วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกHighlightเผยชุดตรวจ ATK ผลคาดเคลื่อน 3% ผลเป็นลบต้องปฏิบัติตัวเสมือนกลุ่มเสี่ยง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เผยชุดตรวจ ATK ผลคาดเคลื่อน 3% ผลเป็นลบต้องปฏิบัติตัวเสมือนกลุ่มเสี่ยง

สปสช. เผย ตัวเลขใช้ชุดตรวจ ATK แล้วกว่า 5 หมื่นคน พบผลบวกมากกว่า 10% ตรวจซ้ำเทียบ RT-PCR พบผลคาดเคลื่อน 3% “สธ.” เตือน ปชช. อย่าซื้อผ่านออนไลน์ เสี่ยงได้ชุดตรวจไม่มีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 64  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า   สปสช. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกทม. ในการใช้ชุดตรวจแอนติเจนเทสต์คิท (ATK) ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. ไปแล้ว 5 หมื่นกว่าราย พบได้ผลบวกประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ และเมื่อนำกรณีผลบวกดังกล่าวไปเทียบกับการตรวจมาตรฐานความผิดพลาดไม่เกิน 3% ดังนั้นจะเห็นว่าจุดตรวจต่างๆใช้ได้ผลดี

ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ด สปสช. ครั้งล่าสุด ได้มีมติขยายชุดตรวจฯ ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงบางส่วนเพื่อตรวจเอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดหา และทีมวิชาการโดยกรมควบคุมโรคกำลังวางแผนกระจายจุดตรวจให้กับประชาชน

“เมื่อตรวจแล้วให้ผลตรวจเป็นบวกก็จะนำเข้าสู่ Home isolation หรือ community isolation หากมีอาการก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว  และว่า ขณะนี้ได้นำร่องสื่อสารกับคลินิกชุมชนอบอุ่นในกทม. 200 กว่าแห่ง และศูนย์สาธารณสุข 69 แห่ง ก็เริ่มทยอยตรวจมากขึ้น รวมถึงเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมาก็มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศเพิ่มเติมด้วย  เพราะจะมีการทยอยให้ตรวจด้วย

ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ชุดตรวจ ATK เป็นชุดตรวจที่ตรวจได้ด้วยตัวเอง ทราบผลเร็วใน 15 นาที ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อได้มาก อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องตรวจทุกคน คนที่ควรตรวจคือกลุ่มเสี่ยง เช่น มีญาติ มีคนใกล้ชิด มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง แล้วมีอาการ เช่น น้ำมูก ไอ จาม มีไข้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ขณะนี้ยังมีความรุนแรง ดังนั้น หากผลตรวจออกมาเป็นลบ ก็ยังต้องปฏิบัติตนเหมือนว่ามีความเสี่ยงตลอดเวลา เพื่อป้องกันตัวเอง และป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วย หากผลตรวจออกมาเป็นบวกให้โทรสายด่วน สำคัญคือ 1330 และดูตัวเองเบื้องต้น 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า กรณีหน่วยตรวจเชิงรุก และสถานพยาบาล เมื่อใช้ชุดตรวจดังกล่าวแล้ว พบผลเป็นบวก ทางบุคลากรจะมีการประเมินอาการว่ามีความจำเป็นต้องเข้ารพ.หรือไม่ เช่น หอบเหนื่อย จะนำส่งรพ.เพื่อรักษาต่อ ส่วนอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ แต่ผลเป็นบวก จะให้ดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) โดยจะมีทีมบุคลากรสาธารณสุข คอยติดตามอาการ มีทั้งฟ้าทลายโจร และยารักษา ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจน ให้ด้วย อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า ในกลุ่มที่ผลเป็นบวก จะต้องตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR เพื่อยืนยันผล

ทั้งนี้กรณีคนที่มีอาการหวัดซึ่งอาจจะใช่ หรือไม่ใช่โควิดก็ได้ หากผลออกมาเป็นลบ สามารถตรวจซ้ำได้หลังตรวจครั้งล่าสุด  3-5 วันได้ ระหว่างนี้ก็ต้องแยกตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ตนขอย้ำว่าผลตรวจออกมาจะมีความถูกต้องมากที่สุดอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีอาการ ชุดตรวจจะมีความแม่นยำสูง แต่ก็อาจจะมีผลลวงเช่นกัน แต่ไม่มาก ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของชุดตรวจว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ถึงได้ย้ำให้มีการซื้อในร้านขายยา ไม่ควรซื้อออนไลน์ ซึ่งมีโอกาสเป็นชุดตรวจปลอมสูง นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างตรวจด้วยตัวเองก็สำคัญ

เมื่อถามถึงกรณีรพ.เอกชน เรียกรับเงินล่วงหน้า เพื่อรับประกันว่ามีเตียงรักษา นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุข รับทราบและจะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย วันนี้ภาพรวมเตียงในกทม. 70% อยู่ที่รพ.เอกชน หากประชาชนถูกเรียกรับเงินขอให้ร้องเรียนมาที่สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)โทร 1426 กระทรวงสาธารณสุขจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะวันนี้ทรัพยากรเรามีจำกัด แต่ส่วนที่ยังสามารถดูแลผู้ป่วยได้ก็ต้องช่วยเหลือ ดูแลประชาชนอย่างเต็มความสามารถ ดังนั้นหากเอกชนที่ยังทำการเก็บเงินอยู่ขอให้ยุติการกระทำ ถ้ายังทำอยู่ก็จะมีการดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img