วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกHighlight‘จรัญ’ชี้ศาลไม่มีโอกาสแจงเรื่องต่อสังคม ‘อย่ากดดันการตัดสิน-ปั่นสังคมแตกแยก’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘จรัญ’ชี้ศาลไม่มีโอกาสแจงเรื่องต่อสังคม ‘อย่ากดดันการตัดสิน-ปั่นสังคมแตกแยก’

“จรัญ” รับศาลไม่มีโอกาสแจงทุกเรื่องต่อสังคม ทำได้ผ่านการเขียนคำวินิจฉัย หวังประชาชนตีความ วิพากษ์วิจารณ์ด้วยใจเป็นธรรม อย่าโหนกระแสกดดันการพิพากษา ให้ได้ผลตัดสินที่ตัวเองได้ประโยชน์ แฉขบวนการส่งต่างชาติร่วมฟัง

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.66 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทของสื่อมวลชนในการส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม” ตอนหนึ่งในงานกิจกรรมศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชนว่า ศาลรัฐธรรมนูญและทุกศาล ไม่มีโอกาสพูดแก้ตัวต่อสังคมผ่านสื่อของศาล ศาลไม่มีไอโอ (IO) ประเพณีที่ทำคือหากอยากจะพูดอะไรกับประชาชน ก็เขียนลงในคำวินิจฉัยให้กระจ่างให้หมด แล้วไม่ต้องไปโต้แย้งโต้เถียงหรือแก้ตัวใดๆ กับประชาชน

ขอให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องนำคำวินิจฉัยไปวิเคราะห์ แล้วจะวิพากษ์วิจารณ์ เสนอแนะด้วยความสุจริต มีใจเป็นธรรมก็จะเป็นประโยชน์แก่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะนำเสียงติติงนั้นไปพัฒนาปรับปรุง เพราะต้องบอกว่า ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์ 100% หรือทำอะไรถูกหมด 100% มีขาดมีเกิน แต่ขอให้ทำโดยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เบียดเบียน ไม่หลงเชื่อไปตามพยานหลักฐานเท็จ ใช้กฎหมายให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบงานกฎหมาย ยุติธรรมของประเทศเราให้มั่นคงบนหลักการนี้ได้ก็จะช่วยให้ระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบกฎหมายงานยุติธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบคิดและวิถีของประชาชนจะมีคุณภาพมาตรฐานดีขึ้น

ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวว่า ความจริงแล้วศาลแทบไม่ได้พูดสื่อสารหลักเกณฑ์พื้นฐานให้ประชาชนได้เข้าใจ ตั้งแต่ก่อนที่คดีจะเข้าสู่ศาล ในโลกเสรีไซเบอร์มีความสับสนมาก แต่ศาลพูดอะไรไม่ได้ เพราะถ้าศาลพูดก่อน ก็จะไม่มีใจที่จะพิจารณาคดีนั้น จึงต้องระวัง ยิ่งคดีขึ้นสู่ชั้นศาลแล้ว ก็ไม่สามารถบอกรายละเอียดเชิงลึกได้ จะทำให้เกิดกระแสกดดัน โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเดิมพัน หรือผลแพ้ ชนะกันที่ศาลรัฐธรรมนูญมหาศาล กระทบคนมาก กระทบกับสถาบันหลักของชาติ

ดังนั้นเป็นปกติที่จะเกิดกระแสกดดันจากฝ่ายต่างๆ ให้ศาลพิจารณาในไปทางที่เป็นคุณประโยชน์กับตัวเอง เพราะแพ้ไม่ได้ ขณะที่สื่อมวลชนที่มีพลัง เป็นอีกหนึ่งเสาหลักของการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย เป็นปากเป็นเสียงของประชาชน จึงเป็นวิชาชีพระดับสูงที่มีมาตรฐาน อุดมการณ์ จริยธรรมที่ไม่ได้ต่ำต้อยน้อยหน้าไปกว่าอาชีพอื่น ทั้งนี้สื่อเป็นกลไกลสำคัญในระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบกฎหมาย เศรษฐกิจ จะช่วยให้วิถีชีวิตของประชาชนค่อยๆ พัฒนาขึ้น แต่ต้องระวังอย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า อย่าใจเร็วด่วนได้ว่า ต้องดีขึ้นวันนี้พรุ่งนี้เลย ไม่เช่นนั้นแตกหัก ถ้าสื่อใดพลาดไปอย่างนั้น ตนว่าน่าห่วง

