วันอังคาร, พฤษภาคม 7, 2024
หน้าแรกHighlightแนะจับตา..“รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก” ลอดเจ้าพระยาก่อนสายสีม่วงได้หรือไม่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แนะจับตา..“รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก” ลอดเจ้าพระยาก่อนสายสีม่วงได้หรือไม่

“ดร.สามารถ” แนะจับตา “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก” จะได้ลอดเจ้าพระยาก่อน “สายสีม่วงใต้” ได้หรือไม่ หลังมีปัญหาถูกฟ้องร้อง กรณีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและล้มประมูล ถึงวันนี้การประมูลใหม่ยังสะดุดอยู่

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.64 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ ปชป. โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง “จับตา! รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก จะได้ลอดเจ้าพระยาก่อนสายสีม่วงใต้หรือไม่?” มีเนื้อหาดังนี้…

รฟม. เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกก่อนสายสีม่วงใต้ แต่มีปัญหาถูกฟ้องกรณีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและล้มประมูล ถึงวันนี้การประมูลใหม่ยังสะดุดอยู่ จึงไม่แน่ใจว่าจะสามารถก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นจุดไฮไลต์ของการก่อสร้างได้ก่อนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ซึ่งจะต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกันได้หรือไม่?

หลายคนคงไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าสายแรกที่วิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาคือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงสนามไชย-ท่าพระ รถไฟฟ้าช่วงนี้ได้รับการออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) โดยกลุ่มบริษัท บีเอ็มทีซี (BMTC) ซึ่งเป็นแบบที่ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะนำไปใช้ก่อสร้างได้ และออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) โดยบริษัท AECOM หรือเออีคอม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นแบบที่สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้ โดยมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้าง รถไฟฟ้าช่วงนี้ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ การออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเบื้องต้นหรือออกแบบรายละเอียดจะต้องใช้ผู้ออกแบบหรือวิศวกรหลายคนและหลายสาขา พูดได้ว่ามีผู้เกี่ยวข้องมากมาย

พูดถึงการออกแบบรถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว หลายคนคงอยากรู้ว่าใครเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย

รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทยวิ่งระหว่างหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2547 บริษัทที่ออกแบบเบื้องต้นประกอบด้วยบริษัท Halcrow Asia จำกัด (ออกแบบช่วงหัวลำโพง-ห้วยขวาง) และบริษัท Dorsch Consult จำกัด (ออกแบบช่วงห้วยขวาง-บางซื่อ) และบริษัทที่ออกแบบรายละเอียดพร้อมทำการก่อสร้างประกอบด้วยกลุ่มบริษัท BCKT (ช่วงหัวลำโพง-ห้วยขวาง) และกลุ่มบริษัท ION (ช่วงห้วยขวาง-บางซื่อ) ทั้งนี้ การออกแบบและก่อสร้างมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

กลับมาที่รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศ ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ จึงได้ฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด รฟม.ได้ยกเลิกการประมูลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นผลให้บีทีเอสฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฯ น่าเป็นห่วงว่าผู้ถูกฟ้องจะถูกลงโทษจำคุกเหมือนกับอดีตผู้บริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทยในคดีแอร์พอร์ตลิงก์หรือไม่?

ทราบมาว่ามีกรรมการบางท่านในคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ต้องการรอผลการพิจารณาของศาลฯ หากศาลฯ วินิจฉัยว่าคดีมีมูล รฟม. จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้าออกไปอีก? เพราะถึงเวลานี้ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มช้ากว่าแผนไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับ รฟม. คือกลับไปใช้เกณฑ์ประมูลเดิมนั่นคือเกณฑ์ราคา (แต่ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านเกณฑ์เทคนิคมาก่อน) เพราะจะใช้เวลาสั้นกว่า และที่สำคัญ ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องอีก แต่หากยังฝืนใช้เกณฑ์ประมูลใหม่นั่นคือเกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา จะทำให้เสียเวลานานมากขึ้น และที่สำคัญ อาจจะถูกฟ้องร้องอีกก็ได้

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี อยากเห็นรถไฟฟ้าสายสีส้มวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายที่ 2 ตามหลังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งจะทำให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในอีกไม่นาน ช่วยลดเวลา ลดมลพิษโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 และลดการใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี

ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img