วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“พท.”ผ่าทางตัน-ขอเป็นแค่พรรคร่วมฯ โยน“ภท.”ตั้งรัฐบาล-กันเหตุแทรกซ้อน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พท.”ผ่าทางตัน-ขอเป็นแค่พรรคร่วมฯ โยน“ภท.”ตั้งรัฐบาล-กันเหตุแทรกซ้อน

สถานการณ์จัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66  ยังเป็นเรื่องที่คาดเดายากจริงๆ แม้จะผ่านมาเป็นเวลา 2 เดือน จาก พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง 151 ที่นั่ง แต่ประสบความล้มเหลว ในการผลักดัน “พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จนต้องส่งไม้ต่อมาให้ พรรคเพื่อไทย (พท.)

แต่ดูเหมือนก็ไม่ใช้เรื่องง่าย สำหรับพรรคที่ได้เสียงมาเป็นอันดับสอง เนื่องจากติดจำนวนตัวเลข สส. 8 พรรคร่วม จัดตั้งรัฐบาลค้างที่ 312 เสียง ต้องหาอีก 64 เสียง ซึ่งลำพังถ้า “พท.” ไม่มี “ก.ก.” พ่วงติดอยู่ด้วย ก็ไม่น่าเป็นปัญหา  เพราะไม่มีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ในเมื่อยังผูกติดกับเอ็มโอยู 8 พรรค ก็ยากที่จะไปต่อสู่ฟากฝันได้ แถมยังมีมวลชนฝ่ายด้อมส้ม และเครือข่ายที่สนับสนุนพรรคก.ก.มาคอยกดดัน  

อีกทั้งการเรียกบรรดาพรรคต่างขั้วมาหารือรวมกับ “พท.” ให้เหตุผลเพื่อช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รสทช.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ต่างก็ประกาศชัดว่า ไม่สามารถร่วมงานกับ “ก.ก.” ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีมีนโยบายแก้ไขกฎหมาย ที่ไม่ไว้เพื่อป้องคุ้มครองสถาบัน รวมทั้งการขับเคลื่อนในแนวทางต่างๆ ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนต่างขั้ว จะมีเพียง “ชาติพัฒนากล้า” (ชพก.) ที่เงื่อนไขอ่อนน้อย แต่ก็มีสส.เพียง 2 เสียง ไม่เพียงพอกลับการนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล

เช่นเดียวกับ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด จากจำนวน 250 คน แต่ส่วนใหญ่ก็ตั้งเงื่อนไขเช่นเดียวกันคือ ถ้ายังมี “”ก.ก.” เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็คงไม่สามารถออกเสียงสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯจาก “พท.” ได้ ที่คาดจะเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” หลัง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครอบครัวเพื่อไทย และหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯพรรค พท.  ออกมาประกาศสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยเชื่อว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้คือ เรื่องเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องคนที่มีความเชี่ยวชาญมาแก้ไขปัญหา

จากไปต้องจับตาดูว่า “พท.” จะนัดประชุมกับ 8  พรรคร่วมรัฐบาลอีกเมื่อไหร่ หลังเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ได้แจ้งยกเลิกกำหนดการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลกะทันหัน จากเดิมที่มีการนัดประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่ห้อง CB 308 อาคารรัฐสภา เวลา 15.00 น. สร้างความประหลาดใจให้ใครหลายคน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการนัดประชุมที่พรรค พท. แต่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ เนื่องจากหลีกเลี่ยงกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะเดินทาง มาเรียกร้องจุดยืนทางการเมืองที่พรรค พท. และเมื่อสอบถามไปยังแกนนำพรรค พท.ยังไม่ได้ระบุถึงสาเหตุการยกเลิกการประชุม และยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะมีการประชุม 8 พรรคร่วมในวันใด และเมื่อสอบถามไปยังพรรคเล็กทราบว่า เหตุผลที่ยกเลิกนั้น เนื่องจากการทำงานที่ได้รับมอบหมายยังไม่มีความคืบหน้า

