วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ก้าวไกล”เดินเกมรุก...กดดัน“สภาสูง” หวังพลิกเกม“พิธา”ฝ่าด่านสำเร็จ!!!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ก้าวไกล”เดินเกมรุก…กดดัน“สภาสูง” หวังพลิกเกม“พิธา”ฝ่าด่านสำเร็จ!!!!

หลังเข้ารับตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา” อย่างเป็นทางการ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ก็ออกจดหมายนัดประชุมสมาชิกรัฐสภา ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.ค.นี้ ตั้งแต่เย็นวันศุกร์ที่ 7 ก.ค.ทันที เพื่อให้สมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.และสว.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยบุคคลที่จะได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา จะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็คือ 376 เสียง!!

ถึงตอนนี้พบว่า มีแค่ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น ที่ยืนกรานจะเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ที่ประชุมโหวตฯ ขณะที่พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลปัจจุบันยังเงียบอยู่ โดยเฉพาะ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นพรรคการเมืองที่มีส.ส.มากสุดในปีกนี้คือ 71 เสียง ยังไม่มีข่าวชัดเจนว่า จะเสนอชื่อ “อนุทิน” หรือไม่

ส่วน “รวมไทยสร้างชาติ” ทั้ง “พีระพันธุ์ สาลี่รัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค และ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สองแคนดิเดตนายกฯจากรวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ส.ส.แค่ 36 เสียง ส่งสัญญาณการเมืองชัดเจนแล้วว่า ไม่เสนอชื่อลงแข่ง

ขณะที่ “พลังประชารัฐ” ที่มีส.ส.40 คน ก็ยังเงียบอยู่ในการจะเสนอชื่อ “ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แข่งกับ “พิธา”

ทำให้ไม่แน่ วันที่ 13 ก.ค. อาจจะมีแค่ชื่อ พิธา” เท่านั้น ที่จะถูกเสนอชื่อให้ที่ประชุมโหวตเป็นนายกฯ

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า หลัง “ก้าวไกล” ลุกขึ้นเสนอชื่อ “พิธา” ต่อที่ประชุมแล้ว อาจจะมีสว.บางส่วน ลุกขึ้นขอให้ “พิธา” แสดงวิสัยทัศน์หรือมีการสอบถามนโยบายเกี่ยวกับบางเรื่องที่สว.ยังสงสัยคาใจอยู่ เช่น นโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ว่ามีแนวทางอย่างไร จากนั้นจึงจะเข้าสู่การลงมติ ซึ่งการลงมติจะมีการเรียกชื่อสมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.และสว.เรียงกันไปตามตัวอักษรแรกของชื่อแต่ละคน จนครบทั้งหมด

หากดูจาก 8 พรรคตั้งรัฐบาล จะพบว่า มีเสียงอยู่ 312 เสียง แต่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา โดยหลักจะไม่ออกเสียง ทำให้เท่ากับมี 311 เสียง

หาก “พิธา-ก้าวไกล” หาเสียงส.ส.จากพรรคอื่นมาโหวตเพิ่มให้ไม่ได้ หลังมีกระแสข่าวว่า พยายามขอเสียงจากส.ส.หลายคน เช่น “ชาติพัฒนากล้า” ที่มีอยู่ 2 เสียง หรือ “ประชาธิปัตย์” แต่ก็มีข่าวว่า ยังไม่ได้รับการตอบรับ โดยเฉพาะ “ประชาธิปัตย์” ที่ยืนกรานว่า การโหวตนายกฯต้องเป็นไปตาม “มติพรรค” จะ “ฟรีโหวต” ไม่ได้!!!

ถ้าเป็นแบบนี้ เท่ากับ “ก้าวไกล” อาจต้องไปพึ่งเสียงสว.อีกร่วม 65 เสียง ที่ถือเป็นงานหินของอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาสภาฯ สมัยที่แล้ว “ส.ส.ก้าวไกล” รวมถึงตัว “พิธา” เอง “ด้อยค่า-บูลลี่” สว.ไว้เยอะ เช่นว่า “เป็นพวกซากเผด็จการ-เป็นสว.ลากตั้ง-มรดก คสช.” แต่มาวันนี้เมื่อต้องไปขอเสียงสว. มันจึงทำให้ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร

