วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เพื่อไทย”ดัน“เศรษฐา”...ชิงนายกฯ MOUถูกฉีก-“ก้าวไกล”เป็นฝ่ายค้าน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เพื่อไทย”ดัน“เศรษฐา”…ชิงนายกฯ MOUถูกฉีก-“ก้าวไกล”เป็นฝ่ายค้าน

การออกมาส่งสัญญาณของ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พท.) หลังถูกตั้งคำถาม ในส่วนของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท. ทั้ง 3 คน ได้พูดคุยกันบ้างหรือไม่ หากถึงเวลาพรรค พท. ต้องเสนอชื่อแคนดิเดตจะเป็นใคร  

โดย “อุ๊งอิ๊ง” กล่าวว่า “พรรคพท.จะเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย อันนี้เป็นที่ชัดเจน แต่เราทำไปทีละขั้น”

แม้จะถูกตั้งคำถามว่า มีกระแสข่าว ส.ส.อีสานพรรค พท.ไม่สนับสนุนนายเศรษฐา แต่ “แพทองธาร” กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเป็นการตกลงกันในพรรค  ไม่ทราบว่าข่าวมากจากไหน แต่ตนสนับสนุนนายเศรษฐา

“ตอนนี้ประเทศชาติไม่ง่าย เพราะฉะนั้นเราคิดว่า ตัวเลือกที่ดีสุดกับประเทศ ณ ตอนนี้คือคุณเศรษฐา ที่จะช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าพรรค พท.ได้เป็นรัฐบาล แต่ถ้าไม่ได้เราก็ทำงานร่วมกันในการช่วยประเทศชาติ ทั้งนี้หากเป็นหัวหน้ารัฐบาลและต้องเลือกจากเรา เราก็มองว่าคือคุณเศรษฐา” แพทองธาร กล่าว

เท่ากับว่า แกนนำหนึ่งใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล คงเชื่อว่าหนทางที่จะทำให้ “พิธา ลิ้มจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แคนดิเดตนายกฯ มีโอกาสได้รับตำแหน่งตำแหน่งสำคัญ ในฐานะผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหารคงเป็นไปด้วยความยากลำบากแล้ว เพราะการประชุมร่วมรัฐสภาฯ เพื่อสรรหาบุคคลเข้ามาดำรตำแหน่งนายกฯ หัวหนาพรรคก.ก. ครั้งแรกได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกวฒิสภา (สว.) เพียง 13 เสียง บวกรวมกับเสียง 8 พรรคร่วมรัฐบาล หัก “วันมูฮะหมัด นอร์มะทา” ประธานรัฐสภา คือ 312 คน รวมเสียงได้เพียง 324 เสีง ยังขาดอีก 51 เสียง ซึ่งถือเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ ที่พรรค ก.ก. จะโน้มน้าว สว.ให้หันมากลับสนับสนุนได้

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรครัฐบาลเดิม และ สว. ซึ่งมี “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา เป็นประธานที่ประชุม ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ในการโหวตนายกฯวันที่ 19 ก.ค. จะต้องยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ที่กำหนดห้ามเสนอญัตติชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯซ้ำได้หรือไม่

เพราะมีความเห็นจากอีกฝ่ายระบุว่า เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับข้อ 41 และได้แยกเป็นอีกหมวดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งตรงกับหมวด 9 ที่ไม่ใช่ญัตติทั่วไป ดังนั้นจะขึ้นอยู่กับการประชุมวันที่ 19 ก.ค. ที่จะต้องดูหน้างาน และฟังเสียงของสมาชิก

ซึ่งถ้าหากให้ลงมติ เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาฯ อาจเห็นว่า ต้องยึดข้อบังคับการรัฐสภาข้อ 41 เพราะถ้ารวมเสียงสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 เสียง บวกกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 188 เสียง ก็มากกว่าพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีอยู่เพียง 324 เสียง นั่นหมายความว่า ชื่อหัวหน้าพรรค ก.ก. หมดสิทธิ์ ที่จะนำมาโหวตในทันที

