วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เพื่อไทย”ชิงเหลี่ยมยึดประธานสภาฯ ลุ้น“พิธา”วืดบทนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เพื่อไทย”ชิงเหลี่ยมยึดประธานสภาฯ ลุ้น“พิธา”วืดบทนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

คงจะเป็นอย่างที่นักวิเคราะห์การเมืองบางคน ออกมาตั้งข้อสังเกตไว้ พรรคการเมืองที่ได้เสียงอันดับหนึ่งและอันดับสอง ไม่สมควรจัดตั้งรัฐบาลร่วม เพราะหากพลาดพลั้ง มีปัญหาความขัดแย้ง อาจทำให้ฝ่ายบริหารมีอันเป็นไป อีกทั้งต่างฝ่ายต่างมุ่งต่อรองกัน จนอาจส่งทำให้การทำงานของรัฐบาล เป็นไปด้วยความไม่ราบรื่น

ดูอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ พรรคเพื่อไทย (พท.) แม้ว่าโครงสร้างรัฐบาลจะประกอบด้วย 8 พรรค มี 312 เสียง แต่หลักก็คือ “ก.ก.” ได้ 151 เสียง “พท.” ได้ 141 เสียง ห่างกันเพียง 10 เสียง

ดังนั้นเราจะเห็นการชิงไหวพริบทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การสรรหา “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ในฐานะ “ประธานรัฐสภา” ที่กว่าจะตกลงกันได้ ทั้งสองพรรคก็ต้องมานั่งแถลงข่าวร่วมกันในค่ำวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการเลือกประธานสภาฯเพียงวันเดียว

จริงๆ ก่อนหน้านั้นทาง “ก.ก.” “อกมายืนยันตลอดว่า ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นของพรรคที่ได้เสียงลำดับหนึ่ง นอกจากนี้ “พิธา ลิ้มเจริรัตน์” หัวหน้าพรรคก.ก. ยังได้ประกาศกลางเวทีปราศรัย ในระหว่างเดินทางไปขอบคุณมวลชนที่จ.พิษณุโลกว่า “หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 มีความเหมาะสมในฐานะแคนดิเดตประธานสภาฯ ของพรรค

เพราะเป็นคนที่มีผลงานดีเด่น มีบทบาทและประสบการณ์ในการเป็น ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองฯ ได้รับเสียงชื่นชมมากมายในการจัดการการประชุม และการประสานความร่วมมือกับองค์กรประชาชนที่มีพัฒนาการเมืองไทยในทุกมิติ เป้าหมาย ให้เกิดการ และตนเชื่อว่าพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนพิษณุโลกและคนทั้งประเทศ อยากให้โอกาส “ปดิพัทธ์” ให้เข้าไปทำหน้าที่ประธานสภาฯ ที่จะเปลี่ยนสภาไทยไปตลอดกาล

ปดิพัทธ์ สันติภาดา

ขณะที่ “ปดิพัทธ์” ได้ออกมาโชว์วิสัยทัศน์ มีความตั้งใจที่จะผลักดันรัฐสภาไทยให้เป็นสภาที่ก้าวหน้าที่สุดในเอเชีย ทั้งในแง่การออกกฎหมายและวัฒนธรรมองค์กรรัฐสภาชุดนี้ จะเป็น รัฐสภาของประชาชน และเป็น รัฐสภาที่ไม่ถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร มีเจตจำนงแน่วแน่ในการใช้อำนาจที่ได้รับมาจากประชาชน รับใช้ประชาชน โดยไม่เลือกปฏิบัติหรือโอนอ่อนตามพรรคการเมืองใด

แต่ในที่สุด “ปดิพัทธ์” ก็ได้แค่โชว์วิสัยทัศน์ เพราะเก้าอี้ ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ กลับตกเป็นของ “วันมูหะหมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ตามข้อเสนอของพรรคพท. ซึ่งใครก็รู้ว่า พรรค ปช. เปรียบเสมือนสาขาของ พรรค พท. 

