วันอังคาร, พฤษภาคม 7, 2024
หน้าแรกNEWSจับตาที่ประชุม ส.ว.ชี้ชะตาร่างพ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ 1 พ.ย.นี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตาที่ประชุม ส.ว.ชี้ชะตาร่างพ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ 1 พ.ย.นี้

“คำนูณ” แนะจับตา ส.ว.ชี้ชะตาร่างพ.ร.บ.กยศ.ไม่มีดอกเบี้ย-ไม่มีเบี้ยปรับ-ไม่ตัองมีผู้ค้ำ 1 พ.ย.นี้

วันที่ 30 ต.ค.65 นายคำนูณ สิทธิสมานสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ Facebook ระบุว่า ไม่มีดอกเบี้ย-ไม่มีเบี้ยปรับ-ไม่ตัองมีผู้ค้ำ !
จับตาวุฒิสภาชี้ชะตาร่างพ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ 1 พ.ย.นี้
ช่วงปัจจุบันมีกฎหมายดี ๆ กฎหมายที่ถือเป็นการปฏิรูปปรับเปลี่ยนโครงสร้างทยอยมีผลใช้บังคับหลายฉบับ อาทิ กฎหมายปรับเป็นพินัย กฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำ สมัยประชุมสุดท้ายของรัฐสภาที่จะเปิดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นี้ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันนั้นทันที

ประเด็นหลักการสำคัญของร่างฯที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากเสนอมาอันเป็นที่โฟกัสกันมากที่สุด…

“3 ไม่ 2 มี”
กล่าวคือ…

  • ไม่มีดอกเบี้ย
  • ไม่มีเบี้ยปรับ
  • ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน
  • มีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี
  • มีผลย้อนหลัง

หลักการใหม่ที่ว่ามานี้ไม่ได้อยู่ในร่างฯที่คณะรัฐมนตรีเสนอเข้ามาและผ่านมติในวาระ 1 แต่มาลงมติแก้ไขกันในขั้นวาระ 2 ในลักษณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นต่างกัน เป็นการแก้ไขที่ไปสุดทางเลยทีเดียว

ประเด็นที่จับตากันคือวุฒิสภาคงสารัตถะนี้ไว้ทั้งหมด หรือจะแก้ไขในวาระที่ 2 ให้กลับไปใกล้เคียงร่างฯเดิมของคณะรัฐมนตรีหรือไม่ประการใด

หลักคือยังคงให้มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับแต่ปรับลดลงมาให้ต่ำมาก ๆ

ทั้งนี้ใช่ว่าหลักการเดิมของร่างฯที่คณะรัฐมนตรีเสนอมาและผ่านวาระ 1 สภาผู้แทนราษฎร แม้จะมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ จะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาระดับปฏิรูปใหญ่

ตรงกันข้าม หากพิจารณดูให้ดีจะพบว่าหลักการเดิมของร่างฯฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอมาถือเป็นการปฏิรูปใหญ่มากทีเดียว โดยมาจากข้อเสนอของคณะทำงานที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย และยกร่างโดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการชำระหนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ปะผุ และจะเป็นตัวแบบให้มีการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนอื่นต่อไป เพราะหนี้กยศ.เป็นหนึ้ครัวเรือนที่เป็นคดีฟ้องร้องอันดับ 3

  • ลดดอกเบี้ยจากเดิมไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี
  • ลดเบี้ยปรับจากเดิมไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 18 ต่อปี เหลือไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี
  • กำหนดให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี ก็ได้ จากเดิมกำหนดให้ผ่อนชำระเป็นรายปีเท่านั้น
  • กำหนดหลักเกณฑ์ให้หักเงินที่ลูกหนี้ชำระหนี้แต่ละงวดตามลำดับดังนี้ 1. เงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด 2. ดอกเบี้ย และ 3. เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม

โดยเฉพาะประเด็นสุดท้ายนี่ถือว่าสำคัญที่สุด

ก่อนหน้านี้และในปัจจุบัน ยอดหนี้ที่ลูกหนี้ผ่อนชำระในแต่ละงวด เจ้าหนี้จะหักใช้ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เบี้ยปรับ และดอกเบี้ยก่อน จีงจะไปหักเงินต้นที่ครบกำหนดชำระ ทำให้ยอดเงินที่ผ่อนชำระไปไม่ว่าเท่าไรต่อเท่าไรแทบไม่ได้ไปลดเงินต้นเลย หรือลดน้อยมาก เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้หมดกำลังจะชำระหนี้

การกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ให้หักเงินชำระหนี้เป็นเงินต้นที่ครบกำหนดชำระเป็นอันดับแรก ตามร่างเดิมของคณะรัฐมนตรีที่อยู่ในมาตรา 18 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44/1 (3) ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่กำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ไว้ในกฎหมาย

“ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินมีหนี้ค้างชำระทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม เงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระให้นำไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม ตามลำดับ”

หากมีผลบังคับใช้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้ในหนี้ครัวเรือนประเภทอื่นต่อไป

มาตรา 44/1 (3) นี้ถูกตัดออกในชั้นวาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร

แม้จะเป็นด้วยเหตุผลด้านเทคนิคคือปรับแก้ให้สอดคล้องกับสารัตถะใหม่ที่แก้ไขให้ไม่มีทั้งดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ (เงินเพิ่ม) ทำให้ไม่มีความจำเป็นจะต้องมีบทบัญญัตินี้ก็ตาม แต่ก็ได้ก่อให้เกิดผลกระทบข้างเตียงอย่างคาดไม่ถึงในมิตินี้

คือจะไม่มีกฎหมายกู้ยืมเงินต้นแบบที่กำหนดหลักเกณฑ์จัดลำดับการหักเงินชำระหนี้จากเงินผ่อนชำระของลูกหนี้แต่ละงวดให้หักเงินต้นเป็นลำดับแรก

อาจกล่าวได้ว่าส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพรวม

วาระแรกที่จะโหวตกันทันทีในวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นี้เชื่อว่าไม่มีปัญหา วุฒิสภารับร่างฯจากสภาผู้แทนราษฎรไว้พิจารณาแน่นอน

โดยมีระยะเวลาพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ต่อเวลาได้อีก 30 วัน

สุดท้าย วุฒิสภาจะคงสารัตถะที่ผ่านมติมาจากสภาผู้แทนราษฎรไว้ทั้งหมด หรือปรับเปลี่ยนแก้ไขใหม่ด้วยเหตุผลใด แล้วสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นด้วยกับการแก้ไขนั้นหรือไม่ ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมาหรือไม่ และจะทันวาระของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่ไม่มากหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img