วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกHighlightค่าไฟแพง!! ‘ส.อ.ท.’แนะรัฐคลอดมาตรการหนุนใช้‘พลังงานทดแทน’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ค่าไฟแพง!! ‘ส.อ.ท.’แนะรัฐคลอดมาตรการหนุนใช้‘พลังงานทดแทน’

ผู้ประกอบการธุรกิจอ่วมค่าไฟฟ้าแพงดันต้นทุนสินค้าพุ่ง โอดรับภาระหนักเหตุยังไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ แนะรัฐคลอดมาตรการอุดหนุนใช้พลังงานทดแทน

นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15-20% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเล อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง ที่ต้องใช้ห้องเย็นจะมีการใช้ไฟค่อนข้างมาก  แม้ว่าจะมีการปรับลดค่าไฟลงบ้าง แต่กลุ่มฯ ยังต้องรับภาระหนัก เนื่องจากไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนม ไข่ ไก่ และสินค้าควบคุมอื่น ๆ อีกทั้งการปรับราคาขึ้นยังจะส่งผลต่อการแข่งขันและการส่งออกไปตลาดโลกด้วย

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาส่วนหนึ่งหันไปใช้พลังงานทดแทน อาทิ โซลาร์เซลล์ ไบโอแมส ไบโอแก๊ส จากของเสีย แต่พลังงานเหล่านี้ยังเข้ามาเสริมเพียงแค่ 20% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนใช้พิจารณาในการตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่ม เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้ไทยมีต้นทุนการผลิตสูงมาก การบริหารจัดการค่าไฟของรัฐต้องสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงต้องมีมาตรการมาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน เช่น ส่งเสริมด้านภาษี การนำเข้าอุปกรณ์ ให้เงินอุดหนุน รวมทั้งปลดล็อกการขายไฟฟ้าคืนให้การไฟฟ้าได้

นายอธึก เชิดเกียรติศักดิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือส.อ.ท.เปิดเผยถึงมาตรการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในการผลิตสินค้าว่า ตั้งแต่ต้นปีอุตสาหกรรมมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ซึ่งเบื้องต้นหลายโรงงานรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยการหันมาใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ แต่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยทุก 1 เมกะวัตต์ต้องลงทุนถึง 30 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทำให้บริษัทขนาดกลางถึงเล็กส่วนมากเลือกที่จะให้มีผู้ลงทุนมาติดตั้งให้แล้วซื้อไฟจากผู้ติดตั้งอีกที ซึ่งตรงนี้ในช่วงแรกสามารถประหยัดต้นทุนลงได้ถึง 10% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือแค่ 5% เนื่องจากการคิดราคาไฟฟ้ายังคงอิงค่าไฟหลวง 

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี กล่าวว่า ความผันผวนของราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า แก๊สและถ่านหิน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งผลกระทบระยะสั้นจะทำให้ธุรกิจมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และดันให้ต้นทุนค่าครองชีพเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ระยะยาวจะลดทอนความสามารถการแข่งขันในการส่งออกไปตลาดต่างประเทศเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้าน 

ทั้งนี้ในส่วนของบริษัท ฯ ได้รุกธุรกิจพลังงานสะอาด SCG Cleanergy เป็นผู้ให้บริการซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจรสำหรับภาครัฐ ธุรกิจและอุตสาหกรรม ปัจจุบันเอสซีจีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์สำหรับใช้ภายในโรงงาน อยู่ที่ 220 เมกะวัตต์ 

อีกทั้งได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิต-ขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ภาครัฐ 10 โครงการ ขนาด 367 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าบ้าน 180,000 หลังคาเรือน โดยราคาขายของเอสซีจีคลีนเนอร์ยี่ อยู่ที่ 2.16 บาทต่อหน่วย 

นอกจากนี้ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ “SCG Solar Roof Solutions” การติดตั้งโซลาร์เซลล์ภาคครัวเรือน เติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า หรือ 313% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img