วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 9, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSสำรวจแนวรบ“เศรษฐกิจ-ธุรกิจ” ในยุคการเมืองปั่นป่วน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สำรวจแนวรบ“เศรษฐกิจ-ธุรกิจ” ในยุคการเมืองปั่นป่วน

ช่วงนี้ สื่อต่างประเทศ ต่างก็พากันโหมกระพือข่าวความขัดแย้งในเมืองไทยในด้านลบ ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเท่ากับตอกย้ำ “จุดอ่อน” ให้เห็นชัดยิ่งขึ้น อย่างล่าสุด แจแปน ไทม์ ของญี่ปุ่น บอกว่า การที่ประธานรัฐสภา เลื่อนการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ออกไป และพรรคเพื่อไทยเลื่อนการแถลงชื่อพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้นักลงทุนและตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการพิจารณางบประมาณ รัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องล่าช้าออกไป

ใครๆ ก็รู้ว่า ฐานการลงทุนสำคัญของญี่ปุ่น หากเกิดความไม่เชื่อมั่นในประเทศไทย อาจจะย้ายฐานบางส่วนลงทุนในเพื่อบ้านแทนก็เป็นได้ ในฟากประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา เดอะ ดิพโพลแมท ก็รายงาน บทวิเคราะห์ว่า ภาวะชะงักงันทางการเมืองของไทยจะยังคงดำเนินต่อไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ภายหลังการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง ซึ่งเริ่มมีผลต่อเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท ส่วนเพื่อนบ้านอย่าง ซีเอ็นเอ. จากสิงคโปร์ออกบทวิเคราะห์ว่า สถานการณ์การเมืองไทยกำลังมุ่งหน้าไปสู่ภาวะวิกฤตที่ไม่อาจคาดเดาได้ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

กระแสข่าวที่ถูกกระพือโหม ยิ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจง่ายขึ้น ว่าจะลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ ที่สำคัญไม่เฉพาะการลงทุนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ล่าสุดเว็บไซด์ของรัฐบาลแคนาดา ก็เตือนนักท่องเที่ยวแคนนาดาที่จะออกต่างประเทศ โดยได้กล่าวถึงประเทศไทยว่า มีความขัดแย้งจนอาจมีการประท้วงขึ้น จึงเตือนให้ใช้ความระมัดระวัง

เชื่อว่าหลายๆ ประเทศกำลังจับตามองประเทศไทย เช่น มีการยุบพรรคก้าวไกล อาจจะมีการประท้วงเกิดขึ้น ซึ่งจะกระทบกับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวประเทศไทย ทั้งที่ตอนนี้ ไทยอาศัยเครื่องจักรส่งออกในการสร้างรายได้เข้าประเทศแทนส่งออกที่ทรุดมา 8 เดือนติดต่อกัน ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะไม่มีเครื่องยนต์ในการหารายได้เข้าประเทศ

น่าห่วงมากๆ ประเทศไทยมีการเลือกตั้งมาเกือบๆ จะ 3 เดือนแล้ว จนป่านนี้ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ มีการเสนอชื่อมาแล้ว 3 ครั้ง ล่าสุด ประธานรัฐสภาฯเลื่อนออกไปอีก 2 สัปดาห์ การที่ต้องเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 ออกไป หนทางในการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งเลือนราง จนถึงวันนี้ยังไม่รู้เลยว่า ใครจะมาเป็นแกนนำจัดรัฐบาล ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญทิศทางนโยบายจะไปทางไหน

หากยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทุกอย่างต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ทั้งการบริโภค การลงทุนทั้งนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนไทย ทั้งรัฐบาล เอกชน ต่างพากันใส่เกียร์ว่างดูทิศทางลมกันหมด หนีไม่พ้นเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ภาพใกล้ตัวที่เห็นทุกวันนี้ นั่นคือ บรรยากาศในตลาดหุ้นไทยที่ตอนนี้เซียนพากันติดดอย บริษัทที่มีแผนจะเข้าไปจดทะเบียนก็ต้องชะลอออกไปก่อน

ในช่วงก่อนเลือกตั้ง หลายคนคาดว่าหลังเลือกตั้งบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นจะกลับมาคึกคัก เศรษฐกิจดีขึ้นจากเม็ดเงินสะพัดช่วงเลือกตั้งหลายหมื่นล้าน ดัชนีตลาดหุ้นน่าจะขยับขึ้น แต่กลับผิดคาดปรากฏว่า หลังเลือกตั้งครั้งนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์รูดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ที่เป็นวันเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน (15 พ.ค.-3 ส.ค.66) พบว่า ดัชนี ตลาดหลักทรัพย์ปิดตลาด “ดิ่งในแดนลบ” รวมแล้วทั้งหมด 30 วัน โดยลดลงหนักสุดคือเมื่อวันที่ 3 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ดัชนีดิ่งกว่า 21.27 จุด ลดลง 1.37% จากดัชนีวันก่อนหน้า

ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่ 15 พ.ค.-3 ส.ค.66 พบว่า นักลงทุนต่างชาติเป็นกลุ่มเดียวที่ขายสุทธิ รวมทั้งสิ้น 55,336.19 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นทิ้งไป ขนเงินไปลงทุนที่อื่นที่ให้ผลประโยชน์ดีกว่าแทน

ขณะที่การลงทุนโดยตรง ซึ่งเป็นการลงทุนตั้งโรงงานผลิต ตอนนี้ทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศต่างชะลอแผนการลงทุนทั้งหมด แม้ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์หลายๆ ด้าน แต่เมื่อการเมืองยังไม่ชัดเจน ก็คงต้องรอดูสถานการณ์ พวกที่รอไม่ไหวก็หันไปลงทุน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ดังนั้นหากการตั้งรัฐบาลล่าช้า การเมืองไม่เสถียรภาพ จะเสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแน่ๆ

ที่สำคัญ ความวุ่นวายทางการเมืองย่อมนำมาสู่ผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายของคนในประเทศ ตอนนี้กำลังซื้อทั่วประเทศทรุดฮวบ ทั้งจากปัญหาการเมืองไม่นิ่ง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งเฉลี่ยครอบครัวละกว่า 5 แสนบาท เป็นดาบสองคอยซ้ำเติม จะเห็นได้จากบรรดาธุรกิจในต่างจังหวัดประกาศเลิกกิจการ ให้เซ้งและให้เช่ากันเป็นแถว เพราะกำลังซื้อหดหายไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะกลับมา

การเมืองวิกฤติเที่ยวนี้ ได้สร้างผลสะเทือนให้กับเศรษฐกิจ ธุรกิจทั้งด้านลึกและกว้างแบบค่อยๆ ซึมลึกไปเรื่อยๆโดยที่หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้สึกรู้สา โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองในสภา

…………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img