หรือเป็นเพราะ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคพท. กำลังรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่ไปพูดคุยกับ พรรคร่วมรัฐบาลเดิม และ สว. มาแจ้งให้ที่ประชุม 8  พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้รับทราบ จึงต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

แต่ก็ยังถือว่า เป็นเรื่องโชคดีของแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลัง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ออกมาเปิดเผย ถึงการประชุมฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษาประธานสภา เพื่อประกอบการวินิจฉัยของประธานสภาฯ ที่ประชุมเห็นว่า ถ้าประธานรัฐสภาจะสั่งงดการประชุมรัฐสภา วันที่ 27 ก.ค.นี้ จะทำให้เหตุการณ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรธน. วินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้น จะได้ไม่มีความขัดแย้งกับที่รัฐสภาจะประชุมกันวันที่ 27 ก.ค. หากมีคำสั่งของศาลรธน.ออกมาในภายหลัง

และเมื่องดการประชุมวันที่ 27 ก.ค. ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่ายในวันที่ 26 ก.ค. จึงต้องงดไปด้วย

ขณะที่ คำร้องผู้ตรวจการฯ ที่ได้ส่งไปยังศาลรธน.ตีความ กรณีรัฐสภาลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกฯถือเป็น “ญัตติ” ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ชอบด้วย รธน.หรือไม่ พร้อมขอให้ศาลสั่งให้รัฐสภา รอการดำเนินการโหวตนายกฯในวันที่ 27 ก.ค.นี้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดออกมา

ทำให้แกนนำพรรคพท. มีเวลาหายใจหายคอมากขึ้น ไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเวลา หากรีบนำเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯจากพรรคพท.ไปโหวต ในที่ประชุมรัฐสภา อาจตกม้าตาย เช่นเดียวกับพรรคก.ก. ดังนั้นเมื่อว่างเว้นจากการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมา 9 ปีเต็ม คงไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้น แม้เมื่อรวมเสียง “ก.ก.” กับ “พท.” คือ 151+141 รวมกันได้ 292 เสียง ซึ่งเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีอยู่เพียง 188 เสียง แต่การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้

จึงต้องรอว่า “พรรคพท.” จะนัดพรรค 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล มาหารืออีกเมื่อไหร่ ซึ่งจะถือว่า มีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณมาจากพรรคร่วมอุดมการณ์ โดย “เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ” ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้มีการแก้ไขเอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า เอ็มโอยูที่ทำกันครั้งแรกมี 23 ข้อ ทั้ง 8 พรรคสนับสนุนให้นายพิธา หัวหน้าพรรคก.ก.เป็นนายกฯ และส่วนใหญ่ทั้ง 23 ข้อ เป็นนโยบายของพรรค ก.ก.ทั้งหมด แต่เมื่อพรรค ก.ก.ส่งไม้ต่อให้ พรรคพท. เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เอ็มโอยูเดิมจึงใช้ไม่ได้ ต้องให้พรรค พท.ทำใหม่ แต่จะทำหรือไม่ ก็แล้วแต่พรรค พท. เพราะเป็นสิทธิของพรรค พท.ในการจัดตั้งรัฐบาล จะไปเอาพรรคอื่นมาร่วมเพื่อให้ได้ถึง 375 เสียง หรือจะยึดใน 8 พรรคร่วมเดิมก็สามารถทำได้

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

เช่นเดียวกับ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องเอ็มโอยู 8 พรรคว่า วันแรกที่รวมตัวกัน ก.ก.เป็นคนนำ เขาทำเอ็มโอยูมา ผมเสนอนั่นนี่ แต่เขาไม่เอา เขาไม่เข้าใจเอ็มโอยูว่าเป็นยังไง เอาแต่นโยบายของตัวเอง แล้วมาผูกมัดผมด้วย แต่ขี้เกียจพูด เซ็นก็เซ็น แต่ตอนนี้พท.จัดตั้งรัฐบาล ต้องให้โอกาสพท.เขียนเอ็มโอยูไป แต่ตอนนี้ยังไม่เกิด

