วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกHighlightภาพจำแคนดิเดตนายกฯ‘อนุทิน’แก้โควิด ‘บิ๊กตู่’ทำบ้านเมืองสงบ-‘อุ๊งอิ๊ง’คนรุ่นใหม่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ภาพจำแคนดิเดตนายกฯ‘อนุทิน’แก้โควิด ‘บิ๊กตู่’ทำบ้านเมืองสงบ-‘อุ๊งอิ๊ง’คนรุ่นใหม่

ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจ ภาพจำประทับใจแคนดิเดตนายกฯ “บิ๊กตู่” ทำบ้านเมืองสงบ “อุ๊งอิ๊ง” คนรุ่นใหม่และเป็นลูกอดีตนายกฯทักษิณ ส่วน “อนุทิน” มีผลงานแก้วิกฤติโควิด “บิ๊กป้อม” ทำ มีผลงานแก้แล้ง หนี้นอกระบบ ค้ามนุษย์

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ภาพจำ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Survey) เพื่อลดความคลาดเคลื่อนแก้ปัญหาแหล่งความคลาดเคลื่อนจากผู้ถามผู้ตอบและเครื่องมือวัด จำนวน 1,108 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่า

5 อันดับแรก “ภาพจำ” ที่ประชาชนประทับใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่ อันดับแรก มีผลงานเด่น เช่น ความสงบบ้านเมือง แก้ปัญหาค้ามนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน (38.8%) รองลงมาอันดับที่สอง คือ ชัดเจนปกป้อง เสาหลักของชาติ (38.2%) อันดับที่สาม คือ เปิดประเทศได้สำเร็จ (34.4%) อันดับที่สี่ คือ มีความอดทน รับแบกภาระหนัก แก้วิกฤติประเทศรอบด้าน (33.8%) อันดับที่ห้า คือ ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โกงกิน (33.5%)

ขณะที่ 5 อันดับแรก ภาพจำ ที่ประชาชนประทับใจ ของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้แก่ อันดับแรก คือ เป็นคนรุ่นใหม่ (56.5%) อันดับที่สอง คือ เป็นบุตรสาวของ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร (56.5%) อันดับที่สาม คือ เป็นผู้หญิง กล้าทำงานการเมือง (51.1%) อันดับที่สี่ คือ รักษาฐานเดิมของ พรรคเพื่อไทย (49.3%) อันดับที่ห้า คือ สุภาพ อ่อนน้อม เรียบง่าย พูดจาดี (47.1%)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีภาพจำที่ประชาชนประทับใจอันดับแรก คือ มีผลงานแก้วิกฤตโควิด นานาประเทศยอมรับ ยกย่องประเทศไทย (44.8%) อันดับที่สอง คือ จิตใจดี มีน้ำใจช่วยเหลือชีวิตประชาชน กับภารกิจส่งหัวใจ อวัยวะผู้ป่วย (38.5%) อันดับที่สามคือ มีความรู้ความสามารถ การศึกษาดี (31.4%) อันดับที่สี่คือ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง (30.5%) และอันดับที่ห้าคือ เป็นคนทำงานจริง (30.2%)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีภาพจำที่ประชาชนประทับใจอันดับแรก คือ ชัดเจน จงรักภักดีปกป้องเสาหลักของชาติ ต่อต้านยกเลิก 112 (42.7%) อันดับที่สองคือ มีวิสัยทัศน์ เศรษฐกิจโลก นโยบายเศรษฐกิจทันสมัย แก้ปัญหาปากท้อง (39.5%) อันดับที่สาม คือ สุภาพพูดจาดี ไม่ดุดัน (38.8%) อันดับที่สี่ คือ ใกล้ชิด ได้รับการสนับสนุนจาก นายชวน หลีกภัย(37.9%) และอันดับที่ห้า คือ เป็นกันเอง ชาวบ้านเข้าถึงง่ายไม่เรื่องมาก (38.8%)

นอกจากนี้ 5 อันดับแรกของภาพจำที่ประชาชนประทับใจต่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พบว่า อันดับแรกคือ เป็นคนรุ่นใหม่ (48.6%) อันดับที่สองคือ กล้าเปลี่ยนแปลง (46.0%) อันดับที่สามคือ มีการศึกษาดี (43.7%) อันดับที่สี่คือ มีความสามารถ (41.8%) และอันดับที่ห้า คือ เป็นคนทำงาน (41.3%)

ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรกของภาพจำที่ประชาชนประทับใจต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พบว่า อันดับแรก คือ ทำหน้าที่รักษาการ นายกรัฐมนตรีได้ดี ช่วง พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลสั่งพักงาน (48.2%) อันดับที่สอง คือ มีผลงาน แก้ค้ามนุษย์ หนี้นอกระบบ แก้ภัยแล้ง (41.2%) อันดับที่สาม คือ มีเครือข่าย กว้างไกล มีบารมีจัดการกลุ่มอิทธิพล (40.3%) อันดับที่สี่คือ ชัดเจน ปกป้อง เสาหลักของชาติ (37.6%) อันดับที่ห้า คือ มีประสบการณ์ จัดการการเมือง และระบบราชการ (37.4%) ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า ภาพจำของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนประทับใจเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละคนทั้งในเรื่อง ผลงาน ประสบการณ์การเมือง บุคลิกภาพ และลักษณะเด่น เช่น ความเป็นผู้นำ และความเป็นคนรุ่นใหม่ ข้อมูลที่ค้นพบนี้นำไปสู่การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง สิ่งที่ประชาชนมีเป็นภาพจำ กับ สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า นี่คือการรับรู้ภาพจำทางการเมืองที่แยกออกมาเป็นลักษณะเฉพาะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่ละคนแล้วการรับรู้ภาพจำนี้มีผลอย่างไรต่อการตัดสินใจของประชาชนมีอิทธิพลอย่างไรบ้าง ในเชิงปรัชญาการเมือง ภาพจำและความเป็นผู้นำสามารถแปลงออกมาเป็นการวางเป้าหมายและยุทธศาสตร์กระแสพรรคชนะการเลือกตั้งได้บนความสามารถปั่นกระแสสร้างแรงจูงใจประชาชนให้มีส่วนร่วม เช่น ช่วงวิกฤตโควิดที่ประชาชนให้ความร่วมมือกักตัวอยู่บ้านและยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่เชิงสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากความสามารถบริหารจัดการของรัฐบาลหรืออาจเกิดขึ้นจากความกลัวของประชาชนมาเป็นส่วนประกอบ การสร้างกระแสความกลัวจากภาพจำจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในเกมการเมือง

“นอกจากนี้ ระหว่างภาพจำ อิทธิพล และ ขั้วการเมืองแบ่งซ้ายและแบ่งขวา อันไหนสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนมากกว่ากัน และจะสามารถมีทางเลือกที่สามในทางสายกลางเชื่อมทั้งสองขั้วการเมืองได้หรือไม่ งานโพลชิ้นนี้จึงเป็นการนำเสนอข้อมูลที่มีนัยสำคัญเพื่อให้เดินเกมการเมืองต่อในการตัดสินใจของประชาชน” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว…

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img