วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกHighlight“เงินบาทแข็ง”จับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทแข็ง”จับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” หลังดอลลาร์อ่อนค่า จับตาข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของทั้งสหรัฐฯ และจีน -ถ้อยแถลงประธานเฟด- ผลประชุมกนง.

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 35.30-35.48 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น ซึ่งส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ โดยปริมาณธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ในสัปดาห์นี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของทั้งสหรัฐฯ และจีน พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟด และรอลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนตุลาคม และรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาประเมินว่า เฟดมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งภาพดังกล่าวจะส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น

อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ควบคู่ไปกับการติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด รวมถึงรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ว่าจะสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ของเฟดสาขาต่างๆ

อย่างไรบ้าง โดยหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น จากรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจก่อนหน้า ก็อาจเป็นปัจจัยให้เฟดดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเรายังคงมองว่า เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ไปก่อน และเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้นชัดเจนและเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า หากคาดการณ์ของเราไม่ผิดพลาด

▪ ฝั่งยุโรป – ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB โดยเฉพาะประธาน ECB โดยในส่วนของ ECB นั้น ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และมีโอกาสที่ ECB จะลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าไม่น้อยกว่า -75bps ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็อาจได้แรงหนุนจากรายงานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของยูโรโซน ที่จะชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.9% (ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI จะชะลอลงสู่ระดับ 2.7%)

▪ ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของจีนในเดือนพฤศจิกายน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.1 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงภาวะขยายตัว)

ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีน อาจยังอยู่ในภาวะหดตัว โดยดัชนี PMI ภาคการผลิต จะยังคงต่ำกว่าระดับ 50 จุด ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น นักวิเคราะห์ต่างคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้รับอานิสงส์จากการภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก โดยภาพดังกล่าวจะสะท้อนจาก ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคมที่จะโตกว่า +5.9%y/y

ส่วนนโยบายการเงินนั้น ตลาดประเมินว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะหนุนให้ทั้งธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.50% และ 5.50% ตามลำดับ

▪ ฝั่งไทย – ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% หลังล่าสุดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อรวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจอาจลดลงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้บ้าง ท่ามกลาง ความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ

รวมถึงความไม่แน่นอนของแนวโน้มบรรดาเศรษฐกิจหลัก ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ยอดการส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น ราว +9%y/y ตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ Semiconductor ที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนสินค้าเกษตรและอาหารก็ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ ยอดการนำเข้าอาจโตราว +6%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจเกินดุล +530 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ การฟื้นตัวดีขึ้นของการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 4 จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีนี้ได้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญ ซึ่งเงินบาทจะอ่อนค่าต่อ หรือ พลิกกลับมาแข็งค่าอาจต้องรอลุ้นทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง.

ทั้งนี้เงินบาทอาจได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินหยวนจีน (CNY) หากรายงานดัชนี PMI จีนออกมาดีกว่าคาด และที่สำคัญ โฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้ ซึ่งต้องจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด หลังล่าสุดราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้ (โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เงินดอลลาร์มีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงสนับสนุนเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมามองว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน “Higher for Longer” พร้อมกับเริ่มปรับลดโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยลงได้ “เร็วและลึก” กว่าที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด

อย่างไรก็ตามตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน รวมถึง ความกังวลต่อทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.00-35.65 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.30-35.50 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img