ศิริกัญญา ตันสกุล

อย่างไรก็ตาม เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แกนนำก้าวไกลออกมาประสานเสียงว่า มีความมั่นใจว่า จะได้เสียง สว.จนครบ และทำให้ “พิธา” ได้รับเสียงโหวตเป็นนายกฯแบบม้วนเดียวจบ

ไม่ว่าจะเป็น “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่บอกว่ามั่นใจว่าในวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะได้เสียง ส.ว.ยกมือสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรีครบถ้วนในครั้งแรก

“ขณะนี้เสียงได้ครบแล้ว แต่ยังคงต้องทำงานต่อเนื่อง เผื่อมีกรณีที่บางท่านอาจเปลี่ยนใจจะได้มีสำรองเอาไว้ เพราะเราไม่มีทางทราบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหน้างาน มีบางส่วนที่พูดผ่านสาธารณะ และพูดคุยในวงเจรจา ซึ่งอาจไม่ตรงกัน”

หรือ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่บอกว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ยังไม่ได้แสดงออกอะไร คิดว่าจะแสดงออกทีเดียวในวันโหวตนายกฯ 13 ก.ค.นี้ ดังนั้นอย่าเพิ่งประเมินสถานการณ์จากที่เห็น สิ่งที่เป็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เห็นก็ได้ ยังมั่นใจว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี และมั่นใจในวิจารณญาณของ ส.ว. ว่าอยากจะเห็นประเทศชาติเดินหน้าอย่างไร การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนได้แสดงออกต้องการคืนความเป็นปกติของระบอบประชาธิปไตยไทย ยังเชื่อมั่นใน ส.ว.จำนวนมากว่าจะให้โอกาสนี้กับประเทศไทย

ชัยธวัช ตุลาธน

“สิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น ยืนยันว่าหากโหวตนายพิธาไม่ผ่านในวันที่ 13 ก.ค. จะเสนอชื่อนายพิธาเพื่อโหวตอีกในวันที่ 19 ก.ค. แน่นอน แต่ยังเชื่อว่าจะโหวตจบในครั้งเดียว”

ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ ในเรื่องข่าวการ “ล็อบบี้ สว.” ทั้งเรื่องเงิน-ตำแหน่งทางการเมืองให้กับสว.หลังพ้นจากการเว้นวรรคการเมืองสองปี หรือการให้เครือญาติสว.ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใน “รัฐบาลก้าวไกล” จนมีข่าวว่า “ลูก-คนใกล้ชิดของสว.” พยายามโน้มน้าวให้ “พ่อ-แม่ตัวเอง”ที่เป็นสว. โหวตให้ “พิธา” เพื่อแลกกับตำแหน่งทางการเมือง

ขณะเดียวกันพบว่า บรรดา “ด้อมส้ม” เริ่มสร้างกระแสกดดัน สว. ผ่านโซเชียลมีเดียหนักขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนับถอยหลังก่อนวันโหวตนายกฯ รวมถึงบรรดาเครือข่ายแกนนำม็อบสามนิ้ว ก็ประกาศหาก “พิธา” ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็อาจมีม็อบกลับมาอีกครั้ง

ส่วนพรรคก้าวไกลก็ขยับเช่นกัน ด้วยการนัดหมายประชาชน-ด้อมส้ม-คนที่เลือกก้าวไกล มารวมตัวกันในช่วงเย็นวันอาทิตย์นี้ 9 ก.ค. ที่ลานหน้าเซ็น​ทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นการแสดงพลังให้ สว.ได้เห็น ก่อนการโหวตนายกฯ แต่พยายามบอกว่าเป็นการลงพื้นที่ของ พิธา” และ “ส.ส.กทม.ก้าวไกล” เพื่อขอบคุณประชาชน แต่หลังฉากก็เห็นชัดเจนว่า เป็นการนัดรวมตัวทางการเมืองเพื่อแสดงพลังด้อมส้ม กดดัน สว.และส.ส.นั่นเอง

