วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ต้มยำกุ้ง’ไม่หวนกลับ...วิกฤติใหม่กำลังมา
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ต้มยำกุ้ง’ไม่หวนกลับ…วิกฤติใหม่กำลังมา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค.ที่เพิ่งผ่านมา หลายคนอาจจะลืมว่า เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ที่เคยต้องประสบชะตากรรมเมื่อ 26 ปีที่แล้ว นั่นคือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2540 อันเป็นจุดเริ่มต้น “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ (ธปท.) “ลอยตัวค่าเงินบาท” และต้องขอความช่วยเหลือทาง การเงินจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ถือเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

นอกจากจะสร้างผลสะเทือนกับเศรษฐกิจไทยพังพินาศสันตะโรแล้ว ยังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและอีกหลายประเทศในเอเชีย จนได้รับการขนานนามว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” วิกฤตครั้งนั้น ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยและสร้างความเสียหายอย่างมาก มีผู้คนตกงานจำนวนมาก ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลง

จุดเริ่มต้นของวิกฤต เริ่มจากประเทศไทยต้องประสบการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ในช่วงก่อนวิกฤตตัวเลขขาดดุลสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการ “ส่งออกหดตัว” ลงอย่างรุนแรง ในปี 2539 การส่งออกขยายตัวเพียงแค่ 1.9% เท่านั้น จากที่เคยขยายตัวสูงถึง 24.82% ในปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องเผชิญ ปัญหาหนี้ต่างประเทศ อันเป็นผลพวงจากการเปิดเสรีทางการเงิน พึ่งพาทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้นที่มีถึง 65% ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

หากย้อนไปในระหว่าง ปี 2532-2537 ประเทศไทยได้เปิดเสรีทางการเงิน ทำให้สามารถพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศได้สะดวก โดยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินกำหนดตายตัวไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้กู้ยืมสามารถยืมเงินและคืนเงินกู้ในสกุลเงินตราต่างประเทศได้ในอัตราดังกล่าว ผลที่ตามมาเกิดการขยายตัวของระบบการเงินของประเทศที่ส่งผลต่อการเกิด “หนี้ด้อยคุณภาพ” หรือ NPL ในสถาบันการเงินและการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศเพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในเมืองไทยพุ่งสูงอย่างน่าเป็นห่วง

ยิ่งกว่านั้นในช่วงปลายปี 2540 หนี้ต่างประเทศของไทยปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สถาบันการเงินส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทุนสำรองทางการของไทยอยู่ระดับต่ำมาก ขณะที่​ ประเทศไทยยังลงทุนเกินตัว จนเกิด “ฟองสบู่” ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากการเข้าไปเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ผลต่อเนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์จึงเกิดปัญหาหนี้เสียที่สูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ที่ 52.3% เลยทีเดียว

ที่สำคัญสถาบันการเงินของไทย กลับไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทำให้ รัฐบาลต้องสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินรวมกันถึง 58 แห่ง จากปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ประกอบกับการดำเนินนโยบายของรัฐ ไม่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันจะเห็นได้จาก มีการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี และยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้ระบบการเงินไม่มีเสถียรภาพ

ตรงนี้กลายเป็นจุดอ่อนที่นักลงทุนต่างชาติเห็น จึงถือโอกาสเข้า “โจมตีค่าเงินบาท” ซึ่งเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่และนักลงทุนสถาบันที่ระดมทุนมาเก็งกำไรค่าเงินหรือโจมตีค่าเงิน โดยจัดตั้งเป็นกองทุนที่เรียกว่า “ควันตัม ฟันด์” มี “จอร์จ โซรอส” บริหารเข้ามาแสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนกับการเก็งกำไรค่าเงินบาท

เมื่อค่าเงินบาทถูกโจมตี ทำให้มีการเทขายเงินบาท หนีไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นจำนวนมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงนำเงินทุนสำรองทางการถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของเงินสำรองทั้งหมดมาใช้เพื่อ “ปกป้องค่าเงินบาท” จนทำให้เงินสำรองทางการเหลืออยู่เพียง 2,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ในที่สุด ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีทางออกต้องประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ในที่สุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2540  

บทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้สถาบันการเงินมีการปรับตัวเข้มแข็งขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีบทเรียนราคาแพงจากการบริหารนโยบายการเงินที่ผิดพลาด การตรึงอัตราแลกเปลี่ยน และใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปจนเกือบหมด ภายหลังได้มีความระมัดระวังโดยสะสมทุนสำรองที่มากขึ้น จึงเชื่อว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง…คงไม่กลับมาอีก

แต่ไม่ได้หมายความว่า วิกฤตการเงินจะไม่เกิดขึ้น แต่จะมาในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาเดิมๆ อย่างเมื่อ 26 ปีที่แล้วเนื่องจากนโยบายการเงินไม่สามารถดูแลทั้งเงินเฟ้อ และไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ หนี้ครัวเรือนทะลุเพดาน การผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก หนี้สาธารณะก็น่าห่วง การส่งออกก็ติดลบติดต่อกันนาน 8 เดือน รายได้จากการท่องเที่ยวก็หลุดเป้า การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนก็ซบเซา ตลาดหุ้นที่เป็นแหล่งระดมทุนก็มีแต่เรื่องฉาวโฉ่ ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น

ทั้งหมดนี้คือสัญญานบอกว่า เศรษฐกิจไทยศักยภาพต่ำเป็นเวลานาน กำลังจะกลายมาเป็น “วิกฤติรอบใหม่”

…………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img