วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSโหวตเลือกนายกฯรอบที่สอง 19 ก.ค. เฮือกสุดท้าย....“พิธา-พรรคก้าวไกล”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โหวตเลือกนายกฯรอบที่สอง 19 ก.ค. เฮือกสุดท้าย….“พิธา-พรรคก้าวไกล”

ประธานรัฐสภา “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” นัดหมายสมาชิกรัฐสภา ประชุมโหวตนายกรัฐมนตรียกสอง วันพุธนี้ 19 ก.ค.

ด้าน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-พรรคก้าวไกล” ยืนกราน จะขอลุ้นโหวตต่อ เพราะยังหวังจะมีลุ้นอีกสักยก แม้รู้ดีว่า โอกาสริบหรี่ หลัง “พิธา” ได้เสียงโหวตเห็นชอบให้เป็นนายกฯ จากที่ประชุมแค่ 324 เสียง จากที่ต้องได้ 376 เสียง

ผนวกกับหาก “ก้าวไกล” จะเสนอชื่อ “พิธา” ต่อในรอบสอง ก็อาจเจอสมาชิกวุฒิสภา พยายามคัดค้านด้วยการยกข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาข้อที่ 41 ที่มีเนื้อหาโดยสรุปคือ หากญัตติที่เสนอไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ก็ไม่สามารถเสนอเรื่องที่มีลักษณะเดียวกัน ซ้ำได้อีกครั้งในสมัยประชุมเดียวกัน

เพราะการเสนอชื่อ “พิธา” ทำตามขั้นตอนของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่ต้องมีคนเสนอชื่อ-มีผู้รับรอง ดังนั้นการจะเสนอชื่อโหวตนายกฯ ถ้าจะเสนอกลับมาอีกครั้ง ส.ว.หลายคนมองว่า ต้องอิงข้อบังคับการประชุมก็คือ เสนอชื่อ “พิธา” กลับมาอีกไม่ได้  

ทำให้ฝ่ายส.ว.จึงตั้งป้อมว่า หาก “ก้าวไกล” เสนอชื่อ “พิธา” กลับมาอีก ก็จะใช้ข้อบังคับดังกล่าว…ขวางลำไว้ก่อน

แต่คาดว่า “ฝ่ายก้าวไกล” ก็จะแย้งในประเด็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติใดๆ ว่า หากชื่อบุคคลที่เสนอเป็นนายกฯ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในการโหวตรอบแรก จะเสนอกลับมาให้ที่ประชุมโหวตอีกครั้งไม่ได้ ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีศักดิ์และสิทธิ์เหนือกว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไม่ได้ห้าม จึงน่าจะทำให้สามารถเสนอชื่อ “พิธา” อีกครั้งได้

แต่ไม่ว่าสุดท้าย “ก้าวไกล” จะสามารถเสนอชื่อ “พิธา” กลับมาให้โหวตรอบสองได้อีกหรือไม่ จะโดนงัดข้อบังคับการประชุม มาทำให้ไม่สามารถเสนอได้ หรือสุดท้ายจะฝ่าด่านนี้ไปได้ ด้วยดุลพินิจของประธานรัฐสภา หรือการใช้มติของที่ประชุมรัฐสภาโหวตตัดสินใจ

กระนั้น…เวลานี้ แวดวงการเมืองมองข้ามช็อตไปแล้วว่า ถึงต่อให้ “ก้าวไกล” เสนอชื่อ “พิธา” กลับเข้าไปโหวตรอบสองได้ แต่ยังไงชื่อ “พิธา” ก็ไม่น่าจะได้เสียงถึง 376 อยู่ดี

สิ่งที่คนการเมือง จับตามองตอนนี้ ก็คือการพุ่งเป้าไปที่ ท่าทีของ “เพื่อไทย” ที่ตอนนี้ได้ลุ้นขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน “ก้าวไกล” เต็มตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

จนมีโอกาสจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทยให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตได้ ที่ก็คงมีสองตัวเลือกคือ “เสี่ยนิด-เศรษฐา ทวีสิน” และ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร”

จุดสำคัญของเรื่องนี้ ในยามนี้ก็คือ หลายคนจับจ้องกันว่า สุดท้ายแล้ว “เพื่อไทย” จะเอายังไงกับ “ก้าวไกล” จะจับมือร่วมกันตั้งรัฐบาลไปอีกนานแค่ไหน?

