วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกHighlightเหมืองอัคราเดือด“จิราพร”ซัดลุอำนาจ นายกฯสวนไม่ได้แก้ปัญหาด้วยอำนาจ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เหมืองอัคราเดือด“จิราพร”ซัดลุอำนาจ นายกฯสวนไม่ได้แก้ปัญหาด้วยอำนาจ

เผือกร้อนๆ “เหมืองอัครา” หลัง “จิราพร” เปิดประเด็นอัดนายกฯลุแก่อำนาจ ใช้ม.44 สั่งให้ยุติกิจการ จนถูกฟ้อง จนเสียค่าโง่ โยนภาระให้ประเทศ เจอ “บิ๊กตู่” สวนกลับ ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยอำนาจ แต่ต้องมาแบกรับปัญหาโกงจำนำข้าวและบ้านเอื้ออาทรของรัฐบาลอื่น “สุริยะ” ยันไม่ได้แลกเปลี่ยนถอนฟ้องอนุญาโตตุลาการ

เมื่อวันที่ 17 ก.พ.64 ที่รัฐสภา น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ความเสียหายของแผ่นดินของแผ่นดิน เกิดจากน้ำมือและการตัดสินใจที่ผิดพลาดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยจุดเริ่มต้นมาจากการรัฐประหารปี 2557 ทำให้ประเทศได้ผู้นำที่ลุแก่อำนาจ เสพติดการใช้อำนาจที่ประชาคมโลกไม่ยอมรับ สร้างความเสียหายต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การกระทำที่ลุแก่อำนาจครั้งนั้นมีผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นเดิมพัน ซึ่งตนกำลังพูดถึง “คดีเหมืองทองอัครา” พล.อ.ประยุทธ์ หรือหัวหน้าคสช.ขณะนั้น ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ออกคำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ส่งผลให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต้องยุติกิจการ รวมทั้งเป็นเหตุให้บริษัทบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ตัดสินใจฟ้องราชอาณาจักรไทยและมีการประเมินว่า คดีนี้ไทยอาจจะแพ้ได้และต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 22,500 ล้านบาท ดังนั้นจำเป็นต้องอภิปรายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไม่ให้พล.อ.ประยุทธ์นำผลประโยชน์ของชาติ หรือทรัพยากรของชาติไปแลกกับต่างชาติ เพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิด

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ในวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ในการประชุมร่วมรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงแทนว่ารัฐบาลไทยมีโอกาสชนะ เพราะจากการตรวจสอบของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า บริษัทดังกล่าวทำผิดเงื่อนไข คือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯไม่สามารถดูแลความเรียบร้อยและทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ จึงเป็นเหตุให้ต้องสั่งปิดเหมืองแร่ แต่คำชี้แจงไม่เห็นความจริง เพราะเมื่อปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ให้ 4 กระทรวง คือกระทรวงอุตสาหกรรม, สาธารณสุข, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทดังกล่าว และมีการตั้งคณะทำงานขึ้นหลายคณะ เพื่อตรวจสอบแล้วเสร็จ และผลออกมาว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ เรื่องแนวทางแก้ไขผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งมีสาระสำคัญว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ปี 2559 กรมอุตสาหกรรมและกรมเหมืองแร่ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 การปิดเหมืองแร่ว่าหากการใช้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสต์รองรับชัดเจนจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและไม่เห็นด้วยกับการนำมาตรา 44 มาบังคับใช้กับกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ ได้มีการส่งผลการประชุมดังกล่าวไปยังพล.อ.ประยุทธ์ โดยได้แนบสองแนวทาง คือ การใช้กฎหมายตามปกติและดำเนินตามขั้นตอนและการใช้อำนาจ มาตรา 44 ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ทั้งนี้ แม้จะมีหน่วยงานคัดค้าน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ยังใช้ มาตรา 44 และการที่นำหลักฐานมาแสดงไม่ใช่เพื่อปกป้องบริษัทคิงส์เกตฯ แต่ต้องการให้เห็นถึงความชอบธรรมการใช้อำนาจที่ไร้จิตสำนึกความรับผิดชอบร้ายแรงต่อประเทศ และนำมาสู่การฟ้องร้อง

