วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกNEWSจับโป๊ะ‘ไทยพีบีเอส’แพร่ข่าวผิดอีก ‘อ.นิด้า’จี้ให้แสดงความรับผิดชอบ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับโป๊ะ‘ไทยพีบีเอส’แพร่ข่าวผิดอีก ‘อ.นิด้า’จี้ให้แสดงความรับผิดชอบ

“อ.นิด้า” จับโป๊ะ “ไทยพีบีเอส” แพร่ข่าวผิดอีกแล้วครับท่าน คราวก่อนแปลผิดเรื่องเช่าเครื่องบินอินเดียมาไทย คราวนี้รายงานตัวเลขเรื่องวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าผิดหลายจุด ถือเป็นการให้ข้อมูลผิดแก่ประชาชน ซัดผิดบ่อยๆ แสดงถึงความหละหลวมในการตรวจสอบข้อมูล จี้ให้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อวันที่ 10 พ.ค.64 ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ระบุว่า เหนื่อยใจกับไทยพีบีเอสจริงๆ ครับ ผิดอีกแล้ว คราวที่แล้วเรื่องเช่าเครื่องบินจากอินเดียมาไทยแปลผิด คราวนี้ทั้งแปลผิดและเข้าใจข้อมูลผิด และผิดหลายจุดเลย

ไทยพีบีเอส นำเสนอสกู๊ปว่าวัคซีนต่างๆ มีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งอันนี้เป็นความจริง

แต่ปัญหาอยู่ที่ สกู๊ปนี้ของไทยพีบีเอส รายงานตัวเลขที่ผิดพลาดหลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเน้นว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกา ที่ไทยจะใช้เป็นหลักนั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 6% และป้องกันการป่วยหนักได้ 10% (รูปที่ 1) ซึ่งเห็นตัวเลขอย่างนี้แล้วน่าตกใจมาก โดยเฉพาะการป้องกันการป่วยหนัก

(รูปที่ 1)

แต่ข้อดีของไทยพีบีเอสในสกู๊ปนี้ก็คือ การให้แหล่งข้อมูล คือเว็บไซต์ healthdata.org ดังนั้นผมจึงเข้าไปหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่ จึงได้พบกับแหล่งข้อมูลในหน้านี้ http://www.healthdata.org/…/covid-19-vaccine-efficacy…

และเมื่ออ่านแล้วจึงเข้าใจได้ว่า

1.ข้อมูลของไทยพีบีเอส นำมาจากตารางในหน้านี้ (รูปที่ 2)

(รูปที่ 2)

2.ซึ่งปัญหาก็คือ ไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมดในตารางนี้ (และที่ไทยพีบีเอสนำเสนอ) เป็น “ข้อมูลจริง” จากผลการวิจัยในประเทศที่มีการแพร่ระบาด เพราะไม่ใช่วัคซีนทุกตัวมีการใช้กับประเทศที่มีการระบาดทุกสายพันธุ์ แต่บางตัวเลขที่ใส่มาในตารางนี้ มีทั้ง “ข้อมูลจริง” (available data) และ “ตัวเลขคาดการณ์” (modeled estimates) ในกรณีที่ไม่มีผลจริง โดยใช้อัตราส่วนการติดเชื้อของสายพันธุ์อื่นมาเทียบเคียง ซึ่งวิธีการคำนวณนั้นก็มีอธิบายไว้ในหน้าเดียวกัน (รูปที่ 3)

(รูปที่ 3)

3.ซึ่งหากย้อนขึ้นไปดูตารางก่อนหน้า จะเป็นตารางที่ใส่เฉพาะ “ตัวเลขจริง” ที่มีข้อมูล (available data) (รูปที่ 4) ซึ่งสำหรับวัคซีนแอสตราเซเนกานั้น มีการใช้ในประเทศแอฟริกาใต้จริง แต่มีแต่ผลการป้องกันการป่วยแบบเกิดอาการจากสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) ซึ่งก็คือ 10.4% แต่ไม่มีผลการป้องกันการติดเชื้อ จึงไม่มีตัวเลขในช่องสีเทา และคาดการณ์เอาว่าเป็น 6% ส่วนวัคซีนของซิโนแวค (Coronavac) นั้น ไม่มีการใช้ จึงไม่มีทั้งช่องสีเขียวและสีเทาของ B.1.351

(รูปที่ 4)

4.ดังนั้น ข้อผิดพลาดที่สำคัญข้อที่ 1 ของสกู๊ปนี้ก็คือ “ไม่ได้บอกผู้ชม” (หรืออาจไม่รู้ด้วยซ้ำ) ว่าตัวเลขตัวไหน เป็นตัวเลขจริง ตัวเลขไหนเป็นตัวเลขคาดการณ์ เช่น ตัวเลขการป้องกันการติดเชื้อของแอสตราเซเนกา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็เป็นตัวเลขคาดการณ์ และตัวเลขทั้งหมดของซิโนแวค ไฟเซอร์ โมเดิร์นน่า สปุตนิก เป็นตัวเลขคาดการณ์ทั้งสิ้น (ล่าสุดไฟเซอร์และโมเดิร์นน่าออกมาเผยผลเบื้องต้นในการป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งก็ทำได้ดี แต่ก็ไม่ตรงกับตัวเลขนี้)