เพราะ “เพื่อไทย” ก็รู้อยู่ว่า หากกอดคอกันไปแบบนี้ โดยไม่มีลูกพลิกแพลง โอกาสจะตั้งรัฐบาลให้สำเร็จได้โดยเร็ว ช่างริบหรี่

เนื่องจากติดล็อกเงื่อนไขเสียงโหวตที่ต้องได้ 376 เสียง แต่ฝ่าย 8 พรรคตั้งรัฐบาลมีแค่ 311 เสียง บวกกับ ส.ว.ที่เปิดตัวหนุนรัฐบาล 8 พรรค แค่ 13 คน ทำให้ยากจะไปให้ถึง 376 เสียงได้

และตอนนี้ ดูเหมือนธงของส.ว.จำนวนมาก ก็แลเห็นชัด คือไม่ใช่ไม่เอา “พิธา” เป็นนายกฯเท่านั้น แต่ไปไกลกว่านั้นแล้วคือ….

“ก้าวไกล…ต้องไม่เป็นรัฐบาล ต้องเป็นฝ่ายค้านสถานเดียว”

ดังนั้นถ้า “เพื่อไทย” ยังกอดกับ “ก้าวไกล” อยู่แบบนี้ ถึงต่อให้การโหวตนายกฯรอบสาม ถ้า “ก้าวไกล” ยอมถอยให้ “เพื่อไทย” ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน และให้ “เพื่อไทย” เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แต่ “ก้าวไกล” ยังเป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลอยู่ มันก็มีแนวโน้มสูงที่ส.ว. จะไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯจากเพื่อไทยเช่นกัน

เมื่อเป็นแบบนี้ รูปการณ์ทางการเมืองก็คือ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “เพื่อไทย” ต้องตัดสินใจแล้วว่า จะ “สลัดทิ้ง-ถีบ” พรรคก้าวไกล…ออกไปตอนไหน

ซึ่งก็มีหลายสูตรให้ตัดสินใจ เช่น สูตรแรก “เพื่อไทย” รอจนถึงโหวตนายกฯรอบสอง หาก “พิธา” เสียงไม่ถึง 376 อีก หรือมีปัญหาโหวตไม่ได้ เพราะติดเรื่องข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จนสมัยประชุมนี้สี่เดือน เสนอชื่อ “พิธา” ไม่ได้แน่นอนแล้ว ถึงตอนนั้น “เพื่อไทย” คงรอไม่ได้แล้ว ก็จะมีการยื่นคำขาดกับ “ก้าวไกล” เพื่อขอขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแทน แต่ยังมี “ก้าวไกล” เป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปก่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ยังจะจับมือกันจนถึงนาทีสุดท้าย แล้ว “เพื่อไทย” ก็เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ให้ที่ประชุมโหวต

ทว่า การเสนอชื่อตรงนี้ “เพื่อไทย” ก็ต้องคิดหนัก เพราะหากยึดตามข้อบังคับการประชุมแล้ว หากเสนอชื่อไปรอบแรก ไม่ผ่าน จะเสนอชื่อซ้ำอีกไม่ได้ ถ้าเกิด “เพื่อไทย” เสนอชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” หรือ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” คนใดคนหนึ่งไป แล้วชื่อโหวตไม่ผ่าน ก็จะทำให้เสนอชื่อซ้ำอีกครั้งไม่ได้ ตรงนี้ “เพื่อไทย” ก็ต้องคิดหนักและเดิมเกมแบบระมัดระวังพอสมควร หรือจะใช้ตัวหลอกอย่าง “ชัยเกษม นิติศิริ” แคนดิเดตนายกฯอีกคน…ไปก่อน

แต่หาก “เพื่อไทย” เสนอชื่อ “ชัยเกษม” คนทั้งประเทศก็ดูออก ไม่ใช่แค่ “ก้าวไกล” ว่า มันคือ แผนที่จะทำให้ “ชื่อไม่ผ่าน” แล้วจะได้สลัด “ก้าวไกล” ออกไป หลังการโหวตรอบที่สาม

จากนั้นพอผลโหวตออกมา ก็จะไปถึงพรรครัฐบาลปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น “พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ-ชาติไทยพัฒนา” มาร่วมตั้งรัฐบาล ซึ่งการที่ “พลังประชารัฐ” ยังมี “ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” อยู่ ก็ทำให้ “ก้าวไกล” ที่เคยประกาศ “มีเราไม่มีลุง-มีลุงไม่มีเรา” อยู่ร่วมไม่ได้ ก็ต้องถอยออกมา

จนสุดท้าย การจัดตั้งรัฐบาลของ “เพื่อไทย” อาจสำเร็จตอนโหวตครั้งที่สี่ เพราะส.ว. ก็จะไม่ต้านอีกแล้ว หลังไม่มีพรรคก้าวไกล