พิธา ลิ้มเจริรัตน์

โดย “พิธา” แถลงเมื่อค่ำวันที่ 3 ก.ค. ถึงข้อตกลงร่วมฯเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ตามที่พรรค ก.ก., พรรค พท., พรรค ปช., พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.), พรรคเสรีรวมไทย (สร.), พรรคเป็นธรรม (ปธ.), พรรคเพื่อไทยรวมพลัง (พรพ.) และพรรคพลังสังคมใหม่ (พสห.) ได้ประชุมหารือร่วมกัน กรณีตำแหน่ง ประธานสภาฯ และ รองประธานสภาฯ โดยมอบหมายให้ พรรค ก.ก.และพรรค พท.ไปเจรจาตกลงร่วมกันนั้น

บัดนี้พรรค ก.ก.และพรรค พท.ได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้ 1.เสนอชื่อ “วันมูหะหมัดนอร์ มะทา” เป็นประธานสภาฯ โดยส.ส.จากพรรค ก.ก.เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และส.ส.จากพรรค พท. เป็นรองประธานสภาฯคนที่ 2 โดยพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้

โดยข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯและรองประธานสภาฯในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อตกลง MOU ที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พ.ค.66

ด้าน “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรค พท.  กล่าวว่า ได้หารือกับนายวันนอร์ ว่าถ้าอยากให้ราบรื่น อาจ ต้องมีคนกลาง มาช่วยให้ดีขึ้น ก็ได้เรียนท่านไป ท่านก็บอกว่าไม่ได้ประสงค์จะเป็น ท่านคิดว่าถ้าหากคุยกันได้ ให้เร่งออกให้จบภายในวันที่ 4 ก.ค. ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ภูมิธรรม เวชยชัย

“ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า อยากจะเสนออาจารย์ ถ้ามีคนกลาง ก็น่าจะ เป็นที่ยอมรับทุกฝ่ายได้ ก็ได้กลับมาคุยกับเลขาฯ และปรึกษากับพรรค ก.ก.ทั้ง 2 ฝ่าย เห็นว่าน่าจะเป็นทางออก ที่ให้เราเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งประธานสภาฯเท่านั้น แต่อยู่ที่ จับมือกันให้รัฐบาล ไปได้ด้วยดี” ภูมิธรรม กล่าว

อย่าลืมพรรค ก.ก.เตรียมผลักดันกฎหมาย เข้าสู่สภาหลายเรื่อง ถ้าหากได้เป็นแกนนำรัฐบาล ทั้ง การนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับ การปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพ.ร.บ.กฎอัยการศึก และร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  ซึ่งเป็นเรื่อง ที่มีความอ่อนไหวทั้งสิ้น ดังนั้นหากประธานสภาฯมาจากสมาชิกพรรค ก.ก. อาจถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ เนื่องจากประมุขฝ่ายนิติบัญญัติต้องมีความเป็นกลาง

ก่อนหน้านี้ใครติดตามข่าว ก็จะเห็นปฏิกิริยาของ ส.ส.พรรค พท. ต่างไม่เห็นด้วยกับการยกตำแหน่งประธานสภา ฯให้พรรค ก.ก. ให้เหตผลว่า พรรค พท.มีจำนวนส.ส.ห่างจากพรรค ก.ก. เพียง 10 ที่นั่ง ดังนั้น พรรคแกนนำรัฐบาลไม่ควรกินรวบ เมื่อได้ตำแหน่งนายกฯแล้ว ก็ควบมอบเก้าอี้ประธานสภาฯให้พรรค พท. ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลทำให้การหารือเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ยืดเยื้อมาจนถึงวันที่ 3 ก.ค.

ต้องไม่ลืมว่า ประธานสภาฯมีบทบาทสำคัญในการคุมเกมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสภา ไม่ว่าจะเป็นการเสนอลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ การควบคุมสภาในช่วงการผ่านกฎหมายฉบับสำคัญๆ ยิ่งสถานะ “พิธา” มีความสุ่มเสี่ยง ทั้งคำร้องต่างๆ และการไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สมาชิกวุฒิสภาฯ (ส.ว.) ถ้า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะประสบความสำเร็จ ต้องได้เสียงสนับสนุนจากส.ว.อีกประมาณ 60 กว่าเสียง ถึงจะทำให้ “พิธา” ได้เสียงเกินหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาฯ (376 เสียง) ดังนั้น “คนควบคุมการประชุม” จะมีบทบาทและความสำคัญมาก ยิ่งหัวหน้าพรรค ก.ก. ยืนยันที่จะเดินหน้าขอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ยิ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ

ขณะที่เมื่อวันที่ 3 ก.ค. พรรค พท. มีการเรียกประชุม ส.ส.พรรค พท.​ โดยมีวาระหารือเรื่องตำแหน่ง ประธานสภาฯ ซึ่งทั้งพรรค พท.และพรรค ก.ก. ยังอยู่ระหว่างเจรจาและยังไม่ได้ข้อยุติ โดยกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ได้เสนอแนวทางเสนอชื่อ “คนกลาง” เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสภาแทนคือ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปช. เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมในเวลานี้ มีความเป็นกลาง ในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาฯมาแล้ว และได้รับการยอมรับจากทุกพรรคการเมือง ทั้งนี้ ส.ส.พรรค พท.ส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องกับแนวทางนี้

