วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSโอกาสพระภิกษุ-สามเณรประโยค 9 “ยุคปัจจุบัน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โอกาสพระภิกษุ-สามเณรประโยค 9 “ยุคปัจจุบัน”

หลายวันมานี้สังคมชาวพุทธและสื่อมวลหลายแขนงได้เสนอข่าวเกี่ยวกับสามเณรน้อยรูปหนึ่งชื่อ สามเณรจารุวัฒน์  เอี่ยมศรี หรือ “สามเณรกอกัส” อายุ 10 ปี สังกัดวัดหนองโมงบูรพาราม อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด สอบได้ประโยคเปรียญธรรม 3 ประโยค ต่างยกย่องและชื่นชม “ความเพียร” และ “ความอดทน” ที่สามเณรน้อยรูปนี้สอบได้ประโยค ป.ธ.3  ในขณะที่อายุอย่างน้อย 

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีก็มีข่าวสามเณรรูปหนึ่งชื่อ สามเณรภาณุวัฒน์ กองทุ่งมน อายุ 16 ปีสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพมหานคร สื่อและชาวพุทธต่างก็ยกย่องและชื่นชมแบบนี้ เพราะสามเณรภาณุวัฒน์สอบได้ ป.ธ.8  คาดว่าปีหน้าอาจสอบติด ป.ธ.9 ในขณะอายุเพียง 17 ปี ซึ่งมีอายุยังไม่ถึง 20 ปียังบวชไม่ได้ ต้องรออีก 3 ปีจึงจะบวชเป็น “นาคหลวง” ได้

“เปรียญสิบ” ยกย่อง “ความเพียร-ความอดทน” และ “ความจำ” ของสามเณรทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง

เพียงแต่!! หงุดหงิดใจกับระบบการศึกษาและการให้โอกาสกับบรรดาพวกจบประโยค 9 ของคณะสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง กรณีสามเณรทั้งสองรูป หากพวกเธอไปเรียนทางโลก หากพวกเธอไปเรียนด้านกฎหมาย “โอกาส” ของสามเณรเหล่านี้ “น่าจะดี” กว่าอยู่ในระบบการศึกษาของสถาบันสงฆ์

กรณี “สามเณรออกัส” หาก “เปรียญสิบ” เป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์” คนมอบพัดวันนั้น เมื่อรู้ว่า สามเณรน้อยรูปนี้สอบได้ประโยค 3 ในขณะที่อายุ 10 ขวบ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก จะขอเจ้าสำนักเรียนของสามเณรให้มาอยู่ “วัดไตรมิตร” ส่งเสียอุปถัมภ์จนจบประโยค ป.ธ.9 ซ้ำ หากสามเณรอยากไปเรียนต่อทางโลกจะส่งเสียให้จบถึงปริญญาเอก จะไปเรียนที่ไหนก็ได้ ในโลกใบนี้ แบบนี้เขาถึงเรียกว่า “ผู้นำ” อันมีเมตตาเป็นที่ตั้ง ใช่หรือไม่??

หรือแม้กระทั้งสามเณรอื่นๆ ที่มีลักษณะ “พิเศษ” แบบนี้ อย่างสามเณรภาณุวัฒน์ กองทุ่งมน วัดโมลีฯ ที่ยกตัวอย่างมา คณะสงฆ์ก็ควรปั้นให้เป็น “สุดยอด” สามเณรเพื่อเป็นหน่อเนื้อของคณะสงฆ์

เหมือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้ง “มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย” ก็เพื่อคัดเลือก “ยอดสามเณร” ที่มีลักษณะพิเศษดังสามเณรสองรูปดังกล่าวมา แต่เสียดาย..ทุกวันนี้คณะสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่เห็น “โอกาส” ตรงนี้

คณะสงฆ์..อยากให้เด็กและเยาวชนเรียนบาลี..มันต้องมีตัวล่อ อันดับแรก ทุนการศึกษา อันดับสอง เมื่อจบประโยค 9 แล้วมันต้องมอบหมายงาน มอบหมายตำแหน่งหน้าที่

มิใช่..ให้นั่งรับสังฆทาน รอกิจนิมนต์อย่างเดียว 

มันต้องทำเหมือนพวกจบ “จปร.” เหมือนพวกจบ “โรงเรียนนายอำเภอ” จบประโยค 9 ต้องมีงานให้ทำ มีตำแหน่งหน้าที่เพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนา

มิใช่ดังทุกวันนี้ พวกประโยค 9 บางรูป “ตกงาน” จะสึกออกมา “เสี่ยงตกงาน” บางคนจบตอนอายุมากก็ไม่กล้าออกมาเสี่ยง จะประกอบอาชีพอื่นก็ทำอะไรไม่เป็นนอกจาก “สอบราชการ” หรือบางคนโชคดีหน่อยสึกออกได้ทำงาน มจร หรือไม่ก็ มมร

“กรรมการมหาเถรสมาคม” สมัยสมเด็จฟื้น วัดสามพระยา ยุคสมเด็จนิยม วัดชนะสงคราม ท่านมีหลัก ใครจะมาเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ต้องมีคุณสมบัติ  “ประโยค 9” หรือไม่ก็ “เปรียญเอก” มิใช่เอาพวกเด็กเส้น พวกนักวิ่ง พวกลิ้นหยาบ เงินหนา พวกหมอดู มาเป็น “กรรมการมหาเถรสมาคม”

การศึกษาบาลีสมัยก่อนมันจึง “เฟื่องฟู” แม้แต่ “เจ้าคณะปกครอง” พระผู้ใหญ่สมัยก่อนก็พิจารณาจาก “คุณสมบัติบาลี” ก่อน ไม่เหมือนยุคนี้ “ไร้กฎเกณฑ์” 

ต่อจากนี้..เป็นไปได้หรือไม่ ตั้งแต่กรรมการมหาเถรสมาคมจนถึงเจ้าคณะจังหวัด ควรพิจารณาจากคุณสมบัติการศึกษา “บาลี” ควบคู่ไปกับการศึกษาทางโลก กรณีนี้แม้เจ้าอาวาส “พระอารามหลวง” ก็ยึดกฎเกณฑ์อันนี้

แต่!! สมมติพวกประโยค 9 อยากสึก อยากทำ มจร มมร ควรมีโควต้าเพื่อคนกลุ่มนี้

ไม่อย่างนั้น..แม้จบประโยค 9 ไป ไม่ว่าจะเป็นนาคหลวงหรือไม่นาคหลวง “เสี่ยงตกงาน” ทุกรูป เพราะ “วิชาบาลี” ที่พวกเราเรียนทุกวันนี้ ไม่ได้มีไว้รองรับ “การทำงาน” นอกวัด มีไว้เพียงแค่ “รักษาพุทธพจน์” และจำเพื่อเป็นอาจารย์ “สอนบาลี” เท่านั้น

“เปรียญสิบ” เขียนถึงสามเณรสองรูปที่ยกมาข้างต้นด้วยความสงสารและเสียดายความเพียรและความอดทนที่พวกเธอมี หากพระผู้ใหญ่ “ไม่ให้โอกาส”  ไม่เข้าไปอุปถัมภ์หรืออุดหนุนหรือไม่มีตำแหน่งหน้าที่อะไรไว้รองรับยกตัวอย่างเหมือนพวกจบ จปร.หรือโรงเรียนนายอำเภอ

คนเรียนบาลีล้วนๆ จบออกมาแล้ว  เดาอนาคตได้ไม่ยาก !!

………………….

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ”: riwpaalueng@gmail.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img