5.แต่ข้อผิดพลาดที่สำคัญข้อที่ 2 ของสกู๊ปนี้ และเป็นเรื่องร้ายแรงกว่าข้อแรก นั่นก็คือ การให้ข้อมูลผิด โดยการแปลช่องที่เขียนว่า Preventing Disease ว่าเป็น “ป้องกันป่วยหนัก” แต่แท้จริงแล้ว Preventing Disease ในตารางนี้ หมายถึง การ “ป้องกันการเกิดอาการ ตั้งแต่น้อยจนถึงปานกลาง” (symptomatic disease) แต่หากอาการป่วยหนัก จะใช้คำว่า severe disease

6.ดังนั้นในตารางของไทยพีบีเอส จึงแปลข้อมูลของแอสตราเซเนกา กับจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ในช่องป่วยหนักผิดทั้งหมด เพราะมันคือตัวเลขของการป้องกันการป่วยน้อยจนถึงปานกลาง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว งานวิจัยต้นฉบับ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา “ไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือต้องเข้าโรงพยาบาล” ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย (รูปที่ 5) หรือจะเช็คข้อมูลกับตารางที่ 1 ในหน้าเดียวกับตารางที่เอาข้อมูลมา ก็จะเห็นว่า จะแบ่งแยกอย่างชัดเจนว่าเป็น Symptomatic กับ Severe ซึ่งตัวเลขของไทยพีบีเอสในช่อง “ป่วยหนัก” จะอยู่ในช่อง Symptomatic ไม่ใช่ช่อง Severe

(รูปที่ 5)

7.ดังนั้นจึงสรุปได้จากการวิจัยนี้ว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา แม้จะมีผลการป้องกันอาการเล็กน้อยถึงปานกลางจากโควิดสายพันธ์แอฟริกาใต้ได้ยังไม่ดี (ซึ่งกำลังปรับปรุงสูตรอยู่) แต่สามารถป้องกันการป่วยหนัก (หรือเสียชีวิต) ได้ 100% ไม่ใช่ 10% อย่างที่ไทยพีบีเอสรายงาน

การนำเสนอข้อมูลผิดพลาดนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่การผิดบ่อยๆ ในเวลาใกล้ๆ กันนั้น แสดงถึงความหละหลวมในการตรวจสอบข้อมูล และยิ่งเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ มีผลต่อความเข้าใจผิดและสับสนของคนหลายสิบล้านคนในประเทศ จำเป็นต้องมีความรอบคอบเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอ เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกสิ่งที่นำเสนอนั้น เป็น “ความจริง” สิ่งเหล่านี้ไทยพีบีเอสน่าจะรู้ดีและยึดมั่นมากกว่าสื่อใดๆ ในประเทศนี้ นี่ถ้าผมไม่เจอข้อผิดพลาดนี้ ก็คงจะเป็นต้วเลขที่เผยแพร่และเข้าใจกันไปแบบนี้ใช่ไหมครับ

รอคำขออภัย การแจ้งแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้อง และรอดูนะครับว่าครั้งนี้จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต

ต่อมา ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ระบุเพิ่มเติมว่า “ผมได้ทำการส่งอีเมลเพื่อร้องเรียนรายการข่าวของไทยพีบีเอส ไปยังกสทช. แล้วครับ น่าจะรออีกประมาณ 6 เดือน ก็จะรู้ว่าจะมีการพิจารณาอย่างไรบ้าง (มาตรฐานระยะเวลาการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กสทช.)

ถ้าไทยพีบีเอส ยังทำข่าวให้ดีและถูกต้องตามมาตรฐานที่ตัวเองตั้งขึ้น และตามความคาดหวังของประชาชนไม่ได้ ผมว่ายุบฝ่ายข่าวไปเถอะครับ ทั้งทางทีวีและทางออนไลน์ แล้วมาเน้นการผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้เด็ก ทำสารคดี ละครน้ำดี สกู๊ปศิลปวัฒนธรรมที่ทำดีอยู่แล้ว ส่งเสริมการวิจัยหรือวิชาการด้านสื่อ และการเป็นสื่อกลางช่วยเหลือประชาชนเวลามีเหตุฉุกเฉิน (ซึ่งอาจจะเหลือการรายงานข่าวเฉพาะกรณีวิกฤตจริงๆ และต้องทำอย่างสร้างสรรค์ ไม่ทำเพื่อแย่งเรตติ้ง) แบบนี้น่าจะคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับมากกว่า และจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในองค์กรมากกว่าด้วย

อย่าเสียเวลา เสียทรัพยากรกับการทำข่าวที่ผิดพลาดบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะจาก mindset ของคนทำข่าว หรือจากความสามารถในการแปล การทำความเข้าใจเนื้อหา ถ้าไม่ยกระดับคุณภาพการทำข่าว ทำต่อไปก็มีแต่ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในองค์กรทั้งหมด พูดในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ทั้งหวังดีต่อไทยพีบีเอสและต่อสังคมนะครับ”

…………………………….

สกู๊ปไทยพีบีเอส
https://www.youtube.com/watch?v=hg8fSK0-e30…
วิจัยต้นฉบับ
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2102214…

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img