คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้ประชุมร่วมกับ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
คณะอนุกรรมการฯนี้ มี “นิกร จำนง” เป็นประธาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
โดยคณะอนุกรรมการได้นำเสนอ (ร่าง) คำถามการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา และตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดังนี้
1.ท่านเห็นสมควรจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือไม่
2.ท่านต้องการแก้ขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
(1) ทั้งฉบับ โดยคงไว้ซึ่งหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์
(2) แก้ไขรายมาตรา
3.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่นั้น ท่านเห็นสมควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาดำเนินการหรือไม่
4.ประเด็นจำนวนครั้งของการทำประชามติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ก.ดำเนินการการออกเสียงประชามติ 1 ครั้ง กรณีการออกเสียงประชามติก่อนเริ่มดำเนินการใดๆ ในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่กำหนดว่าประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ
ข. ดำเนินการออกเสียงประชามติ 1 ครั้ง กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อกำหนดที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
ค. ดำเนินการออกเสียงประชามติ 1 ครั้ง กรณีการออกเสียงประชามติ เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงประปรมาภิไธย
คำถาม : ในการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่นั้น ท่านเห็นสมควรที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติกี่ครั้ง
1. 1 ครั้ง
2. 2 ครั้ง
3. 3 ครั้ง
4. มากกว่า 3 ครั้ง
นี่ยังเป็นเพียงร่างคำถาม ที่จะใช้สอบถามความคิดเห็นนักการเมือง ประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง ก่อนจะมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐบาลได้หาเสียงเอาไว้ต่อไป (งบลงประชามติครั้งละ 3 พันล้านบาท)
……..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม