วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกHighlight‘กกร.’หวังท่องเที่ยวดัน‘จีดีพี’โต 3-3.5% ‘ศก.ปท.ตต.’แนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย-เงินตึง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘กกร.’หวังท่องเที่ยวดัน‘จีดีพี’โต 3-3.5% ‘ศก.ปท.ตต.’แนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย-เงินตึง

“กกร.” เผยเศรษฐกิจประเทศฝั่งตะวันตกมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง-ภาวะการเงินตึงตัวนำไปสู่การชะลอตัวเศรษฐกิจ ขณะที่จีนหั่นจีดีพีรั้งการส่งออกไทย หวังท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจ ยันจีดีพีโต 3-3.5%

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมประเมินเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคบริการเริ่มเห็นสัญญาณชะลอลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ธนาคารกลางของประเทศหลักฝั่งตะวันตกมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงครึ่งปีหลัง ภาวะการเงินตึงตัวจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่จะยิ่งกดดันภาคธุรกิจและจำกัดการใช้จ่าย นำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน มีการปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขการเติบโตของ GDP จีนปี 2566 ลงสู่ระดับ 5.4-5.5% จากเดิม 6% ปัจจัยเหล่านี้อาจฉุดการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า

ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าค่อนข้างเร็ว สาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่าหลังจากธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มกลับมาเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียที่นำโดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าคาด ส่งผลให้ค่าเงินภูมิภาคอยู่ในทิศทางอ่อนค่า

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าชั่วคราวและจะกลับมาทยอยแข็งค่าได้ในช่วงที่เหลือของปี ด้วยทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่เป็นขาขึ้นและปัจจัยความไม่แน่นอนในประเทศที่คลี่คลายลง

สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะไปถึง 29-30 ล้านคนและรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงเติบโตประมาณ 3% ถึง 3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนถูกกดดันจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 90.6% ต่อจีดีพี

ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีข้อจำกัดและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตมีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ส่วนมูลค่าการส่งออกประเมินว่าหดตัวมากขึ้นในกรอบ -2.0% ถึง 0.0% ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อ แม้ยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง (เอลนีโญ)และหากมีการปรับค่าแรง แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำลงจากที่ประเมินไว้เดิมตามทิศทางราคาพลังงาน โดยจะอยู่ในกรอบ 2.2 ถึง 2.7%

นอกจากนี้ได้ปรับปรุงนิยามและข้อมูลหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ให้ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี หรือสูงกว่าตัวเลขเดิมก่อนปรับปรุงราว 4% ต่อจีดีพี (7.65 แสนล้านบาท) ที่ประชุม กกร. มองว่าเป็นประโยชน์ต่อการวางแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างรอบด้าน จากเดิมที่มองเห็นหนี้ในธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ กลุ่ม non-bank และสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นหลัก

โดยข้อมูลที่ปรับปรุงใหม่ได้ครอบคลุมไปถึงหนี้เพื่อการศึกษา (กยศ.) การเคหะแห่งชาติ ธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ และสหกรณ์ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ ทั้งนี้ การจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน จึงต้องเป็นการฟื้นฟูศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ยกระดับทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงาน นำไปสู่รายได้ที่ดีขึ้น

ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ร่วมหาแนวทางกับภาคเอกชน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ทั้งแรงงาน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล ในระหว่างนี้ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่ ภาคการเงินยังต้องประคับประคองลูกหนี้กลุ่มเปราะบางต่อไป แม้จะมีต้นทุนต่อระบบบ้าง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่ม 30% ที่ไม่ได้อยู่ในระบบภายใต้การกำกับของ ธปท.

ด้านการส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ซึ่งภาครัฐควรเร่งสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ ในประเทศที่ยังขยายตัวได้ เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพื่อทดแทนการส่งออกในประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่อ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งผลักดันการเจรจา FTA เพื่อเปิดตลาดใหม่และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกไทย

ที่ประชุม กกร. มองว่าตลาดการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวในการขับเคลื่อนประเทศตอนนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่มีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการออกหนังสือเดินทาง และรวมถึงการดูแลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องเร่งเพิ่มเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งการเร่งการใช้จ่ายและการจัดทำงบประมาณเป็นเรื่องเร่งด่วน การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐไม่สะดุด จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร. มีความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 3/2566 (ก.ย.-ธ.ค. 66) ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่า ft แล้ว พบว่า มีปัจจัยบวกให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 10% จากงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 66) และคาดว่าไม่ควรเกิน 4.25 บาท/หน่วย จากเดิม 4.70 บาท/หน่วย เนื่องจาก

1) ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMBTU) ในช่วงปลายปี

2) ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ลดลง

3) ราคา LNG Spot ลดลงมากกว่า 30%

4) ราคาพลังงานโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

5) ภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริง LNG ต่ำกว่าที่เรียกเก็บ Ft แม้ว่าค่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ขอให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่า Ft ลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนสิงหาคม 2568 และขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิง LNG โดยมอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวในการจัดหาเพื่อเป็นการสกัด Demand เทียมจาก Shipper หลายรายที่เข้าจัดหาในตลาด สำหรับนำมาผลิตไฟฟ้าในงวดที่ 3/2566 เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด และไม่ให้ประเทศเสียเปรียบโดยจัดหาในราคาเฉลี่ย LNG ในช่วง 14-16 USD/MMBTU ซึ่ง กกร. มีความกังวลว่าหากเข้าสู่ฤดูหนาวจะทำให้ราคา LNG ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลก

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img