วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSลุ้น''ประชาธิปัตย์"กลายเป็นพรรคต่ำสิบ ลุยขับ“เดชอิศม์-พรรคพวก”พ้นสังกัด!!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ลุ้น”ประชาธิปัตย์”กลายเป็นพรรคต่ำสิบ ลุยขับ“เดชอิศม์-พรรคพวก”พ้นสังกัด!!!

สถานการณ์ “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) พรรคที่มีอายุยาวนานกว่า 70 ปี อยู่ในขั้น “โคม่า” จริงๆ ทั้งล้มเหลวจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ได้สส.มาเพียง 25 คน น้อยลงกว่าเดิมเกินครึ่ง แถมกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่มี “พรรคเพื่อไทย” (พท.) เป็นแกนนำ ก็นำมาสู่ความขัดแย้ง จนถึงขึ้นอาจมีการแยกตัวของสส.จำนวนหนึ่งในอนาคต และทำให้สส.พรรคปชป.กลายเป็นพรรคต่ำสิบ 

ก่อนหน้านั้น การประชุมพรรค ปชป. เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ต้องล่มลงไปถึง 2 ครั้ง อันเนื่องมาจากองค์ประชุมไม่ครบ โดยกลุ่มผู้อาวุโสภายในพรรคนำโดย “ชวน หลีกภัย” อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ไม่ต้องการ “กลุ่มเฉลิมชัย ศรีอ่อน” รักษาการเลขาธิการพรรค และ “เดชอิศม์ ขาวทอง” สส.สงขลา ซึ่งคุมจำนวนสส.อยู่ 21 คน เข้ามายึดอำนาจในพรรค

เนื่องจากระเบียบข้อบังคับพรรค ปชป. ในการเลือกผู้บริหารพรรค กำหนดให้ยึดถือสส.พรรค เป็นสัดส่วน 70% ของคะแนนทั้งหมด ส่วนสมาชิกกลุ่มอื่นๆ นับเป็น 30% ดังนั้นถ้าหากปล่อยให้การประชุมพรรคเกิดขึ้น อำนาจในการบริหารพรรค จะตกอยู่กับ “กลุ่มเฉลิมชัย” ทำให้อีกฝ่าย ต้องเดินเกมทำให้องค์ประชุมล่ม เพราะความพยายามในการแก้ไข้ข้อบังคับ ให้สัดส่วนในการลงคะแนนเท่ากัน ไม่ประสบความสำเร็จ ฝ่ายตรงข้ามไม่เห็นด้วย

อีกทั้ง “กลุ่มผู้อาวุโส” ภายในพรรค ก็รับรู้ความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มเฉลิมชัย” ที่ต้องการนำพรรค ปชป. เข้าไปร่วมรัฐบาลกับพรรค พท. จึงต้องการให้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” ยังทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคต่อไป เพื่อมีอำนาจทัดทาน “สส.กลุ่มเฉลิมชัย” แต่ในที่สุดก็เกิดปัญหาขึ้นมาอีก เมื่อในการประชุมร่วมรัฐสภาฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อโหวตสรรหานายกรัฐมนตรี “16 สส.ปชป.” นำโดย “เดชอิศม์” ก็ขานชื่อให้ความเห็นชอบ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ

ทั้งที่พรรค ปชป.มีมติให้งดออกเสียง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดกับมติพรรค ซึ่งมีรายงานข่าวออกมาว่า ก่อนที่จะมีการโหวต แกนนำกลุ่มคือ “เดชอิศม์” และ “ชัยชนะ เดชเดโช” สส.นครศรีธรรมราช ได้หารือกับแกนนำพรรคพท.คือ “ภูมิธรรม เวชชัย” ว่า เสียงยังกำกึ่ง พวกตนพร้อมจะโหวตเติมให้ แต่ต้องได้ร่วมรัฐบาล ดังนั้น ทางกลุ่มที่โหวตสวนมติพรรค จึงไม่ได้แสดงตนในที่ประชุม

