วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSการเมือง“ติดหล่ม”...ต่างชาติ“ลังเล”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

การเมือง“ติดหล่ม”…ต่างชาติ“ลังเล”

วันพุธที่ 19 ก.ค.นี้ ที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นรอบที่ 2 ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ พรรคร่วม 8 พรรคที่มี “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำจะเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่อีกรอบ

ถ้าไม่ผ่านก็คงเป็นคิวของ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่จะเป็น 8 พรรคร่วมเดิม หรือจะมีการจับขั้วใหม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะตอนนี้กระแสข่าวทำสับสนไปหมด

ขณะที่คนที่เลือกก้าวไกล ถ้าไม่ได้ร่วมรัฐบาลจะยอมรับหรือไม่ จะมีการประท้วงลงถนนหรือไม่ต้องเฝ้าจับตาอย่าใกล้ชิด แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง ตราบใดที่ความขัดแย้งคงอยู่ ย่อมส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ ความเจริญเติบโตของประเทศ รายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแบบมิอาจปฏิเสธได้ “บุญเก่า” ที่สะสมในอดีต นับวันยิ่งจะลดน้อยถอยลง จนแทบไม่มีพลังส่งให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างประเทศรายหนึ่ง ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุถึงสถานการณ์การเมืองไทยว่า รัฐสภาไทยจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค.นี้ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า นายกรัฐมนตรีจะได้รับเลือก หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปของไทยผ่านมามากกว่า 2 เดือนแล้ว

ความล่าช้านี้ จะยิ่งสร้างบาดแผลลึกให้กับภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากวิกฤตทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ โดยบริษัทต่างๆ ได้เริ่มชะลอการลงทุนใหม่ ขณะรอความชัดเจนว่า รัฐบาลชุดต่อไปของไทยจะเป็นอย่างไร และช่วงเปลี่ยนผ่านหลังการเลือกตั้งที่ยืดเยื้อนี้ ยังจะทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ (ที่คาดว่าอยู่ที่ราว 2.7-3.7%) ซึ่งเชื่องช้าล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอยู่แล้ว

แม้ภาคการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวขึ้นโดยส่วนใหญ่ก็ตาม แต่การกระเตื้องของภาคการท่องเที่ยวก็อาจลดลงได้อย่างรวดเร็ว หากหล่มการเมืองไทยก่อให้เกิดความไม่สงบขนาดใหญ่ขึ้นอีก ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากความล้มเหลวของ “พิธา” ในการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในการโหวตครั้งแรก

ตรงนี้สอดคล้องกับรายงานข่าวล่าสุดจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยน่าเป็นห่วง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนล่าช้ากว่าที่คาด ทำให้ชาวจีนระมัดระวังการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาเยือนไทย ต่ำกว่าเป้าที่ทางการไทยคาดไว้ 7 ล้านคนอย่างน้อย 2-3 ล้านคน

นักวิเคราะห์รายดังกล่าวระบุต่อไปว่า บรรดานักลงทุนที่กำลังมองหาทางเลือกห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลาย หรือโอกาสใหม่ๆ ในภาคส่วนที่เติบโต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และเศรษฐกิจดิจิทัล จะไม่รอไปตลอดเพื่อให้ประเทศไทยกลับมาดำเนินการร่วมกัน โดยอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กำลังแข่งขันอย่างดุเดือดกับไทยในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

สอดคล้องกับที่ได้พูดคุยกับนักธุรกิจไทยหลายๆ คน ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวว่า เริ่มเห็นสัญญาณการลังเล ทั้งนักธุรกิจไทยและต่างชาติมากขึ้นแล้ว และน่าจะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจากนี้ อย่างภาคการท่องเที่ยวพบว่า นักท่องเที่ยวที่เตรียมจองตั๋วมาเที่ยวไทย เริ่มขอเลื่อนตั๋วและชะลอการจองที่พักไว้ก่อน อ้างว่าวิตกเรื่องเหตุชุมนุมจากสถานการณ์การเมือง ซึ่งไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ 14% คนไทยเที่ยวไทยมีสัดส่วนเพียง 4% เท่านั้น

ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติกำลังตัดสินใจยกเลิกการซื้อที่ดินในอุตสาหกรรมหลายแห่ง บางรายบอกต้องตัดสินใจไปประเทศอื่นแทน ปัจจัยดังกล่าว ล้วนกดดันเศรษฐกิจ ประเทศไทยอาจกลายเป็นประเทศที่ภาพพจน์ไม่ดีในสายตาต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนและนักท่องเที่ยว

บรรดานักธุรกิจเหล่านั้น ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในการโหวตรอบ 2 การเลือกนายกรัฐมนตรี ควรได้ข้อสรุป เพื่อให้ตั้งรัฐบาลต่อไป โดยเดือนส.ค.จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่นักลงทุนต่างชาติและนักท่องเที่ยวจะตัดสินใจว่า จะมาไทยหรือไม่

น่าเป็นห่วงว่า หากการเมืองยังไม่นิ่ง โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าก็คงลำบาก บุญเก่าที่เคยสะสมมาในอดีตถูกการเมืองกัดกินจนแทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว

ก่อนหน้านี้เวียดนามไล่จี้หายใจรดต้นคอ เพราะนักลงทุนเกาหลีและนักลงทุนที่ย้ายฐานจากจีนหันไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น วันนี้ประเทศอินโดนีเซียเป็นคู่แข่งเพิ่มขึ้นมา เพราะนักลงทุนเริ่มสนใจเข้าไปลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน

น่าเสียดายโอกาสที่ ตลอดระเวลา 20 ปีที่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมือง เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า กลายเป็น “กับดักเศรษฐกิจของประเทศ” ที่ไม่สามารถนำพาให้ก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงไปได้

……………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img