เรื่องการสร้างกระแสกดดัน สว. รวมถึงการสร้างม็อบกดดันสว. ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ “ประพันธ์ คูณมี” สมาชิกวุฒิสภา ที่ประกาศตัวชัดเจนว่า “ไม่โหวตให้พิธา” กล่าวถึงเรื่องการจะมีม็อบกดดันสว.กับ ทีมข่าว thekey.news ว่า ก็เป็นปัญหาหนึ่งของพรรคก้าวไกล เพราะเป็นพรรคการเมืองที่มีวัฒนธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตยชัดแจ้ง และไม่ต้องไปอวดอ้างโฆษณากับใค รว่าตัวเองเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ เป็นพรรคประชาธิปไตย เพราะพฤติกรรมของพรรคเขา เป็นอาณาธิปไตย ไม่เคารพความคิดเห็นคนอื่น ไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ

ดูตัวอย่างที่วันประชุมแกนนำ 8 พรรคการเมืองร่วมตั้งรัฐบาลเมื่อ 2 ก.ค.ที่พรรคก้าวไกล เขาก็ปล่อยให้มีมวลชนไปตะโกนด่าทอ กดดันแกนนำพรรคการเมืองอื่น ไม่ให้เกียรติ ไม่ให้ความเคารพพรรคอื่น ไปตะโกนด่าทอ โดยที่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ไม่เคยห้ามปรามมวลชนของตัวเอง ที่มีพฤติกรรมถ่อย ไม่มีมารยาทแบบนี้

“สว.ประพันธ์” กล่าวกับ thekey.news ต่อว่า พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นได้ อ้างว่ามีเสรีภาพ เป็นประชาธิปไตย ต้องสามารถพูด-แสดงความคิดเห็นได้ ชุมนุมได้ แต่เวลาคนของพรรคตัวเองโดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสม ที่คนของพรรคตัวเองในการจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือการมีนโยบายที่เป็นอันตรายต่อประเทศและสังคม มีคนวิพากษ์วิจารณ์ ถูกต่อต้าน โดนตำหนิ มีคนแสดงความเห็นที่แตกต่างจากเขา ทางหัวหน้าพรรค สมาชิกพรรค มวลชนสนับสนุนพรรค มีวัฒนธรรมเดียวกันคือ วัฒนธรรมถ่อยสถุล สามานย์ทางการเมือง ไม่เคารพความเห็นคนอื่น มีการด่าด้วยถ้อยคำก้าวร้าว แบบไม่มีเหตุผล

ยิ่งคนของ “ก้าวไกล” ไปใช้วิธีปลุกระดมมวลชนและใช้มวลชนเหล่านี้ มาแสดงออกมากเท่าไหร่ เท่ากับเป็นการ “ขุดหลุมฝังศพตัวเอง” คือ เป็นการฆ่าตัวตาาย เพราะอ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่เคยเคารพความเห็นของคนอื่น แล้วก็ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมให้สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค ต้องเคารพความเห็นคนอื่น เห็นได้จากไม่มีมารยาทกับคนอื่นตลอด วัฒนธรรมแบบนี้คือเหตุผลข้อหนึ่งที่ไม่สมควรให้พรรคนี้เข้าไปเป็นรัฐบาล และ “ตัวพิธา” ไม่ควรเป็นนายกฯ เพราะพรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมแบบนี้ มีแต่สร้างความแตกแยก สร้างความขัดแย้ง สร้างความปั่นป่วนไม่สงบให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ทั้งที่หากคุณจะมาชุมนุมต่อต้านคัดค้าน หากเขาไม่โหวตเลือกหัวหน้าพรรคคุณเป็นนายกฯ เขาทำผิดกฎหมายตรงไหน ในเมื่อเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แสดงว่าคุณยังไม่ดีพอ คุณยังไม่่สามารถโน้มน้าวให้เกิดการยอมรับจากผู้อื่นได้ ถ้าเป็นแบบนี้ คุณก็ต้องเคารพกฎ กติกาและยอมรับ ไม่ใช่มาเอากฎหมู่มากดดันให้คนอื่น เพราะหากจะได้เป็นคือต้องได้รับการยอมรับจากคนอื่น ไม่ใช่มาจากการแหกปากตะโกน บังคับขู่เข็ญ ที่เป็นพฤติกรรมทางการเมืองที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

ก่อนจะถึงวันโหวตนายกฯ 13 ก.ค. จึงเห็นเค้าลาง อุณหภูมิการเมือง ร้อนทั้งในและนอกสภาฯแล้ว และคาดว่า หากสุดท้าย “พิธา” ไม่ได้เป็นนายกฯขึ้นมา การเมืองนอกรัฐสภา อาจกลับมาระอุอีกรอบ!!!

…………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img