แต่กลับนั่งรวมตัวกันข้างนอก จนเมื่อทราบว่า ผลการโหวตเสียงเกิน 375 เสียง ที่โหวตให้ “เศรษฐา” ขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งได้เสียงสนับสนุนทั้งสองสภา 482 เสียง ก็ได้มีการพูดคุยกันกับ “แกนนำ พท.” ว่าจะยังโหวตเห็นชอบ โดยขอเป็นอะไหล่ ในกรณีที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ต้องการเจรจาต่อรองขอ “กระทรวงเกรดเอ” จากพรรค พท. หากพรรคภท.ไม่ได้และถอนตัว 71 เสียงออกไป ก็จะเหลือ 411 เสียง หากบวกกับทางกลุ่มของตนซึ่งมี 16 เสียง ก็จะได้ 427 เสียง เสริมความแข็งแกร่งของรัฐบาลได้ โดยไม่ต้องพึ่งพรรค ภท. โดยทางกลุ่มของตนก็จะพร้อมเสียบทันที จนเป็นที่มาของการโหวตสวนมติพรรค ปชป.

เดชอิศม์ ขาวทอง

จากนั้น “เดชอิศม์” ได้นำสส. พรรคจำนวน 21 คน ออกมาชี้แจง ถึงการออกเสียงเห็นชอบ “เศรษฐา” ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยโดยยืนยันว่า พรรคไม่มีมติแนวทางโหวตนายกฯ พร้อมระบุชัดเจนว่า การยกมือให้นายเศรษฐาเป็นการทำเพื่อประชาชน ไม่ได้กระเหี้ยนกระหือรือร่วมรัฐบาล

“เรานั่งคุยกันกับสส.ปชป. ประมาณ 20 คน พอมีการโหวตเรานั่งดู 3 คนแรกที่โหวตคือ นายจุรินทร์-งดออกเสียง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน-โหวตไม่เห็นชอบ นายชวน หลีกภัย-ก็โหวตไม่เห็นชอบ นี่คือสามเสาหลักของปชป. ในเวลานี้ ลงคะแนนก็ไม่เหมือนกันแล้ว พวกเราจึงนั่งคุยกันว่านี่เป็นมติของพรรคหรือไม่ เพราะคำว่ามติพรรค จะขอยกเว้นไม่ได้ มติไปทางใดต้องไปทางนั้น พวกเราจึงมีความเห็นว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่มติพรรค” เดชอิศม์แจกแจง

พร้อมทั้งบอกอีกว่า “ความจริงแล้วการขับออกจากพรรค ต้องมีสส.ร่วมกับก.ก.บห. และเป็นมติ 3 ใน 4 แต่ดูไปดูมา สส. และกก.บห.พรรคส่วนใหญ่ อยู่ตรงนี้หมดแล้ว ไม่รู้ว่าจะขับใครกันแน่ ไม่ทราบเหมือนกันเพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่นี่เกือบทั้งหมด ดังนั้นจะขับกันอย่างไร” 

คำพูดของ “เดชอิศม์” ถือเป็นการท้าท้ายสมาชิกกลุ่มอื่นและผู้อาวุโสพรรค สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจ สามารถกุมเสียงสส.ส่วนใหญ่ของพรรคได้ 21 คน จากทั้งหมด 25 คน ยกเว้น “ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์” และ “สรรเพชญ บุญญามณี” สส.สงขลา ถ้าหากมีการเลือกประชุมรักษาการณ์ กก.บห. คงไม่สามารถดำเนินการอะไรกับกลุ่มของเดชอิศม์ได้

ชวน หลักภัย

ขณะที่ “นายหัวชวน” ได้ออกมาชี้แจงถึงการตัดสินใจ ใช้เอกสิทธิส่วนตัว “ไม่เห็นชอบ” ในการโหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ เช่นเดียวกับอดีตหัวหน้าพรรค “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ว่า “การโหวตวันนี้ มิใช่การขัดต่อมติพรรคเเต่อย่างใด เเต่เป็นการย้ำจุดยืนไม่ทรยศคนใต้ เนื่องด้วยพฤติการณ์ในอดีตของรัฐบาลยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มีการเลือกปฏิบัติต่อภาคใต้ ละเมิดหลักนิติธรรม รวมถึงการรณรงค์หาเสียงของพรรคเรา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ก็หยิบยกประเด็นนี้มาพูด จนคนใต้ไม่เลือกพรรคการเมืองของคนกลุ่มนี้ตลอดมา แต่ที่น่าตลกเพราะคนในกลุ่มนี้บางคนขู่ผมไว้ว่า ตอนที่เขาจะไปร่วมว่า ต้องทำตามมติพรรค หากใครไม่ทำตามมติพรรคต้องเอาออก วันนี้ผมไม่ได้ทำผิดมติพรรคแต่อย่างใด เพราะขออนุญาตที่ประชุมพรรคแล้วว่า จะขอไม่โหวตให้ และพรรคก็ได้ มีมติงดออกเสียง แต่วันนี้สิ่งนี้กลับย้อนไปที่ตัวเขาเอง ด้วยการขัดมติพรรคเสียเอง”

