วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกNEWS“เศรษฐา”เยือน 14 ประเทศคาดดึงเม็ดเงินลงทุน 5.58 แสนล้านบาท
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เศรษฐา”เยือน 14 ประเทศคาดดึงเม็ดเงินลงทุน 5.58 แสนล้านบาท

“ชโยทิต” สรุปผลการเดินทางต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี 14 ประเทศ พบ 60 บริษัทในรอบ 6 เดือน เดินหน้าดึงการลงทุนใน 4 อุตสาหกรรมหลัก คาดดึงเม็ดเงินลงทุนจากกิจกรรมโรดโชว์ 558,000 ล้านบาท

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและประธานผู้แทนการค้าไทย เปิดเผลการดำเนินงานของรัฐบาลด้านการลงทุนและความร่วมมือกับภาคเอกชนต่างชาติว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางเยือนต่างประเทศจำนวน 14 ประเทศ พบปะหารือกับบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 60 แห่ง โดยมีพันธกิจสำคัญในการนำเสนอวิสัยทัศน์ เจรจาด้านความร่วมมือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่างๆ และเข้าร่วมเวทีสำคัญระดับโลก ซึ่งนอกเหนือจากการประชุมตามวาระงานแล้ว นายกฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้เข้าพบภาคธุรกิจต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ชักชวนการลงทุน และกระชับความร่วมมือกับประเทศไทย ทั้งการพบปะผู้บริหารระดับสูง การนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อสมาคมธุรกิจและหอการค้าชั้นนำ ตลอดจนจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจับคู่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี เมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 มูลค่า FDI ขยายตัวกว่า 145% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วงปีที่ผ่านมา

รัฐบาลและบีโอไอได้กำหนดยุทธศาสตร์เน้นหนักในการดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ Data Center และ Cloud Service รวมถึงกิจการสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้ง ต้องมีการทำงานเพื่อเตรียมการก่อนไป ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมข้อมูลเชิงลึก แพ็คเกจการลงทุนที่จูงใจและตอบโจทย์ต่อความต้องการของนักลงทุน รวมถึงการทำงานเพื่อติดตามผลการประชุมอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่องโดยทีมงานของนายกรัฐมนตรีร่วมกับทีมบีโอไอ เพื่อช่วยแก้อุปสรรคปัญหา

รวมไปถึงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยเอื้อต่อการลงทุน ซึ่งในส่วนนี้นายกรัฐมนตรี และทีมรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยบีโอไอได้ประเมินเม็ดเงินลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรม Roadshow และมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล จาก 4 อุตสาหกรรมหลักที่ได้กล่าวมา รวมแล้วประมาณ 558,000 ล้านบาท

นอกจากการดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนต่างชาติ เรายังเห็นความคืบหน้าการดำเนินงานในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ฟรีวีซ่า ซึ่งได้มีการเจรจาและเกิดขึ้นแล้วกับจีน คาซัคสถาน และอินเดีย และอีกหลายประเทศที่กำลังดำเนินการ ความร่วมมือในการพัฒนาบุคคลากร การเปิดช่องทางการค้าใหม่ ๆ เพิ่มความสัมพันธ์ในการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA และการผลักดันด้านความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียน

โดยประชาชนไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาล องค์กร และบริษัทชั้นนำของโลก ผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  และยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาทักษะและศักยภาพของแรงงานให้สูงขึ้น  ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในเวทีโลก ในแง่ของการเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชีย และท้ายที่สุดแล้วประชาชนคนไทยจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการในอนาคต

นอกจากนี้รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในภูมิภาค  ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการออกมาตรการและการทำงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ทั้งการดึงผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ได้อย่างราบรื่น ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เนื่องจากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ อยู่ระหว่างขยายการลงทุน

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นอนาคตที่สำคัญของโลก รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงดำเนินมาตรการสนับสนุนหลากหลายรูปแบบ ทั้งดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่เข้ามาลงทุน และสนับสนุนผู้ผลิตรายเดิมให้สามารถปรับตัวได้ ซึ่งผลจากการดำเนินงาน ทำให้บริษัทผู้ผลิตจากจีนหลายรายในระดับท็อป 10 ของโลก เช่น BYD, Aion, Changan, GWM, MG เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก และจากการเจรจาครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้วที่กรุงโตเกียว ทำให้ 4 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำ มีแผนการขยายการลงทุนรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และการรักษาธุรกิจ ICE ในปัจจุบัน ในขณะที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าเจรจากับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีมาตรการสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ชั้นนำของโลก คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อย่างน้อย 2 รายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ขณะที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมา ไทยประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำมาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงตั้งเป้าพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศ ด้วยการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เช่น การผลิตชิปต้นน้ำ การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ การรับจ้างผลิตและทดสอบชิปขั้นสูง เข้ามายังประเทศไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าสูง สร้างงานทักษะสูงในประเทศ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างเจรจากับบริษัทระดับโลกหลายราย พร้อมพัฒนาบุคลากรไทยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้

ด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะด้าน Data Center และ Cloud Services ซึ่งเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรม AI คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ให้บริการระดับ Hyperscale เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอย่างน้อย 2 ราย ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องหลายแสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคได้

อย่างไรก็ตาม การดึงดูดบริษัทชั้นนำให้ตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและศูนย์กลางการเงิน และโลจิสติกส์ของภูมิภาคนี้ โดยในปีที่ผ่านมา มีบริษัทต่างชาติรายใหญ่หลายรายเลือกไทยในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค ส่งผลให้มีแรงงานทักษะสูงระดับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอยู่ในประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทย 

นอกจากนั้น รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นในการจูงใจให้ภาคเอกขนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทผู้มีฐานการผลิตในไทยและอาเซียน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ดิจิทัล การเงิน โลจิสติกส์ ไปจนถึงธุรกิจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ซึ่งใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยในหลาย ๆ ด้าน โดยนอกเหนือจากปัจจัยด้านธุรกิจเช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ ต้นทุนทางธุรกิจที่เหมาะสมแล้ว ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตสำหรับกลุ่มคนทำงานด้วย เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบรักษาพยาบาล โรงเรียน แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น โดยในปีนี้คาดว่าจะมีบริษัทใหญ่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 5 ราย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img