาธารณะ ไม่กินดื่มในร้าน ซื้อกลับบ้านดีที่สุด ลดละเลี่ยงงานกิจกรรมสังคมที่มีคนเยอะๆ และคอยสังเกตอาการตนเองและสมาชิกในครอบครัว หากไม่สบาย ต้องหยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจรักษา ขอให้พวกเราปลอดภัยไปด้วยกัน

รศ.นพ.ธีระ ยังโพสต์อีกข้อความว่า…ไม่ควรเผยแพร่ข่าวในลักษณะที่จะก่อให้เกิดการตีตราทางสังคม ควรนึกถึงใจเค้าใจเรา ไม่มีใครอยากทำให้คนอื่นเดือดร้อน เราควรเห็นอกเห็นใจและดูแลกันและกัน สื่อมวลชนทุกแขนงควรนำเสนอความรู้เชิงวิชาการ และวิเคราะห์ เพื่อให้คนในสังคมได้เรียนรู้ และพัฒนาสมรรถนะของตนเพื่อรับมือโรคระบาดและภัยคุกคามในอนาคต เหตุการณ์ที่เกิดการแพร่เชื้อจากคนติดเชื้อไปให้คนอื่นๆ จำนวนที่มากกว่าปกตินั้น เราเรียกว่า superspreading event โดยอาจมาจากคนเดียวหรือหลายคนก็เป็นได้ ยากที่จะพิสูจน์แบบฟันธง 100% สิ่งที่เราควรทำคือ ป้องกันตัวให้ดี อย่าให้ติดเชื้อหรือไปแพร่ให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัว ปัจจุบันเราแต่ละคนล้วนมีความเสี่ยงนะครับ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img