วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEผ่าทางตันคุม“แบลงค์กัน” ขึ้นทะเบียนป้องกันใช้ผิดทาง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ผ่าทางตันคุม“แบลงค์กัน” ขึ้นทะเบียนป้องกันใช้ผิดทาง

เรียกว่า พอมีปัญหาเกี่ยวกับ อาวุธปืนดัดแปลง ขึ้นมาคราวใด ก็จะมีการถกเถียงกันทุกครั้งว่า จริงๆ แล้ว แบลงค์กัน หรือ บีบีกัน มันผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เพราะในปัจจุบันนี้ มันหาซื้อง่ายเหลือเกิน แค่ปลายนิ้ว คลิ๊กไปดูตามแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ ก็มีจำหน่ายให้เลือกมากมาย แทบทุกรุ่น

เคยมีหนังสือ สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 ได้มีคำสั่งชี้ขาด “ไม่ฟ้องคดีเกี่ยวกับการมีปืนแบลงค์กันไว้ในครอบครอง”

โดยได้อธิบายลักษณะของปืนแบลงค์กันว่า เป็นปืนเสียงเปล่า มีรูปร่างเป็นอาวุธปืนที่จำลองรูปแบบ และหลักการทำงานมาจากปืนจริงเท่านั้น

แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนกระสุนปืนจริงออกมาจากลำกล้องได้ มีแสงไฟและเสียงออกจากปลายกระบอกปืน ลำกล้องภายในมีแกนขวางลำกล้อง เพื่อป้องกัน การดัดแปลงอาวุธปืน ช่องใส่กระสุนปืนไม่สามารถขับเคลื่อนเครื่องกระสุนปืน หรือเม็ดกระสุนใดๆ ออกมาจากลำกล้องได้

มีเพียงรูระบายแก๊สออกจากปลายกระบอก มีการคัดปลอกกระสุนเท่านั้น มีวัตถุประสงค์ เช่น ใช้ถ่ายท่าภาพยนตร์หรือสัญญาณปล่อยตัวนักกีฬา เมื่อเกิดการยิงจะเกิดเพียงเสียง และเปลวไฟออกจากลำกล้องปีนเท่านั้น ไม่ได้มีการส่งเครื่องกระสุนปืนออกมาด้วย

ย้อนความเห็นกฤษฎีกา เทียบ “แบลงค์กัน” ไม่ใช่อาวุธปืน

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับลักษณะของ BB GUN ว่า มิได้เป็นอาวุธปืน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เนื่องจากสภาพโครงสร้างของ BB GUN ที่ผลิตจากพลาสติกและเหล็กธรรมดาบางส่วน ซึ่งไม่มีความแข็งแรงทนทานเพียงพอ เป็นอาวุธส่งเครื่องกระสุนปืนได้ ซึ่งกรณีดังกล่าว มีหลักการทำนองเดียวกันกับแบลงค์กัน

ดังนั้น “แบลงค์กัน” จึงเป็นเพียง “สิ่งเทียมอาวุธปีน” ตามมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ การมีไว้ในครอบครอง จึงไม่มีความผิด และไม่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติฯ แต่อย่างใด

ครบ 1 ปี มหาดไทยรอตีความสถานะ “แบลงค์กัน”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 มีการประชุมโดยคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 และมีข้อหารือการตีความสถานะของปืนแบลงค์กัน ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร หลังมีการส่งหนังสือหารือมาโดยตำรวจไซเบอร์

สุดท้ายแล้ว ทาง คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะที่ 1 มีความเห็นดังนี้

1.ควรพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ.2490 ที่มุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยจากบรรดาอาวุธทั้งหลาย จึงควรมีนโยบายการควบคุมปืนแบลงค์กัน มากกว่าที่จะอาศัยการตีความนิยามของปืนแบลงค์กัน ว่าเป็นอาวุธปืนหรือสิ่งเทียมอาวุธปืน

รวมทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับปืนแบลงค์กันผู้สุจริตด้วย เนื่องจากเป็นความผิดทางอาญาที่ได้กำหนดอายุความไว้ยาว อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนที่ต้องเสี่ยงกับข้อกฎหมายที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบตีความขัดแย้งกัน

2.กรมการปกครอง ควรดำเนินการศึกษาข้อมูลและแก้ไขปัญหาโดยการกำหนดมาตรการในการควบคุม และแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต การนำเข้าการส่งออก การจำหน่าย การมีไว้ในครอบครอง รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโดยการกำหนดรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว

ดังนั้นในชั้นนี้ จึงไม่ควรพิจารณาตีความว่าปืนแบลงค์กันเป็นอาวุธปืนหรือสิ่งเทียมอาวุธปืน แต่ควรจะแก้ไขปรับปรุง และกำหนดมาตรการต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น รวมทั้งควรปรึกษาหารือกันระหว่างหน่วยงานผู้รับผิดชอบและใช้กฎหมายดังกล่าว

และมีความเห็นเพิ่มเติมว่าในช่วงนี้ ควรชะลอการปรับใช้บังคับพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ.2490 กับปืนแบลงค์กันไว้ก่อน และเร่งศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ต่อไป

โดยขณะที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย อาจออกหนังสือสั่งการหรือกำหนดแนวทางตามที่ศาลหรือพนักงานอัยการได้วางแนวปฏิบัติไว้ และบังคับใช้กฎหมายตามหน้าที่และอำนาจซึ่งมีอยู่ตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน

รายงานการประชุม

คณะกรรมการพิจารณาร่งกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ ๑ ครั้งที่ ๑๙/๒๕๖๕

“ผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืน” ห่วงปัญหาดัดแปลงปืนเถื่อน

“ศรีภูมิ โชติรัตนะนนท์” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน ได้มีกลุ่มคนบางกลุ่ม รับจ้างดัดแปลงลำกล้องแบลงค์กัน เพื่อใช้กระสุนจริงได้ ซึ่งจุดนี้ถือว่าอันตรายมาก เพราะจะเกิดกรณีที่ไม่สามารถควบคุมอาวุธปืนได้

บางแห่งก็จำหน่ายปืนดัดแปลงกันอย่างโจ๋งครึ่มเลยก็มี อุปกรณ์ส่วนควบอื่น ก็อ้างเป็นอุปกรณ์ใช้งานด้านอื่นๆ แต่จริงๆ คืออุปกรณ์ดัดแปลงเกี่ยวกับปืน

บางครั้งปืนดัดแปลงตกอยู่ในตลาดมืด อาจถูกนำไปใช้ก่อเหตุร้ายได้ และที่สำคัญ คือ การใช้อาวุธปืนดัดแปลงที่ไม่ได้มาตรฐานจากโรงงาน อาจเกิดอันตรายขึ้นกับผู้ใช้เองก็ได้

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งหารือป้องกันปัญหาทางข้อกฎหมาย เพื่อป้องกันในเรื่องดังกล่าว อยู่ระหว่างการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย อาจออกหนังสือสั่งการ หรือกำหนดแนวทาง ตามที่ศาลหรือพนักงานอัยการ ได้วางแนวปฏิบัติไว้ และบังคับใช้กฎหมายตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

…………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img