อีกทั้งตัวร้ายที่เรามองข้ามไป มหาอำนาจจากโลกเสรี ประชาธิปไตย ทุนนิยมสุดโต่งทรงพลังครอบงำการปกครองระบบการเมืองของเรา ระบบกฎหมาย ระบบงานยุติธรรมของเรา มีอย่างที่ไหนศาลกำลังพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญอยู่แต่ส่งตัวแทนต่างชาติเข้ามา แม้จะบอกว่าเข้ามาเพื่อประดับรู้ แต่ผลกระทบคือการกดดันผู้พิพากษาที่ทำภารกิจอยู่ เว้นแต่ท่านจะมั่นคง ตรงไปตรงมาจริงๆไม่หวั่นไหว แต่แรงกดดันแบบนี้เป็นไปได้ และเคยเป็นไปแล้ว ไม่มีประเทศไหนยอม อย่าว่าแต่ผู้แทนต่างชาติเลย แม้แต่คนในประเทศพอคดีสำคัญเข้าสู่ศาลต้องหยุดกดดัน เพราะเราก็ไม่มั่นว่าผู้พิพากษาท่านจะหวั่นไหวหรือไม่ ถ้าท่านหวั่นไหวก็ทำงานง่ายตัดสินตามกระแสกดดัน แบบนี้แล้วฝ่ายตรงข้ามที่ไม่มีกระแสหนุนหลังเขาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่

หลักการพื้นฐานเมื่อคดีเข้าสู่ศาลต้องสกัดการกดดันศาลทุกรูปแบบ เพื่อหวังว่าเราจะได้คุณภาพของคำวินิจฉัย หรือถ้ากลัวว่าไม่กดดันเราจะได้รับความเป็นธรรม ก็ต้องบอกว่า ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มีช่องทางในการจัดการ คนในแวดวงตุลาการที่ดูแลองค์กรนี้อยู่ท่านไม่ปล่อยให้เนื้อร้ายเจริญงอกงามแน่ มะเร็งร้ายจะต้องถูกกำจัดไปโดยกระบวนวิธีการของท่านที่ไม่ต้องการประณามเชื้อโรคหรือเนื้อร้ายนั้น

“ผมไม่ได้อยู่กับคนไหน ฝ่ายไหน ผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ทุนนิยม และผมก็ไม่เสรีสุดโต่ง แต่ผมก็ไม่อาจจะยอมรับการกดขี่ของผู้ทรงอำนาจในประเทศ ไม่ว่ารูปแบบไหน ทรงอำนาจอาวุธหรือเสียงข้างมาก เพราะในชีวิตผมเติบโตมาในแวดวงการตุลาการไทย เราเคารพเสียงข้างมาก ยอมรับมติให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก แต่เราขอให้เราที่เป็นเสียงข้างน้อยได้แสดงความคิดเห็น เหตุผลหลักวิชาของเราให้ปรากฏไว้ว่า ไม่ใช่เพราะผมเป็นตะบึงตะบอนเห็นแต่ความเห็นของตัวเอง ไม่เคารพความคิดเห็นของคนอื่น นี่คือวัฒนธรรมของการทำงานของฝ่ายตุลาการของประเทศเรา แต่มันก็ไม่ค่อยได้มีการเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ เพราะมันเกินกำลังของศาลที่จะเผยแพร่อะไรต่างๆ ที่เป็นเรื่องเฉพาะตัว นั่นจึงจะเป็นหน้าที่สื่อมวลชนที่จะได้เป็นตัวกลางเชื่อมสื่อสารให้ประชาชนรับรู้เข้าใจ ความโกธรแค้นต่างๆ ก็จะได้เบาบางลง” ศ.พิเศษ จรัญ กล่าว

ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวอีกว่า สื่อต้องเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมระหว่างรัฐ กับประชาชน และประชาชนด้วยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่วนที่เป็นข้อขัดแย้งจริงๆ ก็ค่อยขึ้นสู่ศาล ขณะเดียวกันสื่อต้องมีเสรีภาพเพื่อไม่ให้ตัวกลางหายไป ถ้าหายไปประชาชนก็จะถูกปลุกปั่นให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ไม่ได้บอกให้สื่ออยู่ข้างรัฐบาล แต่ให้อยู่ข้างความจริง ความถูกต้อง ไม่ใช่ยุยงให้ลงถนน การลงถนนต้องเป็นทางสุดท้ายของสังคม ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น Mob Rule หรือกฎหมู่ เป็นภัยอันตรายมหาศาลของระบอบเสรีประชาธิปไตย ไม่ค่อยเป็นภัยต่อระบอบเผด็จการ ซึ่งประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เขาไม่กลัว Mob Rule อีกทั้ง Mob Rule เป็นตัวบ่อนทำลายหลักของหลักธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรมที่ทรงพลังที่สุด รวมถึงทำให้เกิดความสูญเสียในสังคม มีผู้วิจารณ์การเมืองบอกว่าถ้าเลือกตั้งใหม่จะเสียค่าเลือกตั้งอีก 5-6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องเล็กมากถ้าเปรียบเทียบกับความล้มสลายทางเศรษฐกิจเป็นล้านล้านบาท ถ้าเกิด Mob Rule ซึ่งเสียหายทุกฝ่ายรวม ม็อบเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร จึงขอให้นั่นเป็นวิธีสุดท้ายหากหมดปัญญาแล้ว ไม่มีปัญญาจะแก้ปัญหาของประเทศชาติโดยวิธีสันติได้แล้ว.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img