เมื่อผู้สื่อข่าวถาม “วันมูฮะหมัดนอร์” หากสมาชิกส่วนใหญ่ มีการลงมติว่าเป็นญัตติตามข้อบังคับที่ 41 แล้วสามารถเสนอชื่อนายกฯคนอื่นที่ไม่ใช่ “พิธา” จะพิจารณาต่อได้เลยหรือไม่ ได้รับตำคอบว่า ข้อบังคับไม่ได้ห้าม ส่วนจะมีการเสนอชื่อนายกฯคนอื่น ที่ไม่ใช่ “พิธา” ได้เลยหรือไม่นั้น ไม่ทราบ แต่ข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ (รธน.) ไม่ได้ห้าม

ดังนั้นถ้าย้อนไปอ่านคำตอบ “แพทองธาร” ที่ประกาศสนับสนุน “เศรษฐา” เหมือนกับเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค. เพื่อโหวตนายกฯ ชื่อของ “พิธา” เกิดมีปัญหาที่ประชุมรัฐสภา มติส่วนใหญ่เห็นว่าญัตติดังกล่าวตกไป อย่าลืมว่า “แพทองธาร” เป็นทายาท “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง พรรคไทยรักไทย (ทรท.) ถือเป็นต้นกำเนิดของพท. ดังนั้นคำพูดหรือท่าทีของเธอ ล้วนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของสมาชิกพรรค พท.

แม้ก่อนหน้านั้น ในการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล  เมื่อวันที่ 17 ก.ค. “พิธา” ได้ออกมากล่าวภายหลังการหารือของ 8 พรรคร่วมว่า มีข้อสรุปอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ 1.วันที่ 19 ก.ค.ที่จะถึงนี้ 8 พรรคมีมติส่งตนเป็นแคนดิเดตนายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย 2.การหารือในเรื่องเกี่ยวกับการยื่นแก้ไขรธน.มาตรา 272 ของพรรค ก.ก. ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคก.ก.ได้เสนอเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีก 7 พรรคที่เหลือ 3.หารือในข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่มีกระแสข่าวส.ว.จะตีความตามข้อบังคับข้างต้น

ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นทางกฎหมายว่า ไม่น่าจะเข้าข่าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับรธน.ไม่เกี่ยวกับข้อบังคับแต่อย่างใด ไม่ถือว่าเป็นญัตติ ในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่อาจจะมองเห็นต่างกับส.ว.ในเรื่องนี้ อีกทั้งยังมีการเตรียมการในส่วนของรายละเอียด ในการเข้าสู่วันที่ 19 ก.ค.ที่จะถึงนี้

เมื่อถามว่า จะตั้งหลักอย่างไร หากวันที่ 19 ก.ค. มีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ “พิธา” กล่าวว่า อย่างที่ได้แถลงผ่านวิดีโอไป หากสมรภูมิแรก ถ้าคะแนนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เราก็พร้อมที่จะถอยให้กับประเทศชาติ ถอยให้พรรคอันดับ 2 ที่อยู่ในเอ็มโอยูร่วม ซึ่งก็คือพรรค พท. ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของมาตรา 272 ที่ได้ยื่นเข้าไปแล้ว และต้องบรรจุภายใน 15 วัน ซึ่งต้องมาดูกันอีกทีว่า เป็นการเสนอของพรรค ก.ก.เพียงพรรคเดียว ไม่ได้ผูกมัดกับพรรคอื่น

เมื่อถูกซักว่า การโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 หากตัวเลขไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จะมีการวางมือให้พรรคอันดับ 2 ส่วนตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญจะเป็นตัวเลขที่เท่าไหร่ “พิธา” กล่าวว่า ตนคิดว่าถ้าให้เหมาะสมต้องเพิ่มขึ้นเป็น 344-345 เสียง ก็น่าจะเป็นตามลักษณะนี้ ไม่ได้ตั้งใจที่จะกั๊กไว้ว่าเป็นนัยยะสำคัญที่ไม่ได้คิดตัวเลขไว้ในใจ ก็จะเป็นตัวเลขที่ไม่ฝืนสายตาประชาชน

