วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกHighlight“ศบค.”ปัดข้อเสนอล็อคดาวน์กรุงเทพฯ กลัวแรงงานกลับตจว.ยิ่งทำให้แพร่เชื้อ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ศบค.”ปัดข้อเสนอล็อคดาวน์กรุงเทพฯ กลัวแรงงานกลับตจว.ยิ่งทำให้แพร่เชื้อ

“ศบค.” ปัดข้อเสนอให้ “ล็อคดาวน์กรุงเทพฯ” หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง จนเตียงผู้ป่วยมีไม่พอ “หมอทวีศิลป์” ยกเหตุคนกรุงฯมีอยู่จริงไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างจังหวัด ถ้าปิดกรุงเทพฯก็ต้องเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาจะยิ่งทำให้ติดเชื้อในต่างจังหวัดได้ ย้ำต้องเข้มบับเบิ้ลแอนด์ซีล จัดการเฉพาะแหล่งรังโรค

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “ศบค.” กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากและมีผู้ป่วยวิกฤติ ในขณะที่จำนวนเตียงผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวิกฤต มีไม่เพียงพอว่า สำหรับผู้ป่วยที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ มีความชุกอยู่ที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งในที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้พูดคุยกันว่า มีผู้ป่วยอยู่จำนวนหนึ่งที่รอเตียง และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เข้าสู่โซนสีเขียวแล้ว ที่บางรายอาการไม่มาก ทางพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) ได้มอบให้ทางกรุงเทพฯพยายามเปิดฮอสปิเทล (Hospitel) และให้คนไข้กลุ่มเหล่านี้ ย้ายเข้าไปอยู่ได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนที่สองคือโซนสีเหลืองและโซนสีแดง ได้มีการพูดคุยกันว่าศักยภาพของภาครัฐแน่นหมดแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าของภาคเอกชนจะมีเตียงว่าง แต่ส่วนที่จะเป็นคอขวด คือจะไม่มีบุคลากรจากภาครัฐเพียงพอที่จะมาดูแล จึงเปิดช่องทางว่า ยังมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลเอกชน และกลไกการบริหารจัดการต่างๆ จะต้องเปลี่ยนไปจากภาคปกติ เพราะเรากำลังเจอกับสถานการณ์วิกฤติ จึงต้องใช้รูปแบบใหม่ๆ เข้ามา พล.อ.ณัฐพ จึงได้ให้โจทก์ไปกับทางกรุงเทพฯได้สร้างโมเดลใหม่ๆ ขึ้น โดยดึงศักยภาพของหน่วยงานเอกชน เพื่อสร้างไอซียูเพื่อดูแลผู้ป่วยหนักที่อยู่ในภาคสนาม แต่อยู่นอกตัวโรงพยาบาล

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีข้อเสนอจากทางแพทย์ ต้องการให้ล็อคดาวน์กรุงเทพฯอย่างน้อย 7 วัน เพื่อลดการเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เราได้รับทราบแล้วว่าการล็อคดาวน์เป็นเรื่องที่ได้ผลดี ในทางปฏิบัติในปัจจุบันนี้เราก็ดำเนินการอยู่ แต่เป็นลักษณะเฉพาะจุด-เฉพาะที่ เกิดเหตุตรงไหนก็จัดการตรงนั้น ดังนั้นต้องพิจารณาไตร่ตรองกันอย่างดี การปิดกรุงเทพฯอย่างที่ทราบกันว่า คนกรุงเทพฯจริงๆ ไม่ได้มีมาก แต่จะเป็นแรงงานที่มาจากต่างจังหวัด ถ้าปิดกรุงเทพฯอาจจะเป็นการเคลื่อนย้ายกลับไปต่างจังหวัด ทำให้เกิดการติดเชื้อในต่างจังหวัดด้วยก็ได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จึงต้องผสมผสาน และบับเบิ้ลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) เป็นเรื่องที่ยาก เพราะกรุงเทพฯมีจำนวนคนเยอะกว่า มีความซับซ้อนขององค์กร ของสถานที่ ก็มีมากกว่า ดังนั้นการแบ่งเขตในการดำเนินการ ขึ้นอยู่กับรองปลัดกรุงเทพฯที่เป็นคนคุมโซนแต่ละที่ ซึ่งผอ.ศปก.ศบค. ได้กำชับว่า หากเกิดแหล่งรังโรคขึ้นที่ไหน ให้จัดการเฉพาะที่ ดังนั้นข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากบุคลากรทางการแพทย์ จึงนำมาสู่การคิดหนทางหาทางปฏิบัติให้ได้ผสมผสานกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้ไปด้วยกันได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในต่างจังหวัด

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img