จากนั้น มีการประชุม กก.บห.พรรค พท.ต่อ โดยที่ประชุมนำความเห็นของส.ส.มาหารือกัน และส่วนใหญ่เห็นพ้องกัน หลังจากนี้จะมอบหมายให้ คณะกรรมการเจรจา ของทั้งสองฝ่ายไปพูดคุยกันให้ได้ข้อสรุปก่อนที่วันที่ 4 ก.ค. จะมีการประชุมสภานัดแรก และมีวาระในการโหวตเลือกประธานสภาฯ คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ข้อยุติที่พอใจ

ด้าน “วันมูหะมัดนอร์” กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งใจแต่แรกว่าจะต้องไปเป็นประธานเอง เพราะตนเป็นพรรคเล็ก อยากให้พรรคใหญ่จะได้สมบูรณ์กว่า แต่เมื่อพรรคใหญ่ไม่ลงตัว จะ ขอให้เป็นคนกลาง ไปช่วยทำให้ ก็ต้องไปทำ เราจะไปทอดทิ้งให้เกิดปัญหาไม่ได้ ประเทศชาติเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้ จะเกิดความเสียหายมาก

ต้องยอมรับ ก้าวแรกในการทำงานรวมกันของ พท.และก.ก. ในเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ  ชัยชนะเป็นของ “พรรคพท.” แม้ว่าจะไม่ได้ส.ส.ของพรรคไปดำรงตำแหน่ง แต่การได้ “คนกลาง” ไปทำหน้าที่ ก็ดีกว่าให้ ก.ก.ได้ตำแหน่งสำคัญ ยิ่งต้องมีบทบาทในการนัดประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตคัดเลือกนายกฯ หาก “พิธา” ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม แม้พยายามจะผลักดันอย่างเต็มที่ ก็ถือเป็น หน้าที่พรรค พท. ในฐานะได้เสียงอันดับสอง ที่จะเขามามีบทบาทในการเสนอแคนดิเดตนายกฯ

ก่อนหน้านั้น มีรายงานจากพรรค พท.ว่า ประเด็นการหารือระหว่างพรรค พท. กับ พรรคก.ก.ในเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯได้ข้อยุติแล้ว พรรค.ก.ก.จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ส่วนพรรค พท. ได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯ 2 ตำแหน่ง บนเงื่อนไขที่ว่าทั้ง 8 พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม จะชู “พิธา” แคนดิเดตนายกฯพรรค ก.ก.เป็นนายกฯ แต่ถ้าไม่สามารถฝ่าด่าน ส.ว.ได้ พรรค พท. จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรค ก.ก.จะอยู่ช่วยพรรค พท. ในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่แยกตัวออกไปไหน ซึ่งแนวทางนี้เมื่อ ส.ส.รับทราบก็มีบางส่วนยอมรับว่า ขัดความรู้สึกบ้าง แต่เมื่อได้รับฟังการชี้แจงถึงเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรค ก.ก.จะยืนข้างพรรค พท. ไม่แยกตัวไปไหนกรณีที่พท.เป็นแกนนำ ทำให้ส.ส. รับฟังเหตุผลดังกล่าว

จากนี้ต้องจับตาดู ฝันของ “พิธา” ที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งนายกฯคนที่ 30 จะประสบความสำเร็จหรือไม่ หลังนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า หนทางของหัวหน้าพรรค ก.ก. ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แค่ตำแหน่งประธานสภาฯ พรรคอันดับหนึ่งก็ยังยึดมาครอบครองไม่ได้ เก้าอี้หัวหน้ารัฐบาลยิ่งเผชิญอุปสรรคขวากหนามมากกว่า อีกทั้งเพื่อนรวมงาน ก็ใฝ่ฝันตำแหน่งสำคัญเช่นเดียวกัน 

บางทีพรรค ก.ก.อาจเป็นพรรคการเมืองแรกๆ ที่แม้จะได้เสียงส.ส. ได้มากที่สุด แต่หมดสิทธิ์นั่งทั้งเก้าอี้ฝ่ายนิติบัญญัติและผู้นำฝ่ายรัฐบาล

……………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img