วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ม็อบ”บี้“ทักษิณ”อยู่นอกคุก“จุดไม่ติด” ลุ้น“องค์กรอิสระ”สอบ“กรมคุก-รพ.ตร.”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ม็อบ”บี้“ทักษิณ”อยู่นอกคุก“จุดไม่ติด” ลุ้น“องค์กรอิสระ”สอบ“กรมคุก-รพ.ตร.”

ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว กับการนัดหมายทำกิจกรรมของ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่นัดชุมนุมเพื่อแสดงออกต่อกรณี “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสถานะเป็น “นักโทษชาย” ยังไม่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ โดย “พิชิต ไชยมงคล” และ “นัสเซอร์ ยีหมะ” เป็นแกนนำ ซึ่งมีการชุมนุมแบบปักหลักค้างคืนที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล

ถือเป็นการเคลื่อนไหวกลุ่มแรก ที่ใช้สถานที่ทำงานของหัวหน้ารัฐบาล เป็นที่เคลื่อนไหว และพักค้างอ้างแรม แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีมวลชนเข้าร่วมไม่มากนัก ประมาณ 100 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่มีเยาวชนหรือนักเคลื่อนไหวกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วม ซึ่งประเด็นในการเคลื่อนไหวคือ ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.66 หลังจาก “นายทักษิณ” เดินทางกลับมายอมรับโทษ เข้าสู่กระบวนการถูกจองจำ  และเกิดอาการป่วยในช่วงคืนกลางดึกของวันเดียวกัน

จนถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเกิน 120 วัน ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “อธิบดีกรมราชทัณฑ์” ก็ออกมาระบุว่า “ได้รายงานให้รมว.ยุติธรรมได้รับทราบแล้ว” ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า “นายทักษิณ” จะนอนพักอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ จนได้รับการพักโทษ และได้ออกไปใช้ชีวิตนอกเรือนจำแน่ๆ โดยไม่ถูกจำคุกแม้แต่เพียงวันเดียว

คำถามคือ “ทำไม” บรรดามวลชนถึงมีจำนวนไม่มาก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกัน ของผู้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนยุติธรรม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหญ่  อย่างเช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  (กปปส.) ซึ่งเคยมีบทบาท ต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” อย่างเอางานเอาการ ไม่เข้ามามีส่วนร่วม

อาจเป็นเพราะแกนนำทั้งสองกลุ่ม มีปัญหาเรื่องคดีความ ต้องการรอเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการนิรโทษกรรม อีกทั้งแกนนนำ กปปส.บางคน ก็เป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รสทช.) ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำ จึงไม่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะเกรงจะนำมาขยายเป็นประเด็น กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง เพราะรัฐบาลเพิ่งทำงานมาเพียง 6 เดือน

ส่วนนักเคลื่อนไหวที่เป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีบทบาทและออกมาเคลื่อนไหวในสมัยในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีแนวทางและจุดยืนแตกต่างกัน เนื่องจาก กลุ่มราษฎรที่ใช้สัญลักษณ์ชู 3 สามนิ้ว หนึ่งในข้อเรียกร้องคือ การปฏิรูปสถาบัน ซึ่งขัดกับแนวทางของ คปท. และสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวของ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) มาโดยตลอด

สังคมจึงไม่เห็นภาพกลุ่มคนเหล่านี้ ออกมาแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้ขาดพลังไปพอสมควร จึงได้เห็นปริมาณมวลชนเข้าร่วมไม่มากหนัก ส่วนบรรดาตัวตึง ที่มาขึ้นเวทีปราศรัย ก็มีเพียง “นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์” แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

แม้ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งมีข้อหากระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 จะออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า “ตอนที่เราอยู่ในเรือนจำ รอบที่มีการอดอาหาร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำข้อมูลอาการของเรา เผยแพร่ต่อสาธารณะหลายโอกาส ทั้งที่ไม่ได้มีการขอความยินยอมด้วยซ้ำ ทั้งมีการถ่ายภาพไว้ทุกครั้งที่มีการตรวจด้วย พอเรามารู้ทีหลัง ว่ามีการเผยแพร่ (แต่ไม่ได้แพร่ภาพนะคะ) เราจำได้ว่าเราถามจนท.ราชทัณฑ์ว่า ทำไมมีการเผยแพร่โดยไม่บอกเราเลย เขาให้คำตอบว่า เพราะเป็นคดีที่มีความสนใจของสาธารณะสูง เลยต้องเปิดเผยได้

