วันพุธ, พฤษภาคม 8, 2024
หน้าแรกNEWSครม.เคาะร่างยุทธศาสตร์ฯการฟอกเงินร่วมมือนานาชาติต่อต้านการก่อการร้าย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ครม.เคาะร่างยุทธศาสตร์ฯการฟอกเงินร่วมมือนานาชาติต่อต้านการก่อการร้าย

ครม.ผ่านร่างยุทธศาสตร์การป้องกันปราบและปรามการฟอกเงินฯ พ.ศ.2565-2570 ผสานความร่วมมือนานาชาติต่อต้านการก่อการร้าย

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2565 – 2570 (ยุทธศาสตร์ด้าน Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: (AML/CFT) ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสามารถรับมือกับความเสี่ยงภัยคุกคามจากอาชญากรรมการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่างยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ พ.ศ.2565-2570 นี้ จะขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นเลิศด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Money Laundering, Terrorism Financing and Proliferation Financing: ML/TF/PF) อย่างมีมาตรฐานสากล” โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานเชิงบูรณาการอย่างเหมาะสมภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ผลักดันมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของไทย ให้มีประสิทธิผลตามมาตรฐานสากล อาทิ พัฒนามาตรการเชิงรุกในการป้องกันอาชญากรรมที่มีความเสี่ยงสูง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ทั้งในและต่างประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อาทิ แสวงหาเครือข่ายความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เพื่อสร้างความร่วมมือ ความช่วยเหลือทางอาญา และการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเชิงรุก ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมมาตรการและระบบการกำกับดูแลของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ อาทิ ส่งเสริมและพัฒนากลไกในการตรวจสอบและการกำกับร่วม ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของหน่วยงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ และแนวทางการประกอบธุรกิจแบบใหม่ เพื่อมุ่งสู่การดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ในรูปแบบดิจิทัล อาทิ พัฒนาและนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความร่วมมือและเผยแพร่ข้อมูลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงสู่ภาคประชาสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาองค์กรสู่องค์กรที่มีสมรรถนะสูงด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของไทยให้มีประสิทธิผล อาทิ 1.ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภารกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 2.ทบทวนและปรับปรุงกรอบอัตรากำลังให้เหมาะสม

นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างยุทธศาสตร์ฉบับนี้ คือ ประเทศไทยมีผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายที่ดีขึ้น โดยปรับระดับจากกลุ่มติดตามแบบเฝ้าระวัง เป็นกลุ่มที่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในระดับดี

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img