วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกHighlightคลังชี้สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นเกาะติด "โอมิครอน"
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

คลังชี้สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นเกาะติด “โอมิครอน”

คลังเผยเศรษฐกิจไทย เดือนพ.ย. มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ทั้งการบริโภค-ท่องเที่ยว ขณะที่ส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 จับตาโอมิครอน

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประกอบกับการส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโอมิครอนอย่างใกล้ชิด

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน กลับมาขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 20.2 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 28.1 สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -6.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 10.1

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 44.9 จากระดับ 43.9 ในเดือนตุลาคม 2564 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 15.7 อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่แท้จริงลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -6.8

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 7.8

การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -10.8 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.9 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.7 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.5

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 23,647.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ที่ร้อยละ 24.7

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 18.9 โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ สินค้ารถยนต์

“เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย อาเซียน-5 เกาหลีใต้ จีน และสหรัฐฯ “


ส่วนบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนพฤศจิกายน มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 91,255 คน

โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเยอรมนี สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร รัสเซีย และฝรั่งเศส สำหรับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีจำนวน 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็นการหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -30.9 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 122.3

ทั้งนี้เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 2.71 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.29

ส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.8 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุน สำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน อยู่ในระดับสูงที่ 243.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img