หัวหน้าพรรคสร. กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เสนอแนะเอง เปรียบเสมือนเราไปกลางทะเล มีมรสุมต่างๆ เรือล่ม มีทั้งผู้หญิง เด็ก คนแก่ ชายหนุ่ม มีเรือลำหนึ่งมา เราจะให้ใครขึ้นเรือก่อน เลยบอกว่าให้เด็ก ให้ผู้หญิง ให้คนแก่ขึ้นก่อน ลำที่ 2 มา (คนหนุ่ม) ค่อยขึ้น กลับมาตีความผิดว่า ทำงานการเมืองแก่แล้ว ต้องให้คนหนุ่มทำ คนละเรื่องกัน เราพูดถึงตัวอย่างในทะเล

“ต้องการสื่อว่า ตอนนี้เขาไม่เอาก.ก.หมด สว.ก็ไม่เอา พรรคต่างๆ ก็ไม่เอา พท.จะจัดได้ยังไง เพราะถ้ามีก.ก. เขาก็ไม่เอา เลยเสนอแนะว่าก.ก. ถอยออกมาก่อน ปล่อยให้พท.จัดไป”

ถือเป็นการส่งสัญญาณจากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล แนะให้จัดทำเอ็มโอยูใหม่ เพื่อเปิดทางให้ “พรรคพท.” มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ จะอาใครเข้า-ออก ก็ไม่ต้องพะวงว่า 8  พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะไม่เห็นด้วย ซึ่งอาจเป็นการช่วยกดดัน “ก.ก.” ไปในตัว

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

เช่นเดียวกับ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคพท. ที่ระบุว่า เอ็มโอยูเป็นของ 8 พรรคร่วม ที่ได้พูดคุยกันและตกผลึกมา และเมื่อมีการประชุม 8 พรรคร่วม จะมีการพูดคุยกัน ส่วนเอ็มโอยูระหว่างพรรค ก.ก. และพรรค พท. เป็นฉบับที่ 2 มีประมาณ 4 ข้อ หากให้พรรค พท. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะต้องปรับแก้ให้มีความสอดคล้องกัน แต่ข้อ 1 ที่ให้ทุกพรรคสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกฯคงเป็นไปไม่ได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของแกนนำพรรคก.ก. ที่ต่างออกมาประสานสานเสียงว่า ควรจะรอเวลาไปอีก 10 เดือน จนถึงวันที่ 11 พ.ค.2567 เพื่อให้สว.สูญสิ้นอำนาจในการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรธน.60 โดยอำนาจจะกลับมาอยู่ในมือของ สส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยบริบูรณ์ ตามมาตรา 159 จากนั้นคอยมาเดินจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ ซึ่งข้อเสนอนี้ ดูเหมือนจะไม่มีใครตอบรับ แม้กระทั่ง “พรรคพท.” เพราะเห็นว่า บ้านเมืองรอไม่ได้ ต้องมีฝ่ายบริหารเข้ามาแก้ไขปัญหา

เช่นเดียวกับข้อเสนอที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ประชุม สส.พรรคก.ก. ได้หารือถึงแนวทางของพรรคต่อกรณีที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯอยู่ภายใต้การกำกับของข้อบังคับฯ ข้อ 41 ประกอบข้อ 151