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ส่วน “จุรินทร์” รักษาการหัวหน้าพรรคในปัจจุบัน ใช้สิทธิ “งดออกเสียง” โดยมีแค่ “6 สส.” ยกมือตามมติพรรค ประกอบด้วย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-สรรเพชญ์ บุญญามณี-สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ-ร่มธรรม ขำนุรักษ์-สมยศ พลายด้วง-ประมวล พงศ์ถาวราเดช”

ขณะที่มีความเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรค ปชป.กลุ่มอื่นๆ ไม่พอใจกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเดชอิศม์และพวก ได้ยื่นเรื่องให้ผู้บริหารพรรคสอบสวน โดย “สาธิต ปิตุเตชะ” รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป.พร้อมด้วย “ไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์” สมาชิกพรรคปชป. “ผ่องศรี ธาราภูมิ” รักษาการกก.บห. ยื่นหนังสือถึง “จุรินทร์” เพื่อขอให้ลงโทษผู้มีพฤติกรรมทำผิดข้อบังคับพรรคอย่างร้ายแรง ด้วยการเป็นปฏิปักษ์กับพรรคด้วยการฝ่าฝืนมติกก.บห. และที่ประชุมส.ส.ของพรรค ทำให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียง และสร้างความแตกแยกในพรรค

จากข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว “เดชอิศม์ ขาวทอง” และ “ชัยชนะ เดชเดโช” รวมถึง สส.ของพรรค ปชป. รวมทั้งสิ้น 16 คนเป็นการกระทำโดยเจตนาไม่สุจริต จงใจกระทำการฝ่าฝืนกับข้อบังคับพรรคฯ ด้วยการฝ่าฝืนมติของกก.บห. และที่ประชุม สส. อีกทั้งเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคปชป. ทำให้เกิดการแตกแยกสามัคคีภายในพรรค ปชป. และทำให้พรรค ปชป. ที่มีอุดมการณ์มั่นคงมาเป็นระยะเวลาเนิ่นนานนั้นได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง เสื่อมศรัทธาและคะแนนนิยมของประชาชน ทำให้พรรค ปชป. ได้รับความเสียหายร้ายแรงอย่างชัดเจนจึงเป็นการกระทำความผิดข้อบังคับข้อ 18, 96, 115 และ 124

ด้วยเหตุผลดังที่เรียนไว้ในข้างต้นนี้ ขอให้รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนการกระทำความผิดดังกล่าวโดยเร็วที่สุดและดำเนินการลงโทษนายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ รวมถึง สส. ของพรรค ปชป. รวมทั้งสิ้น 16 คนที่กระทำการผิดข้อบังคับพรรคฯ ฝ่าฝืนมติกก.บห.และที่ประชุม สส. และทำให้พรรค ปชป. ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับพรรคด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มตัวแทนสาขา สมาชิกพรรคปชป. ภาคอีสาน เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอให้ กก.บห. มีมติขับกลุ่มสส. ที่โหวตสวนมติพรรค ต่อ “จุรินทร์” โดยระบุว่า ตามที่มีสส.ของพรรคกลุ่มหนึ่ง ได้โหวตสนับสนุนนายเศรษฐา ทั้งที่พรรคมีมติให้สส.งดออกเสียง เมื่อวันที่ 22 ส.ค.นั้น พวกเราในฐานะตัวแทนสาขา และเขตเลือกตั้งจากหลายจังหวัดภาคอีสาน ต่างได้รับการสอบถาม และตำหนิถึงพฤติกรรมของสส. กลุ่มนี้ แต่พวกเราไม่ได้รู้สึกแปลกใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะคาดหมายได้ว่า เขาต้องการยึดพรรคเพื่อร่วมรัฐบาล เราจึงได้แสดงถึงจิตสำนึก ที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมในครั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม พวกเราแม้จะเจ็บจากพฤติกรรมของบุคคลกลุ่มนี้ แต่ไม่ได้โกรธหรือเกลียดในทางที่พวกเขาเลือก แต่รู้สึกยินดีที่จะสนับสนุนให้เขา ได้เดินไปในแนวทางที่เขาต้องการ ซึ่งมีวิธีการเดียวคือ ใช้มติกก.บห.ขับบุคคลกลุ่มนี้เพื่อให้เขาได้มีโอกาส ไปอยู่กับพรรคใหม่ที่เป็นรัฐบาลได้ ซึ่งจะเป็นการจากกันด้วยดี