น.ส.จิราพร กล่าวว่า มีกระแสข่าวในช่วงเดือนก.ย. 2563 ที่รัฐบาลจะให้บริษัทอัคราฯได้รับอนุญาตให้นำผงทองคำและเงินออกมาจำหน่าย รวมถึงได้อาชบัตรพิเศษในการสำรวจแร่ทองคำเพิ่มอีก 44 แปลงและพล.อ.ประยุทธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาแก้ข่าวในเรื่องนี้ว่าเป็นคำขอเดิมของบริษัทอัคราฯในปี 2546 เมื่อไทยมีพ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่ จึงดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ทั้งนี้ในข้อมูลเอกสารที่ตนมีชี้ให้เห็นว่าไม่ใช้การดำเนินการที่ปกติ แต่เป็นประโยชน์ที่ประเทศไทยให้บริษัทคิงส์เกตฯ เพื่อให้ดำเนินการถอนฟ้อง ทั้งนี้ในการประชุมครม.เดือนมิ.ย. 2563 มีมติปลากดในเอกสารลับที่สุดของรายงานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯ โดยไฮไลท์ในหนังสือเขียนไว้ว่า หากตกลงกันได้บริษัทคิงส์เกตฯต้องถอนคดีจากอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเอกสารนี้ชี้ชัดว่าพล.อ.ประยุทธ์ รับทราบรู้เห็นเป็นใจว่าไทยแพ้คดีและมอบหมายให้หน่วยงานเจรจาเพื่อยอมความ มอบนโยบายให้เอาทรัพยากรของประเทศประเคนให้เพื่อให้เขายอมถอน อย่างไรก็ตาม หากจะสู้คดีมีที่ไหนจะต้องยอมความ ซึ่งสิ่งที่ดำเนินการย้อนแย้งกับที่ได้ลั่นวาจาไว้ได้สั่งการไปแล้วว่าภายในสิ้นปี 2559 จะไม่มีการทำเหมืองแร่อีกต่อไป และต้องไม่มีเหมืองทองอีกต่อไป

“ถ้าไทยต้องแพ้คดีและจ่ายค่าโง่ ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จดจำไว้ในมโนสำนึกว่ากำลังทำลายอนาคตของลูกหลานและคนไทยทั้งประเทศเพียงเพราะการลุแก่อำนาจ จะเป็นบทเรียนราคาแพงและเจ็บปวดของประเทศ ท่านปัดความรับผิดชอบครั้งนี้ไม่ได้ ต้องตอบให้ได้ว่าจะสู้คดีให้ถึงที่สุดแบบไปตายเอาดาบหน้าหรือจะยอมเอาทรัพยากรของประเทศประเคนให้ต่างชาติเพื่อแลกกับการถอนฟ้อง ถ้าท่านเดินหน้าต่อสู้คดีจนถึงที่สุดแล้วแพ้ อยากถามว่าจะเอาเงินส่วนใดไปจ่าย จะเอางบแผ่นดินหรือเงินส่วนตัว และถ้าท่านเลือกใช้วิธีการเจรจาต่อรองเอาผลประโยชน์ของประเทศ แผ่นดินไปยกให้บริษัทเอกชน พรรคเพื่อไทยจะจับตาประเด็นนี้ เพราะแนวโน้มไทยมีโอกาสแพ้คดี 100 เปอร์เซ็นต์ บทสรุปของคดีนี้ประเทศไทยต้องจ่ายค่าโง่อย่างไม่มีทางเลือกหรือหลีกเลี่ยง ต้องเอาเงินมหาศาลไปแลกเพื่อคนๆ เดียว เอาความผิดออกจากตัวเองและโยนภาระบาปให้ประเทศและประชาชนต้องรับผิดชอบแทน เป็นใบเสร็จความเสียหายชิ้นสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ คดีเหมืองทองอัคราฯพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นด้วยตัวเอง ออกคำสั่งทำลายประเทศจนย่อยยับ สร้างตราบาปให้ประเทศ กำลังทำลายโอกาสประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่มีชิ้นดี” น.ส. จิราพร กล่าว

จากนั้นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงประเด็นเหมืองอัคราว่า การขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลงที่น.ส.จิราพรบอกว่าเป็นจำนวน 2 แสน-4 แสนไร่นั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องของอนุญาโตตุลาการ กับบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากเขาได้มีการยื่นมาตั้งแต่ปี 2546 และ2548 แค่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ในขณะนั้น มีมติให้ชะลอการพิจารณาการอนุญาตสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อน เนื่องจากห่วงใยเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยได้มีการให้สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปศึกษาและจัดทำนโยบายแร่ทองคำ ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2552 ต่อมาครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2552 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม นำความคิดเห็นดังกล่าว ไปพิจารณา ในเดือน พ.ค.2554 กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณา ประกอบกับความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ และจัดทำประกาศนโยบายทองคำแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามระหว่างที่จัดทำนโยบายและเสนอ ครม. มีการยุบสภาเสียก่อน ทางสำนักงานเลขาธิการ ครม.จึงส่งเรื่องคืนมาที่กระทรวง หลังจากนั้นก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับนโยบายแร่ทองคำ