ต้องยอมรับการออกมาแถลง พร้อมเปิดทางให้พรรคอันดับ 2 มาจากแรงกดดันของแกนนำพรรคพท. ที่ตั้งคำถามว่า “พิธา” จะเดินหน้าสู้ถึงเมื่อไหร่ โดยเฉพาะการมีการเร่งรีบเสนอญัตติแก้ไขรธน.มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. อย่างถาวร ขณะที่ในวันที่ 19 ก.ค.นี้จะมีการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกฯอีกรอบ

ภูมิธรรม เวชยชัย

โดย “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรค พท.  ได้ออกมาเตือนพรรค ก.ก.และ “พิธา” ให้ยืนอยู่บนความเป็นจริง โดยทวีตข้อความ “ภูมิธรรม เวชยชัย @phumtham” ช่วงกลางดึกวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า แก้รธน. มาตรา 272 เพื่ออะไร ทั้งที่รู้ว่าไม่สำเร็จ และยากกว่าที่เสนอ “พิธา” เป็นนายกฯ เพียงเพื่อต้องการถ่วงเวลาและแสดงสัญลักษณ์ว่าได้ต่อสู้แล้ว แต่ไม่นึกถึงวาระประเทศ และวาระประชาชนที่กำลังวิกฤต และทุกข์ยาก อยู่กับความจริง และแก้ปัญหาจากความจริงดีกว่า

นอกจากนี้ “ภูมิธรรม” ยังให้ความเห็นกับสื่อ กรณี “พิธา” ออกมาให้ความเห็นจะต่อสู้ใน 2 สมรภูมิคือ การโหวตนายกฯ และการแก้ไขรธน.มาตรา 272 ว่า ไม่เข้าใจว่าสิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะการเปิดสมรภูมิใหม่ ของพรรคก.ก.เป็นการเสนอประเด็น ที่อยู่นอกเหนือเอ็มโอยู ที่ 8 พรรคเซ็นร่วมกัน การเสนอเรื่องนี้ และบอกว่าจะต่อสู้จนกว่าจะประสบความสำเร็จ จนไม่สามารถไปได้แล้ว แล้วจะมอบอำนาจให้กับพรรคอันดับ 2

“การพูดเช่นนี้ฟังดูดี แต่ทั้ง 2 ประเด็น ยากลำบากและไม่มีกรอบเวลาชัดเจน การแก้ไข มาตรา 272 เราเคยพูดแล้วว่าเป็นได้เพียงสัญลักษณ์ ไม่ได้รับชัยชนะ แต่การเร่งตั้งรัฐบาลจะทำให้การแก้ไขรธน.ตามที่พรรค พท. ได้เสนอเป็นนโยบายไว้ว่า จะแก้ทั้งระบบ นี่ถือเป็นวาระสำคัญ แต่การเปิดวาระใหม่ของพรรคก้าวไกล เป็นการเสนอนอกเหนือ เอ็มโอยู ผมเห็นว่าการที่ นายพิธาและพรรคก.ก. นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน จึงคิดว่ามันไม่ใช่วาระของทั้ง 2 พรรค เราตกลงกันว่าจะกลับไปคุยในพรรคตัวเอง แต่ที่นายพิธา ออกมาพูดเช่นนี้ เหมือนมัดมือชกเรา เราจึงจำเป็นต้องออกมาพูดความจำเป็น และความเป็นจริงให้ทราบ”

พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า วันนี้อยากให้เปิดใจให้กว้าง แล้วเอาวาระประชาชนเป็นที่ตั้ง วาระประเทศเป็นที่ตั้งถูกต้องหรือไม่ การที่นายพิธา พูดว่าเวลานี้ อนาคตของพรรค ก.ก. และอนาคตของประชาชน อยู่ในมือของประชาชนแล้ว คิดว่าอย่าเอาประชาชนเป็นตัวประกัน วันนี้ประเทศชาติและปัญหาประชาชนอยู่ในมือพรรคก.ก.