งานนี้ต้องจับตา “จุรินทร์” จะกล้าตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนนายเดชอิศม์และพวกหรือไม่ เมื่อรู้ว่าคนกลุ่มนี้กุมเสียงส่วนใหญ่ในกก.บห.พรรคอยู่  เพราะขนาดนัดประชุมใหญ่พรรค ยังไม่สามารถดำเนินการ ด้วยเกรงว่าอำนาจในการบริหารจะตกอยู่กับ “เฉลิมชัย” และพวก

แม้ “เชาว์ มีขวด” อดีตรองโฆษกพรรคปชป. จะให้ความเห็นว่า เกี่ยวกับเรื่องที่พรรคปชป. จะดำเนินการขับ สส. 16 คน ที่แหกมติพรรคได้อย่างไร ในเมื่อฝ่าย สส.ทั้ง 16 คน กุมเสียงข้างมาก ที่ประชุมก กก.บห.บวกกับ สส.ตามข้อบังคับพรรค ตามที่นายเดชอิศม์ แถลงข่าวว่า “การขับออกจากพรรคต้อง สส.ร่วมกับกก.บห.โดยใช้เสียง 3 ใน 4 ดูไปดูมาก็มาอยู่ตรงนี้หมดแล้ว ไม่รู้ใครจะขับใครกันแน่ เสียงส่วนใหญ่อยู่นี่เกือบทั้งหมด”

“เชาว์” ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ยาก เนื่องจาก สส. 16 คน คือผู้ถูกกล่าวหา ถือเป็นผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียในเรื่องที่พิจารณา ซึ่งไม่มีหลักการดำเนินกระบวนพิจารณาใดในโลกนี้ ที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมประชุมเพื่อลงมติพิจารณาความผิดของตนเอง ถ้า สส.ทั้ง 16 คน คิดจะเลี่ยงบาลี ขอให้ที่ประชุมพิจารณาความผิดเป็นรายบุคคลได้หรือไม่ เพราะจะได้ใช้สิทธิสับเปลี่ยนกันเข้าประชุมช่วยกันห้าม คำตอบคือไม่ได้ เพราะเป็นการร่วมกันกระทำความผิด ในข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหาเดียวกัน อันเป็นลักษณะความผิดกรรมเดียวทั้ง 16 คน การพิจารณาต้องกระทำในคราวเดียว ไม่สามารถแยกพิจารณาเป็นรายบุคคลได้

ต้องจับตาดูว่า สมาชิกพรรคเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จะนำพาพรรคออกจากความขัดแย้งได้อย่างไร เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุด นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา แม้กระทั่งช่วงเกิดปัญหากลุ่ม 10 มกราฯ  ก็ไม่รุนแรงเท่า หากที่ประชุมพรรคจะขับ 16 สส. ที่ขัดกับมติพรรคได้ ซึ่งอาจมี สส.เดินตามกลุ่มนี้ไปอีก 5 คน นั่นหมายความว่า พรรคปชป.จะกลายเป็นพรรคต่ำสิบ ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่พรรค ปชป. ก่อตั้งมา

หรือถ้า “เฉลิมชัย” และ “เดชอิศม์” สามารถยึดกุมอำนาจากการบริหารพรรค ท่ามกลางกระแสการต่อต่อต้านจากบรรดาผู้อาวุโสในพรรค อนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไร ในเมื่อองค์กรไม่มีเอกภาพ ความสามัคคีไม่เกิด การยอมรับจากสังคมก็คงยากจะเกิดขึ้น หรือ “ปชป.” จะเหลือแต่เพียงชื่อ ไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชนในการผลักดัน สิ่งที่เป็นประโยชน์ได้อีกต่อไป

………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย..“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img