เลยจะบอกเฉยๆว่า นายทักษิณก็มีคนสนใจทั้งประเทศ อาจจะยิ่งกว่าพวกเรานักกิจกรรมด้วยซ้ำนะคะ ไม่สองมาตรฐานยังไงก่อน คือมันดีมากแล้วแหละที่ราชทัณฑ์ จะดูแลผู้ที่แก่และป่วยอย่างดี แต่ไม่ได้ทำแบบนี้กับทุกคนไง มันเหลือจะเชื่อสำหรับ คนที่เคยเข้าไปอยู่ในเรือนจำจริงๆนะ เป็นไปได้ยังไงที่เข้าไปเรือนจำ อยู่ยังไม่ถึง 6 ชั่วโมงด้วยซ้ำแล้วได้ออกมานอนที่ รพ.ยาวๆ ในขณะที่คนป่วยคนอื่นก็อยู่ตามมีตามเกิดไป การที่คนจะมีคำถามต่ออาการป่วยของนายทักษิณนั้นไม่แปลกเลย”

ส่วน “นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์” กล่าวว่า จากการที่ได้ตรวจสอบข้อมูล พบว่า กฎกระทรวงและระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่กำหนดว่า หากนักโทษที่ป่วยเป็นโรคจิตหรือโรคติดต่อ จึงจะได้รับอนุญาตรักษาตัวนอกโรงพยาบาลได้ แต่วันที่นายทักษิณกลับมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ทุกคนเห็นอาการปกติ แต่หลังจากนายทักษิณเข้าเรือนจำ กลับมีอาการหนัก เป็นการสร้างสตอรีช่วยนักโทษ ด้วยการช่วยเหลือจากแพทย์บางคนหรือไม่ ทางการแพทย์เรียกว่า “ผิดวิชาชีพเวชกรรม” และการส่งนายทักษิณตรงไปห้องพิเศษ ก็มองว่าผิดหลักการแพทย์ และผิดหลักกฎหมายโดยสิ้นเชิง

“ตามหลักนั้นต้องถูกส่งไปตรวจที่ห้องฉุกเฉินก่อน และหากอาการไม่หนักก็จะต้องถูกส่งตัวกลับไปที่เรือนจำ และหากจะรักษาตัวต่อ ต้องอยู่ในไอซียู ไม่ใช่ห้องพิเศษ โดยหลังจากนี้เราจะยื่นฟ้องในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และจะมีการยื่นร้องต่อแพทยสภาต่อไป” แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี กล่าวและว่า นายแพทย์ชื่อย่อ “ส.” ที่ส่องกล้องผ่าตัดที่หัวไหล่ ช่วยเหลือนายทักษิณ สร้างเรื่องเท็จว่ามีอาการหนักเกินจริง เพื่อให้อยู่โรงพยาบาลตำรวจโดยไม่ต้องอยู่ในคุก ดังนั้นเพื่อคืนความยุติธรรม ทางกลุ่มจึงเรียกร้องให้ส่งตัวนายทักษิณกลับไปรับโทษในคุกทันที

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

ด้าน “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต สส.พัทลุง ได้ร่วมขึ้นปราศรัยตอนหนึ่งว่า เชื่อว่านายทักษิณป่วยจริง แต่ไม่เชื่อว่าป่วยถึงขนาดต้องนอนโรงพยาบาลตลอดเวลา ดังนั้นเรื่องนี้ต้องได้รับการพิสูจน์ “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนจนหรือหมาอย่างเดียว แต่มีไว้ขังนายทักษิณด้วย”

“นิพิฏฐ์” กล่าวอีกว่า การจะทําให้หายสงสัยว่า นายทักษิณป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลนั้น ต้องไปยื่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะหากใครทำความผิด คนที่จะดำเนินการฟ้องได้คือ ป.ป.ช. กับ อัยการ ซึ่ง คปท.ทำถูกแล้วที่ไปยื่น ป.ป.ช. ทั้งนี้อยากจะบอกกับ ป.ป.ช.ว่า ขอให้ทำหน้าที่ไต่สวน เพราะไม่เช่นนั้นความจริงจะไม่ปรากฏว่า นายทักษิณป่วยหนักจริงหรือไม่ หาก ป.ป.ช.ไม่ทํางาน เราก็ต้องเล่นงาน ป.ป.ช.

ขณะที่ “พิชิต ไชยมงคล” แถลงภายหลังจบกิจกรรมการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากนี้ คปท.จะนัดชุมนุมอีกครั้งที่เดิมในวันที่ 2 ก.พ.ตั้งแต่เวลา 15.00 น. โดยครั้งนี้จะเป็นการชุมนุมแบบปักหลักยาว ไม่มีกำหนด โดยก่อนถึงวันที่ 2 ก.พ. ทางคปท.จะมีการทำกิจกรรม คปท.สัญจรต่างจังหวัดเพื่อและรณรงค์ รวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา และให้ส่งต่อไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อขอให้ศาลฎีกามีการตั้งองค์คณะไต่สวน คณะกรรมการป.ป.ช. โดยจะมีการสัญจร ให้ครบทุกภาค เริ่มจาก วันพฤหัสบดีนี้ 18 ม.ค. ที่จะสัญจรในภาคตะวันออก ทั้งที่ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด และจากนั้นก็จะไปยังภาคอื่นๆ ต่อไป และจะกลับมาชุมนุมอีกครั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้

