วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกHighlight“ส.ส.รัฐบาล-ส.ส.ฝ่ายค้าน”โทษกันมั่ว ต่างฝ่ายต่างโยนเป็นต้นเหตุทำสภาล่ม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ส.ส.รัฐบาล-ส.ส.ฝ่ายค้าน”โทษกันมั่ว ต่างฝ่ายต่างโยนเป็นต้นเหตุทำสภาล่ม

“ไพบูลย์ ณ พปชร.” ออกโรงฟ้องประชาชน ซัด “ฝ่ายค้าน” ต้นเหตุทำสภาฯล่ม กดแสดงตนแค่ 14 คน ควรจ่ายเงินเดือนตามเปอร์เซนต์ออกเสียงดีหรือไม่ ขณะที่ “ฝ่ายค้าน” ดาหน้าโวยกลับ อย่าโบ้ยเป็นต้นเหตุ ชี้มีเสียงมากกว่า แต่กลับปล่อยให้สภาฯล่ม ตอกย้ำพรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งกันเอง

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวหลังเกิดเหตุการณ์ “สภาล่ม” ในวันนี้ว่า การประชุมวันนี้ ในเวลา 11.49 น. เป็นการพิจารณาเรื่องศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งเป็นของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ร่วมกันเป็นกมธ. ไม่ได้เป็นกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียวทั้งสิ้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำงานอยู่แล้ว แต่เมื่อตรวจสอบองค์ประชุม กลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทย มีส.ส. 131 มาออกเสียงเพียง 5 คน พรรคพลังประชารัฐมีส.ส. 117 คน ออกเสียง 98 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทย มีส.ส. 59 คน ออกเสียง 52 คน พรรคก้าวไกล มีส.ส. 52 คน ออกเสียง 6 คน ซึ่งส.ส.พรรคก้าวไกล ตนเห็นบางคนก่อนโหวตยืนอภิปราย แต่กลับไม่ออกเสียง เข้าใจว่าส.ส.ซีกฝ่ายค้าน ที่มาประชุม แต่ไม่ออกเสียง มีความเข้าใจผิดอะไรหรือไม่ในเรื่องหน้าที่ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. 49 คน ออกเสียง 40 คน ส่วนชาติไทยพัฒนา ส.ส. 12 คน ออกเสียง 4 คน ถือว่าน้อยมาก ในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลมีส.ส. 268 คน มาออกเสียง 219 คน แต่ส.ส.ฝ่ายค้าน มี 208 คน มาออกเสียงเพียง 14 คน คิดเป็น 6.73 เปอร์เซนต์ ตนว่าเราจ่ายเงินเดือนตามเปอร์เซ็นต์ดีหรือไม่ เรื่องนี้จะอ้างว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องศึกษาของกมธ. ของส.ส.ทั้งสภา แต่อย่างไรก็ต้องชื่นชมนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานในครั้งนี้ ที่พยายามให้เวลาอย่างเต็มที่กับส.ส.ที่จะมาออกเสียง แม้จะให้เวลาแต่ส.ส.ฝ่ายค้านที่เห็นอยู่เต็มสภาฯ แต่ออกเสียงเพียง 14 คน จึงอยากฝากไปถึงประชาชนผู้เสียภาษีมาเป็นเงินเดือนให้ส.ส. แต่ปรากฏว่าการทำหน้าที่ออกมาเป็นเช่นนี้จึงขออนุญาตฟ้องประชาชนให้ตรวจสอบ

อีกด้านหนึ่ง ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรค พท. และนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวร่วมกัน โดยนายสมคิด กล่าวว่า สถานการณ์ในสภาฯ วันนี้บ่งบอกถึงความไม่พร้อมของรัฐบาล ที่ผ่านมาเราช่วยเป็นองค์ประชุมตลอด แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ ส.ส.ซีกรัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบกฎหมายของตัวเอง หากลองตรวจสอบจะพบว่า ส.ส.ซีกรัฐบาล ที่ไม่เข้าร่วมประชุมเป็นใคร และจะทราบว่าอะไรเกิดขึ้น ยืนยันว่า ฝ่ายค้านไม่ได้เล่นเกม แต่ฝ่ายค้านคือตัวนั่งประชุม แต่เราไม่อยากให้รัฐบาลเอาเปรียบตลอดเวลา

นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนจะมีการตกลงเรื่ององค์ประชุมกับวิปรัฐบาลหรือไม่นั้น เราเคยพูดว่า เราช่วยกันมาตลอด แต่ช่วงหลังเราพูดอย่างชัดเจนว่า พรรค พท. กับพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ได้แอบ เราบอกวิปรัฐบาลว่า จะไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมในบางเรื่อง ไม่ได้ปิดบัง เพราะอยากให้รัฐบาลเตรียมตัวและกระตุ้นให้มาทำงาน

นางมนพร กล่าวว่า ส.ส.ซีกฝ่ายค้านให้ความสำคัญในการอภิปราย จะมาอ้างว่ากฎหมายไม่ได้บอกว่าองค์ประชุมเป็นของรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ซึ่ง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เสนอให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อและแสดงตน ซึ่งสมัยที่พรรค พท. เป็นรัฐบาล น.ส.รังสิมาได้เคยทำลายความเชื่อมั่นของระบบรัฐสภา ที่ลุกขึ้นไปลากเก้าอี้ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาฯ บนบัลลังก์ และวอล์กเอาต์ เขวี้ยงเก้าอี้ เขวี้ยงหนังสือ แต่วันนี้พอเป็นรัฐบาล กลับบอกว่าฝ่ายค้านไม่อยู่เพื่อเป็นองค์ประชุม ไม่ช่วยกันพิจารณากฎหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชน

“อยากจะย้ำเตือนอีกครั้งว่า เราได้ทำหน้าที่ ส.ส. ที่เป็นเงาสะท้อนประชาชนในการเป็นองค์ประชุม เราหวังว่าจะนำไปสู่วาระพิจารณารับทราบให้เสร็จสิ้น แต่สมาชิกฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุม และหลายคนก็กดบัตรแทนกัน ซึ่งเรายึดมั่นในระบบรัฐสภาและจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนต่อไป” นางมนพร กล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า เราเห็นสถานการณ์แบบนี้มาตลอดสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งความจริง เสียงพรรคร่วมรัฐบาลมีมากกว่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่เสียงที่มีจำนวนมาก กลับไม่สะท้อนความเป็นเอกภาพ ตอกย้ำให้เห็นว่ามีความขัดแย้งอย่างมากในพรรครัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงจะเห็นได้ว่าบทบาทหน้าที่ของประธานในการประชุมในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติมากนัก อาจเรียกได้ว่าเป็นการแบกพรรคร่วมรัฐบาล ตนคิดว่าประธานฯต้องมีความเป็นกลางมากกว่านี้ และต้องไม่กระทบกระเทียบบอกว่า บางคนเป็นส.ส.ใหม่ บางคนเป็นส.ส.ที่อยู่มาหลายสมัย เป็นคำเปรียบเทียบที่ไม่อาจจะรับได้ ซึ่งมีเพื่อนสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนที่พูดในลักษณะเช่นนั้น ถ้าติดตามการประชุมสภาฯตลอด จะเห็นว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายเยอะมาก เราทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ซึ่งการประชุมสภาฯ ล่มวันนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทบทวนตัวเองว่า สาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะสิ่งใด ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นอุบัติเหตุหรือความตั้งใจเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตอบต่อประชาชนไม่ใช่ฝ่ายค้าน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img