วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกHighlightฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 คือ“ทางรอด”ในยุคโควิด-19
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 คือ“ทางรอด”ในยุคโควิด-19

ท่ามกลางความสนใจของผู้คนจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 และยารักษาโควิด-19 รวมถึงทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทำให้อาจลืมไปว่ายังมี ‘ไวรัสทางเดินหายใจ’ อีกตัวที่ควรเฝ้าระวังและพร้อมที่จะกลับมาระบาดอีกครั้ง นั่นก็คือ ‘ไข้หวัดใหญ่’

ในเวทีเสวนา “ไขปัญหาไข้หวัดใหญ่ในยุคโควิด-19” รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกโดยรวมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มงวด ขณะที่ในปี พ.ศ. 2565 นี้ เริ่มมีรายงานจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปมีรายงานความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่สูงขึ้น รวมถึงในสหรัฐอเมริกา ที่พบการระบาดในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย จากรายงานล่าสุดของกรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – 23 กุมภาพันธ์ 2565 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 660 ราย ซึ่งเป็นโรคที่สามารถติดเชื้อได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่ยังคงพบในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปีมากที่สุด ถึงแม้จะดูว่าตัวเลขผู้ป่วยยังไม่มากนัก แต่แพทย์ต่างก็มีความกังวลว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่กำลังเข้าสู่การระบาดในฤดูฝน ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมีอากาศเย็นและชื้น ทำให้เชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้มากขึ้นและมีชีวิตอยู่นานขึ้น อาจส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

จากสถิติที่ผ่านมาเด็กจะมีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากกว่าผู้ใหญ่ได้ถึง 4 เท่า เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมถึงพฤติกรรมของเด็กโดยธรรมชาติที่มักขาดความระมัดระวัง ทั้งน้ำลาย น้ำมูก ไอจามรดกัน และไม่ชอบล้างมือ ยิ่งไปกว่านั้นในกลุ่มเด็กและทารกยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่าการติดเชื้อโควิด-19

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มสตรีมีครรภ์ เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่จะมีโอกาสต้องนอนในโรงพยาบาลมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อไข้หวัดใหญถึง 4 เท่า และหากเป็นไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรง สามารถส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการตั้งครรภ์ หรือเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก ฉะนั้นคุณแม่ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ จึงควรป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยเร็วที่สุด เพื่อส่งต่อความคุ้มครองให้ทารกแรกเกิดได้ตั้งแต่วันแรกที่คลอด เพราะทารกจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้จนกว่าจะอายุครบ 6 เดือน แต่จะเป็นภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ส่งต่อถึงลูกให้ได้รับการปกป้องอาการรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวเพิ่มเติมถึงการวิจัยว่า “ปัจจุบันยังมีการวิจัยของประเทศบราซิลที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และอัตราความรุนแรงของโควิด-19 โดยเปรียบเทียบใน 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระยะ 1-3 เดือนที่ผ่านมา และ 2. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลปรากฎว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโควิด-19 จะช่วยลดอัตราการนอนในแผนกผู้ป่วยหนักได้ 7% ช่วยลดอัตราของผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 17% ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยต่างประเทศอีกหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา และบราซิล ที่ระบุว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่งผลในเชิงบวกต่อการเจ็บป่วยของโควิด-19 สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 10% ด้วยเช่นกัน”

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มี 2 ชนิด คือ ชนิด 3 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์ ซึ่งได้ผลที่ดีทั้ง 2 ชนิด อย่างไรก็ตามด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ จึงแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ซึ่งจะครอบคลุมเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้กว้างกว่าชนิด 3 สายพันธุ์

โดยวัคซีนจะมีการเปลี่ยนชนิดสายพันธุ์ย่อยไปทุกปีตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดเป็นประจำทุกปี เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้พร้อมรับมือกับเชื้อในแต่ละปี ซึ่งสามารถเข้ารับฉีดวัคซีนได้ตามคลินิกเอกชน หรือโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ โดยจะเริ่มให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในฤดูกาลปี 2565 ชนิด 4 สายพันธุ์ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม – ธันวาคม 2565 ขณะที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ของภาครัฐบาล จะเริ่มให้บริการฉีดฟรีได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลในระบบบัตรทอง ประมาณเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img