เครดิตภาพ : สุรเชษฐ์ วัชรวิศิษฏ์

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2557 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทอัครา ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ และประชาชนได้ยื่นข้อเรียกร้องไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ดังนั้นเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 ทางพล.อ.ประยุทธ์ จึงได้มีการออกคำสั่ง มาตรา44 ให้ผู้ประกอบการทองคำทุกรายทั่วประเทศ ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเป็นการชั่วคราว ซึ่งตนคิดว่า ในขณะนั้นใครก็แล้วแต่ที่อยู่ในฐานะนายกฯหรือหัวหน้าคสช.เมื่อมีการร้องเรียนของประชาชนและมีผลกระทบต่อสุขภาพมาตลอด และมีการขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชน การที่พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งมาตรา 44 นั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นในขณะนั้น แต่ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ก็ให้นโยบายคณะกรรมการแร่แห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไปจัดทำนโยบายทองคำเพื่อให้การทำเหมืองแร่ทองคำสามารถดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนให้ได้ เพื่อให้เสนอต่อครม. ต่อมา ครม.ก็เห็นชอบในเดือนส.ค.2560 และต่อมาคณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ ได้มีมติให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตและกลับมาประกอบการภายใต้นโยบายทองคำได้ ดังนันบริษัทอัคราฯจึงได้กลับมาเดินเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจจำนวน 44 แปลงที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 ดังนั้นการการมาเดินเรื่องคำขออนุญาตดังกล่าว และทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตไปนั้นจึงเป็นไปตามมติของคณะกรรมการแร่แห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนเพื่อการถอนฟ้องแต่อย่างใด

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ระบุว่าบริษัทคิงส์เกตฯ ได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 22,500 ล้านบาท และบอกว่ารัฐบาลไทยแพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอบอกว่า ถ้ารัฐบาลไทยแพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งคิงส์เกตฯ เขาคงไม่มาเจรจา เขาได้เงิน 22,500 ล้านบาท ก็เก็บใส่กระเป๋าทันที ทำไมจะเอามาแลกกับการขออาชญาบัตร เพราะกว่าจะลงทุนทำกำไลได้ ที่ผ่านมาระยะเวลา 15-20ปี บริษัทอัครา มาลงทุนในเมืองไทยกำไลคิดว่าไม่เกิน 5 พันล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าเอาจำนวนครบต้องอีก 25 ปี ถึงจะได้มา 22,500 ล้านบาท ดังนั้นขอยืนยันว่าการที่คิงส์เกต กลับมาเจรจานั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องทางรัฐบาลจะไปเอื้อประโยชน์ให้เขา แต่เขาคิดว่าการกลับมาดำเนินกิจการต่อ เพราะคิดว่าราคาทองคำเป็นราคาที่ขึ้นมาพอสมควร

