วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกHighlight“ผู้ตรวจการแผ่นดิน”แจงก.ม.ให้อำนาจ ชง“ศาลรธน.”สั่งสภาชะลอโหวตนายกฯ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน”แจงก.ม.ให้อำนาจ ชง“ศาลรธน.”สั่งสภาชะลอโหวตนายกฯ

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ยกข้อกฎหมายให้อำนาจถก-ชงศาลรัฐธรรมนูญสั่งสภาชะลอโหวตนายกฯ พร้อมวินิจฉัยมติห้ามเสนอ “พิธา” โหวตนายกฯ รอบสอง ขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.66 พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการพิจารณา และส่งเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. มีมติให้การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีก และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกฯไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมาว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้วินิจฉัยและเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่สมาชิกรัฐสภาและประชาชนยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 และมีหน้าที่และอำนาจตามพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 มาตรา 22

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีอำนาจอื่นที่กำหนดไว้ในพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 และมาตรา 48 เมื่อบุคคลถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ จากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ ซึ่งการละเมิดนั้น เป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกละเมิดสิทธิสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ผู้ร้องเรียนจึงมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ในการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เห็นว่าการกระทำของรัฐสภาในการลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกฯ ถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกฯ ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกฯ ไว้เป็นการเฉพาะแล้วมาตรามาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้ว จึงเห็นว่าเข้าองค์ประกอบและหลักเกณฑ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เป็นที่ยุติ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกฯไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img