แต่หลายคนคาดหมายว่า การปลุกประชาชนให้เข้ามาร่วมชุมนุมในครั้งต่อไป โอกาสที่จะเห็นมวลชนเข้ารวมเป็นเรือนพัน-เรือนหมื่น คงเป็นเรื่องยาก เว้นแต่มีประเด็นที่สังคมเห็นตรงกันว่า มีการละเมิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่บรรดานักเคลื่อนไหว และบรรดาผู้ต้องการให้ตรวจสอบสภานภาพของ “นายทักษิณ” และการทำงานของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น กรมราชทัณฑ์-กระทรวงยุติธรรม และ โรงพยาบาลตำรวจ คงต้องอาศัยประเด็นในข้อกฎหมาย มาช่วยในการตรวจสอบ หากคิดว่ามีประเด็นที่มีปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ม.ค.67 “พิชิต” ได้เดินทางไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขอพบกับเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อทวงถามความคืบหน้า กรณีที่ก่อนหน้านี้ คปท.ได้เคยไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการพา “นายทักษิณ” ออกจากเรือนจำมาที่โรงพยาบาลตำรวจ เช่น ผู้บริหารในกรมราชทัณฑ์-นายแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐ อาจต้องกลายเป็นแพะรับบาป รับโทษมีคดี

เพราะมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความเสียหายเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งจะมีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อประชาชน 20,000 ชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งต่อไปยังประธานศาลฎีกา ในกรณีที่หากการไปพบกับเลขาธิการ ป.ป.ช.แล้วพบว่า เรื่องที่ยื่นไปไม่มีความคืบหน้า เพื่อให้ศาลฎีกามีการตั้งองค์คณะมาไต่สวนเอาผิด ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 236

เช่นเดียวกับ “วัชระ เพชรทอง” อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือถึง “นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการป.ป.ช. เพื่อ 1.ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน “นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กับพวก กรณีการออกข่าวกรมราชทัณฑ์ใช้สรรพนามเรียก “น.ช.ทักษิณ ชินวัตร” ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุมัติให้ “น.ช.ทักษิณ” ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ โดยมีกรณี “นายวิษณุ เครืองาม” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯและรักษาการรมว.ยุติธรรม เข้าไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 22 ส.ค.66 และกรณีกรมราชทัณฑ์ตอบรับว่า จะส่งเอกสารและคลิปภาพวันที่ 22-23 ส.ค.66 ให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กรณี “น.ช.ทักษิณ” ให้สอบสวนเอาผิดว่า เหตุใดยังไม่ส่ง และขอให้ออกคำสั่งคุ้มครองคลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ให้ถูกทำลาย

2.ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน แพทย์โรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจทุกราย และแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจชื่อ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ (พตร.) กรณี “น.ช.ทักษิณ ชินวัตร” ต้องรักษาอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.66 จนถึงปัจจุบัน (เกิน 120 วัน) ส่อว่า ใช้วิชาชีพแพทย์กรอกข้อความอันเป็นเท็จต่อราชการหรือไม่ ให้ตรวจทุกฉบับตั้งแต่ 22 ส.ค.66 ถึงวันนี้

3.ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ว่าเหตุใดไม่ดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ “น.ช.ทักษิณ ชินวัตร” ตามคำร้องเรียนลงวันที่ 20 ธ.ค.66 เจ็บป่วยจริงหรือไม่ ทำไมระยะเวลาการรักษาเกิน 120 วันยังไม่หาย เป็นอะไร ทำไมอยู่นานถึง 120 วัน เอื้อประโยชน์ให้กับ “น.ช.ทักษิณ” หรือไม่ ทั้งนี้ โดยขอให้กันข้าราชการกรมราชทัณฑ์ (พัศดี/ผู้คุม) แพทย์พยาบาลโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานทุกคน

จากนี้ต้อรอดูจะ “นายทักษิณ” จะพำนักอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ จนถึงวันที่ 22 ก.พ.67 เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์การพักโทษ อย่างที่สื่อมวลชนบางสำนักวิเคราะห์กันหรือไม่ เพราะถือว่าเข้ารับการรับโทษมา 6 เดือน หลังได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษจำคุกจาก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี 

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ต้องมารอดูกระบวนตรวจสอบ จะทำงานหรือไม่ ท่ามกลางข้อสงสัยและคำถามที่เกิดขึ้นกับการทำงานของ กรมราชทัณฑ์ และ โรงพยาบาลตำรวจ

………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img