โดยเรื่องนี้มี สส.แสดงความเห็นหลายคน สรุปไปในทางเดียวกันว่า พรรคก.ก.เห็นสอดคล้องกับนักวิชาการด้านนิติศาสตร์จำนวนมากที่ได้แสดงไว้ก่อนหน้านี้ ว่ามติรัฐสภาดังกล่าวขัดต่อรธน. และสภาฯสามารถแก้ไขได้เอง ไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลรธน.ชี้ขาด เพราะเท่ากับทำให้ศาลรธน.เข้ามาแทรกแซงการวินิจฉัยตีความของรัฐสภา หรือมีอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ดังนั้น พรรคก.ก.เห็นว่ากรณีนี้สามารถใช้กลไกสภาฯ ในการหาทางออก ผ่านการยื่นญัตติให้รัฐสภาทบทวนมติที่เคยมีไปแล้ว โดย สส.พรรคก.ก.จะดำเนินการในการประชุมรัฐสภาครั้งถัดไป ทั้งนี้หากที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบกับญัตติที่พรรคก.ก.เสนอ จะเป็นการปลดล็อกความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น ทำให้การเสนอนายกฯ ไม่ต้องผูกพันกับมติเดิมของที่ประชุมอีกต่อไป สามารถเสนอบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ ซ้ำได้

แต่เชื่อได้เลยสมาชิกรัฐสภาที่เคยออกเสียงไว้ว่าไม่สามารถเสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำได้ จะไม่มีทางยกมือสนับสนุนญัตติที่พรรคก.ก. นำเสนอ เพราะเท่ากับยืนยันตนเองตัดสินใจผิดพลาด อาจถูกเรียกร้องให้รับผิดชอบทางการเมือง

จากนี้ต้องรอดู สูตรการจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การนำของพท. ไล่ตั้งแต่…

สูตรที่ 1 คือ 8 พรรคร่วม 312 เสียง ประกอบด้วย พรรค ก.ก. 151 เสียง, พรรค พท. 141 เสียง, พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง, พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 6 เสียง, พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง, พรรคสร. 1 เสียง, พรรคเป็นธรรม (ปธ.) 1 เสียง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง พร้อมกับชู “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือก ซึ่งต้องหาเสียงสนับสนุนอีก 64 เสียง ถ้าไม่ขอแรงหนุนจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องอาศัยเสียงจากส.ว. ซึ่งในช่วงที่มีการโหวตเลือกกนายกฯครั้งแรก ได้เสียงส.ว. มาเติมให้ 13 เสียง แต่สูตรนี้ถ้ายังมี ก.ก. ร่วมอยู่ด้วย ก็ยากที่จะผ่าน

สูตรที่ 2 พรรคพท. พยายามหาเสียงจากขั้วรัฐบาลเดิม 188 เสียง แต่ก็ดูแล้วเป็นไปได้ยาก เพราะฟังสุ่มเสียงของ พรรคการเมืองที่มารวมหารือกับพท. ต่างไม่ขอรวมสังฆกรรมด้วย หากมีก.ก. ร่วมอยู่ด้วย

สูตรที่ 3 ประกอบด้วย พรรค พท. 141 เสียง และอีก 7 พรรค โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลเดิมคือ พรรค ภท.-พรรค พปชร.-พรรค รทสช.-พรรค ชทพ.(ชาติไทยพัฒนา) ร่วม โดยไม่มีพรรค ก.ก.-ทสท.-ปชป.(ประชาธิปัตย์) ก็จะมีเสียงอยู่ที่ 316 เสียง ซึ่งน่าจะได้เสียงโหวตจาก สว. เพราะมีทั้ง พปชร. และรทสช.ร่วมอยู่ด้วย แต่ก็สุ่มเสี่ยงจะถูกโจมตีจากบรรดาด้อมส้ม และมีการปลุกม็อบจากฝ่ายที่สนับสนุนพรรค ก.ก.

หรือบางทีอาจมี สูตรที่ 4 ตามที่ น.พ.ชลน่าน เคยเปรยไว้ “ถ้าพรรคอันดับสองจัดไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคอันดับสามคือ “ภท.” โดย “พท.” อาจขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ได้สิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ”

การเมืองบ้านเราอะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการผ่าทางตัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุแทรกซ้อนทางการเมือง

……………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img