เครดิตภาพ : สุรเชษฐ์ วัชรวิศิษฏ์

จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า ในฐานะผู้รับผิดชอบ ข้อพิพาทเริ่มต้นขึ้นที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ แล้วใช้ช่องทางกฎหมายระหว่างประเทศ ในการฟ้องร้องรัฐบาลไทย ในสิ่งที่เขาเห็นว่าบริษัทลูกไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่ปี 2550 เช่นเดียวกัน รัฐบาลไทยต้องต่อสู้ในสิ่งที่รัฐบาลไทยและประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน ในด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อม การใช้พื้นที่ต้องสำรวจดูว่าถูกต้องไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ผ่านมาต่อสู้ตามกฎหมายสากล ที่รัฐบาลไทยเป็นสมาชิกอยู่และต้องตั้งทนายขึ้นมาสู้ในเวทีสากล รัฐบาลไทยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปต่อสู้คดี มีงบประมาณที่ใช้ในการจ้างทนาย ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นเวทีระหว่างประเทศที่มีพันธะสัญญาระหว่างกันต้องปฏิบัติให้ได้ คือการนำเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ สิ่งสำคัญที่อาจกระทบต่อการพิจารณาคดีคือ เอาเรื่องที่อยู่ในชั้นศาลเอาออกมาพูดภายนอก และฝ่ายค้านได้นำมาอภิปรายให้ข่าวกับสื่อหลายครั้ง ซึ่งปรากฏว่าเป็นการคาดการณ์เอาเองทั้งสิ้น เป็นการนำตัวเลข จากข้อมูลที่เป็นข้อเสนอ หรือ คำให้การแต่ละฝ่ายที่ไม่เป็นทางการ ยังไม่ได้ข้อยุติซึ่งเป็นอันตราย ดังนั้น ยังไม่ปรากฏเป็นความจริง เรื่องยังอยู่ในกระบวนการตามกฎหมาย รวมถึงขั้นตอนการเจรจาหารือของผู้พิพาท ไม่สามารถไปชี้นำได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่กล่าวหาว่าใช้อำนาจมาตรา 44 นั้น คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่ไปปิดเหมือง แต่เป็นเรื่องการต่อสัมปทานซึ่งมีคำสั่งทุกเหมืองในประเทศไทย ในการต่อสัมปทานอาชญาบัตร จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากข้อสงสัยของประชาชนที่เรียกร้องมา ถึงแม้ไม่มีข้อยุติอย่างชัดเจน แต่มีหลักฐานจากโรงเรียน ครู จำเป็นต้องตรวจสอบ เราไม่ได้ปิดเหมืองแร่อัครา แต่เพียงเหมืองเดียว แต่การจะต่ออาชญาบัตรต้องแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว และบริษัทไหนที่แก้ได้ตามนั้นก็เปิดเป็นปกติการที่เขาจะได้หรือไม่ได้ อยู่ที่การเจรจาพูดคุย ไม่ได้เสนอประโยชน์ เราต้องคำนึงถึงประโยชน์ชาติและประชาชน วันนี้เรามี พ.ร.บ.แร่ 2560 ออกมาแล้ว เราสามารถถลุงแร่ ส่งออกแร่เองได้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศมากขึ้น ถ้าเราสำรวจแร่พบ อาจเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตแร่ทองคำ เพราะที่ผ่านมาเรานำไปถลุงแร่ที่ต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งกฎหมายใหม่ให้มีการถลุงแร่ทองอย่างเดียวที่บอกว่าขอบริษัทอัครา ขอที่เป็นแสนไร่เป็นแค่การขอสำรวจ แต่การขอดำเนินการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำรวจเจอตรงไหนก็ต้องดูว่าจะอนุญาตได้หรือไม่ ประชาชนจะยอมหรือไม่ วันนี้นำหลักการสิทธิมนุษยชนในการประกอบการธุรกิจมาประกอบ เท่าที่ทราบบริษัทเขาปรับตัวแล้ว ถ้าที่ไหนที่ประชาชนไม่อยากได้เขาก็หลีกเลี่ยงให้อยู่แล้ว

เครดิตภาพ : สุรเชษฐ์ วัชรวิศิษฏ์

“เรื่องนี้รับผิดชอบในฐานะนายกฯ ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยอำนาจ ด้วยคำสั่ง มีการหารือปรึกษาทั้งฝ่ายกฎหมาย ราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยราชการ เพื่อทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะสุขภาพประชาชน มันต้องมีคนเดือดร้อน แต่ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น แต่ต้องจำเป็นในบางอย่าง หลายอย่างเกิดก่อนหน้าผม ทำไมรัฐบาลนี้ต้องมาแก้ ทำไมไม่แก้ให้เสร็จเรียบร้อย ทำไมมาถึงตอนนี้ ถ้าสนใจสักหน่อย ประชาชนต้องการปัญหาอะไรก็แก้ปัญหาให้เขา พร้อมทำอะไรใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยบ้างโดยเฉพาะทำอย่างไรจะมีรายได้ให้มากยิ่งขึ้น”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการชดเชยหนี้ประเทศจากความเสียหายในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ว่า ทุกวันนี้เรามีภาระที่จะต้องจ่ายในเรื่องผลการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว โครงการนี้ได้ชดเชยไปแล้ว 7.05 แสนล้านบาท วันนี้เหลือหนี้จำนำข้าว อยู่ที่ปี 63 ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยอีก 800 ล้านบาท และยังต้องตั้งงบประมาณชดเชยแบบไม่ได้อะไรเลย ปีละ 20,000 ล้านบาท และต้องตั้งไปอีก 12 ปี ตนก็เสียดาย นอกจากนี้ยังมีภาระหนี้จากโครงการบ้านเอื้ออาทร ทิ้งหนี้ให้กับการเคหะกว่า 20,000 ล้านบาท มีบ้านที่สร้างเสร็จแล้วขายไม่ได้อีกหลายหมื่นยูนิต สิบปีที่ผ่านมาการเคหะแบกรับโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ล้มเหลวยอดความเสียหาย 10 ล้านบาทไม่รวมหนี้เน่าและภาระดอกเบี้ยที่กู้มา

“รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้แก้ไขปัญหาทุกประเด็นที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลไม่ต้องการขึ้นภาษีกับใคร เห็นหรือไม่ว่ายังไม่ได้ขึ้นภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่รายได้ประเทศตอนนี้ลดลง ฉะนั้นการที่บอกว่าให้คนนั้นคนนี้น้อยไปมากไป ลองคิดให้ละเอียดไม่ต้องถึงกับเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็ได้” นายกฯ กล่าว

เครดิตภาพ : สุรเชษฐ์ วัชรวิศิษฏ์

ต่อมา น.ส.จิราพร ลุกขึ้นกล่าวขอบคุณนายกฯและนายสุริยะ ที่ชี้แจง แต่ตนฟังแล้ผิดหวัง แสดงว่าไม่ได้ฟังการอภิปรายของตนเลย เพราะคำตอบที่ตอบนั้นเป็นการอ่านตามโพยที่หน่วยงานเขียนให้ ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อวาน ไม่ได้อัพเดตข้อมูล และไม่ได้ตอบคำถามของตนแม้แต่คำถามเดียว และการที่รมว.อุตสาหกรรม บอกว่าประชาชนเดือดร้อนเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องไปจัดการ ประเด็นนี้ตนไม่เถียงที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล แต่ประเด็นคือรัฐบาลไม่ใช้กฎหมายปกติเข้าไปจัดการ แต่ใช้มาตรา 44 ที่ต่างประเทศไม่ยอมรับ เข้าไปจัดการโดยที่ไม่มีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เตือนแล้วว่าอย่าทำแบบนั้น เพราะจะถูกฟ้องร้อง แต่รัฐบาลไม่ฟังแล้ววันนี้ไทยก็ถูกฟ้องร้องอาจจะต้องแพ้คดี ตอนนี้ใบเสร็จก็ออกมาแล้วว่ามีค่าใช้จ่าย 600 ล้านบาทที่ใช้ต่อสู้คดีในอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้ด้วย เพราะความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ตนขอถามว่าถึงวันนี้สุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไขแล้วหรือไม่

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ส่วนที่บอกว่าการให้ 44 แปลงและเปิดทางให้ขายผงเงิน ผงทองคำนั้นเป็นเรื่องปกติ ขอถามกลับว่าถ้าเป็นปกติ ทำไมไปอยู่ในข้อต่อรองระหว่างไทยกับคิงส์เกต เพราะมีจดหมายที่คิงส์เกต เขียนมาขอบคุณประเทศไทยด้วย และมีการเขียนจดหมายไปแจ้งต่ออนุญาโตตุลาการว่าข้อตกลงนี้ได้คุยกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่นายสุริยะบอกว่าคิงส์เกตจะชนะ ถ้าจะชนะจริง ทำไมคิงส์เกตถึงมาเจรจากับไทย ขอถามกลับว่าถ้ารัฐบาลไทยมั่นใจว่าคิงส์เกตจะชนะคดีแล้วไปเจรจาต่อรองเขาทำไม แล้วการต่อรองมีแต่ไทยให้คิงส์เกตฯโดยที่ไทยไม่ให้อะไรเลย นอกจากความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะถอนฟ้อง ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมขณะนี้คณะอนุญาโตตุลาการยังไม่มีออกมาแต่เปิดให้สำรวจแล้วโดยอ้างว่าเป็นการสำรวจไม่ได้ทำ ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูให้ทำเหมือง

“ผิดหวังการตอบคำถามของพล.อ.ประยุทธ์ ท่านอ่านตามที่หน่วยงานเขียนโพยมาให้ ถ้าท่านทำอย่างนั้น ท่านถ่ายเอกสารที่อยู่ในมือส่งแจกสมาชิกอ่านเอาเองก็ได้ เพราะไม่ได้ตอบคำถามในเนื้อหาสาระที่ได้ถามไปเลย”น.ส.จิราพร กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img