กับ สูตรที่สอง คือ “พิธา” เสียงไม่ผ่านในการโหวตรอบสอง แล้ว “เพื่อไทย” ขอขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน โดย “เพื่อไทย” ก็ไปดึงพรรคขั้วรัฐบาลตอนนี้มาร่วมตั้งรัฐบาลเลย รวมถึงแม้แต่กับ “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ตอนนี้ ไม่มีภาพความเป็น “พรรคลุงตู่” แล้ว หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” วางมือทางการเมือง เพื่อให้เสียงแน่นขึ้นและขอเสียงส.ว.อีกเล็กน้อย โดยอ้างว่าต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จโดยเร็ว รอช้าอีกไม่ได้

ถ้า “เพื่อไทย” เลือกแบบนี้ ที่เรียกว่า “หักคอก้าวไกล” เลย ทาง “ก้าวไกล” ก็ไม่สามารถอยู่ต่อได้ เพราะ “พลังประชารัฐ” ยังมี “ลุงป้อม” เป็นหัวหน้าพรรคอยู่ อีกทั้งพรรคต่างๆ ที่จะมาร่วมตั้งรัฐบาลกับ “เพื่อไทย” ทั้ง “พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” หรือ “รวมไทยสร้างชาติ” ก็ประกาศมาแต่แรก ว่าไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่แก้ 112 อย่าง “ก้าวไกล” ซึ่ง “เพื่อไทย” จำเป็นต้องดึงพรรคเหล่านี้มาร่วมตั้งรัฐบาล เพื่อให้ตั้งรัฐบาลสำเร็จ เพราะจะได้เสียงหนุนจากส.ว.ตามมาด้วยแน่นอน เมื่อออกมาแบบนี้ “ก้าวไกล” ก็ต้องฉีกตัวออกไป ก่อนการโหวตนายกฯรอบสาม เพื่อไปรอเป็นฝ่ายค้าน

จากจังหวะ-โอกาส ความเป็นไปได้ทางการเมืองข้างต้น ทำให้มีความเป็นไปได้พอสมควรที่สุดท้าย “พรรคก้าวไกล” จากที่ลุ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็จะไปเป็น “พรรคแกนนำฝ่ายค้านฯ”

โดยอาจมีบางพรรคมาเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านเช่น “ไทยสร้างไทย” ของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ที่แกนนำเพื่อไทย ไม่อยากดึงมาร่วมตั้งรัฐบาลอยู่แล้ว

ซึ่งท่าที-ความอึมครึมทางการเมืองดังกล่าวของ “เพื่อไทย” ดูได้จาก การนัดหารือของแกนนำสองพรรค “เพื่อไทย-ก้าวไกล” เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 14 ก.ค. ที่โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ มีการนัดหารือกันหาทางออกในการเสนอชื่อนายกฯให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวต 19 ก.ค.นี้

มีรายงานว่า การนัดหารือดังกล่าว ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการเสนอชื่อ “พิธา” ให้ที่ประชุมโหวตรอบสอง แต่ทางแกนนำ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลจะนัดหารือกันอีกครั้ง ก่อนวันโหวต ที่วางไว้ว่าจะเป็นวันที่ 18 ก.ค.ที่รัฐสภา

โดยมีรายงานข่าวจากวงหารือดังกล่าว ยังไม่สรุปว่า ยังเสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้เป็นนายกฯอีกครั้งหรือไม่ และยังไม่มีการหารือรายชื่อนายกฯรอบ 2 ว่าจะเป็นในรูปแบบใด เพราะต้องรอความเห็นจากที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อน

แนววิเคราะห์การเมือง มองได้ว่า มีแนวโน้มที่ยังไง 8 พรรคตั้งรัฐบาล ยังน่าจะอยากจะให้ยันชื่อ “พิธา” เสนอกลับเข้าที่ประชุมรัฐสภารอบสอง 19 ก.ค. และน่าจะเป็นการให้โอกาสครั้งสุดท้าย ถ้าเสียงไม่ถึงจริงๆ ค่อยมาว่ากัน แต่โดยหลัก ถ้าไปต่อไม่ไหวจริงๆ ก็คาดว่า “ก้าวไกล” ก็คงไม่ดันทุรังต่อไป และ “เพื่อไทย” ก็คงไม่น่าจะให้โอกาสครั้งที่สามแล้ว “เพื่อไทย” คงรุกขอเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน หลัง 19 ก.ค.นี้แน่นอน

การโหวตนายกฯรอบสอง 19 ก.ค. ถือเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้าย ของ “พิธา-ก้าวไกล” อย่างแท้จริง แม้ประเมินแล้ว โอกาสสถานการณ์จะพลิกมาเข้าข้าง “พิธา-ก้าวไกล” น่าจะเป็นไปได้ยาก แต่ “ก้าวไกล” ก็คงขอลุ้นจนนาทีสุดท้าย ก่อนไปเป็นฝ่ายค้าน!

……………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img