อีกทั้งนายพิธา ต้องหยิบเอาปัญหาและวาระของประชาชนเป็นที่ตั้งแล้วตัดสินใจ ถ้าการตัดสินใจครั้งนี้ผิดพลาด ปัญหาประชาชนจะลำบากต้องอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ไปอีกนาน และจะรักษาการไปเรื่อยๆ แต่ถ้าตัดสินใจถูกต้อง ปัญหาจะคลี่คลาย อยากให้นายพิธา และพรรค ก.ก.นำไปคิด

เมื่อถูกถามว่า ได้คิดเรื่องการเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ ไว้บ้างหรือไม่ “ภูมิธรรม” กล่าวว่า พรรค พท.ไม่มีแผนสำรอง แผนแรกแผนเดียว เราอยากจับมือกับ 8 พรรคร่วม เดินหน้าไปให้ถึงที่สุด แต่ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้มีการเลือกไปเรื่อยๆ โดยที่ประเทศไม่รู้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร เรารอไปถึงต้นปีหน้าไม่ได้ เพราะปัญหาประเทศตอนนี้รุนแรงมาก

ไม่ต้องห่วงเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพท. ซึ่งพรรคพท.มีแคนดิเดตอยู่แล้ว 3 คน หากวันไหนชัดเจนให้พรรคพท. เราสามารถเสนอได้ แต่ไม่ใช่วาระสำคัญ เราไม่คิดเรื่องนี้ก่อน เราคิดถึงการหาทางออกให้กับประเทศ โดย 8 พรรคการเมืองเสนอนายพิธา ถ้าไม่ได้จะมีวิธีไหนที่ 8 พรรค จะดำเนินการร่วมกันให้ชนะ

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

ขณะที่ก่อนหน้านั้น “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ก็ออกมาวิจารณ์พรรคก้าวไกลตรงๆ ว่า ส.ส.ฝั่งตรงข้าม หรือ สว.ยังติดเงื่อนไขไม่เอาพรรค ก.ก. การโหวตนายกฯก็จะไม่ผ่านเหมือนเดิม ก็เป็นเรื่องของ พท.และก.ก.ต้องตกลงกันเองว่าจะเอาอย่างไร เรามีความคิด แต่ไม่สามารถจัดการอะไรได้

“ในที่สุดเพื่อให้มีนายกฯคนที่ 30 ให้ได้ ก้าวไกลคงต้องเสียสละออกไปเป็นฝ่ายค้าน เพื่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไปตามที่ประชาชนต้องการ การจัดตั้งรัฐบาลก็จะราบรื่นมากขึ้น อาจไปดึงพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือพรรคอื่นๆ เพื่อให้มีเสียงเกิน 376 เสียง เป็นไปได้”พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

มาถึงวันนี้หนทางที่ “ก.ก.” จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แทบไม่เหลืออยู่  แม้กระทั่งการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล  ตามเอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วม 

เพราะจับสัญญาณจาก “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรค พท. ออกมาระบุว่า หากพรรคพท.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เนื้อหาสาระของเอ็มโอยู ทั้ง 8 พรรคหลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลง

แต่ไม่ใช่การยกเลิก เช่น ชื่อของ “พิธา” จะต้องเปลี่ยนไปเป็นใคร การเติมเสียงพรรคที่ 9 พรรคที่ 10 การการเสียง สว.มาสนับสนุนเพิ่มเติม ถ้าประธานรัฐสภาจะบรรจุญัตติเลือกนายกฯในสัปดาห์หน้าเราก็มีความพร้อม 

ถ้าพรรคที่ 9 หรือ 10 เป็น พลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นหัวหน้าพรรค เพราะ “พิธา” เคยประกาศแนวทางในการหาเสียงยืนยัน “มีลุงไม่มี มีเราไม่มีลุง” จะทำให้พรรค ก.ก.ต้องจำยอมไปรับบทเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ หรือถ้าเป็นอุปสรรค ทำให้การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ที่มี “พท.” เป็นแกนนำ เดินไปด้วยความยากลำบาก เพราะ สว.บางคนตั้งป้อมค้าน อันเนื่องมาจากมีแนวทางในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

…………………

คอลัมน์ :ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img